ทหารเมียนมาขับรถฝ่าผู้ชุมนุมกลางย่างกุ้ง เสียชีวิต 5 ราย


โดย PPTV Online

เผยแพร่




การประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมายังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง ในหลายเมืองยังคงมีกลุ่มผู้ประท้วงรวมตัวกันเพื่อต่อต้านกองทัพที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนอีกสิ่งที่ยังเกิดขึ้นเคียงคู่คือ ความรุนแรง

ล่าสุดเมื่อวานนี้ ( 5 ธ.ค.)ที่นครย่างกุ้ง มีวิดิโอที่เผยแพร่อยู่บนโลกโซเชียล เผยภาพผู้ชุมนุมที่กำลังเดินเท้าอยู่บนถนนโดยปราศจากอาวุธ แต่กลับมีรถบรรทุกของกองทัพพุ่งตรงเข้าชนผู้ประท้วง ทั้งยังมีการใช้กระสุนจริงยิงประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายรายนอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุการณ์ใหญ่ในเมียนมาก็คือ การตัดสินคดีของนางอองซานซูจีหลังจากถูกยึดอำนาจมา 10 เดือนและคำพิพากษาตัดสินว่าเธอจะต้องรับโทษจำคุก 4 ปี จากข้อหายุยงปลุกปั่นและฝ่าฝืนมาตรการโควิดในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว

ศาลทหารเมียนมาตัดสิน "ประหารชีวิต 19 ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร"

วิกฤตเมียนมา ทำธุรกิจไทยสะดุด

วิดีโอนี้ถ่ายจากมุมสูง สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า รถบรรทุกคันดังกล่าวเป็นรถสังกัดสภาบริหารแห่งรัฐของเมียนมา โดยรถบรรทุกได้วิ่งฝ่ากลุ่มผู้ชุมนุมอย่างรวดเร็วจนต้องผู้คนต้องวิ่งหนีไปคนละทาง ถัดมาไม่นาน ทหารก็เปิดฉากยิงผู้ประท้วงที่พยายามหลบหนี ทุบตีทำร้ายร่างกาย จนได้ยินเสียงกรีดร้องและตะโกนออกมาจากวิดิโอ

สำนักข่าวท้องถิ่น Myanmar Now ได้สัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่าพวกเขาเห็นร่างผู้ชุมนุมโดนรถชนจนกระเด็นไปข้างถนน และบางคนโดนทุบตีด้วยปลายกระบอกปืนจนกระทั่งหมดสติ ก่อนโดนรวบตัวไปดำเนินคดี

พยานในเหตุการณ์ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารปรากฏตัวประมาณ 10 นาย และยังกล่าวด้วยว่า รถพยาบาลจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ ก็หลังจากที่ทหารล้างคราบเลือดบนถนนไปแล้วเท่านั้น

รายงานระบุว่า เหตุประท้วงดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวานนี้ในช่วงเช้า โดยมีการจัดการชุมนุมขึ้นอย่างน้อยสามจุดในนครย่างกุ้ง เพราะนับตั้งแต่กองทัพเริ่มใช้การยิงเพื่อปราบปรามผู้ประท้วง ผู้ประท้วงก็เริ่มจัดการชุมนุมขนาดเล็กแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสีย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 5 คน และมีผู้ประท้วงถูกเจ้าหน้าที่จับตัวไปอย่างน้อย 15 คน

ดร. ซาซา รัฐมนตรีด้านความร่วมมือนานาชาติของรัฐบาลเงา ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของเผด็จการทหาร พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติทบทวนอีกครั้งว่ารัฐบาลทหารมีอำนาจอันชอบธรรมในการปกครองเมียนมาหรือไม่ ทั้งยังย้ำว่าตั้งแต่เกิดรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ทหารเมียนมาเป็นผู้ก่อความรุนแรงและใช้อาวุธสงครามกับประชาชนมานับไม่ถ้วน

องค์การสหประชาชาติประจำประเทศเมียนมาก็ได้ออกมาประณามเหตุการณ์นี้ รามานาธาน พลกฤษณัน เจ้าหน้าที่ประสานงานสหประชาชาติประจำเมียนมา ได้ออกแถลงการณ์ว่าเลขาธิการองค์การสหประชาชาติรู้สึกตกใจและกังวลกับเหตุใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในเมียนมา และจะหาทางร่วมมือกับองค์กรทั้งในและต่างประเทศเพื่อยุติการกดขี่ประชาชน

ส่วนสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศเมียนมาก็ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทหารหยุดใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม กลับมาอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย และยืนยันว่าสหรัฐฯ สนับสนุนการชุมนุมอย่างสันติของประชาชนเมียนมา

ผู้คนในนครย่างกุ้งก็ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เมื่อคืนนี้ผู้อาศัยในเมืองต่างประท้วงด้วยการตีหม้อกระทะ เพื่อเป็นการประท้วงรัฐบาลที่ใช้กำลังและความรุนแรงเข้าปราบปรามประชาชนในช่วงกลางวัน

ชาวเมียนมาถือกันว่าเป็นเคล็ดไล่สิ่งชั่วร้ายออกจากบ้านเรือน โดยกิจกรรมตีหม้อกระทะไล่เผด็จการนั้นเริ่มมาตั้งแต่เกิดการรัฐประหารช่วงแรกจนถึงปัจจุบัน

ด้านกองทัพเมียนมาเปิดเผยว่า ได้ควบคุมตัวผู้ประท้วง 11 คนเอาไว้ จากเหตุชุมนุมครั้งล่าสุด โดยมีผู้ประท้วงสามคนได้รับบาดเจ็บ และหนึ่งในนั้นอาการสาหัส แต่ทางกองทัพเมียนมาไม่ได้ยืนยันว่า ทางกองทัพได้ใช้รถบรรทุกพุ่งเข้าชนฝูงชนจริงหรือไม่ แต่ระบุเพียงว่า มีการสลายการประชุมของฝูงชนที่ก่อเหตุจลาจล

ข้อมูลจากองค์กรช่วยเหลือนักโทษการเมืองหรือ AAPP รายงานว่าตั้งแต่เกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา มีพลเรือนผู้เสียชีวิตจากเหตุทางการเมืองทั้งหมด 1,303 คน และมีผู้ถูกคุมขังทั้งหมด 10,681 คน

ขณะที่เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา  มีการตัดสินคดีนางอองซานซูจี และอดีตประธานาธิบดีวิน มยินต์  และเป็นการตัดสินคดีครั้งแรกหลังกองทัพทำรัฐประหารและควบคุมตัวนางอองซานไว้

บ่ายวันนี้ศาลเมียนมาตัดสินให้นางอองซานซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ และ อู วิน มยินต์ อดีตประธานาธิบดี มีความผิดตามคดียุยงปลุกปั่นและฝ่าฝืนกฎหมายภัยพิบัติ ที่ว่าด้วยมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยทั้ง 2 ข้อหามีโทษจำคุก 2 ปี รวมกันเป็นโทษจำคุก 4 ปี

นี่เป็นการตัดสินคดีครั้งแรกหลังจากที่นางอองซานซูจีถูกควบคุมตัวหลังถูกยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมารัฐบาลทหารตั้งข้อหาอาชญากรรมให้นางอองซานซูจีถึง 10 ข้อหาด้วยกัน และหากเธอได้รับตัดสินโทษว่ามีความผิด ก็อาจต้องรับโทษในคุกตลอดชีวิต ซึ่งฝั่งนางซูจีได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

กระบวนการไต่สวนทั้งหมดไม่เป็นที่เปิดเผย นางอองซานซูจีถูกนำตัวไปยังศาลโดยไม่อนุญาตให้มีผู้สังเกตการณ์ และทีมทนายของนางอองซานซูจีก็ได้รับคำสั่งจากศาล ห้ามไม่ให้เผยแพร่ข้อมูลหรือติดต่อกับนักข่าวทั้งในและต่างประเทศจนถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่านางซูจีจะถูกนำตัวเข้าเรือนจำเมื่อไรและจะมีการนำตัวเธอไปขังในเรือนจำหรือไม่

โดยปัจจุบันนางซูจียังคงถูกกักขังอยู่ในบ้านพักแห่งหนึ่งที่กรุงเนปิดอ ตั้งแต่กองทัพเมียนทำการรัฐประหาร

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ Human Rights Watch ภูมิภาคเอเชีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การตัดสินคดีครั้งนี้ไม่ต่างจากการใช้อำนาจทหารปิดปากประชาชน และเขามองว่าการกระทำครั้งนี้อาจนำไปสู่การต่อต้านจากประชาชนที่รุนแรงขึ้นอีก

องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่าง Amnesty International เรียกร้องให้รัฐบาลทหารปล่อยตัวนางอองซานซูจีและนักโทษการเมืองอื่นๆ โดยชี้ว่าคำพิพากษาตัดสินคดีครั้งนี้ คือตัวอย่างที่พิสูจน์ว่าเผด็จการเมียนมาต้องการกำจัดฝ่ายตรงข้ามและเสรีภาพในประเทศโดยสิ้นเชิง

มีปฏิกิริยาจากองค์กรของอาเซียนเช่นกัน

นายชาร์ลส์ ซานติเอโก สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ APHR ได้ออกมากล่าวว่า การตัดสินคดีครั้งนี้เป็นข้ออ้างให้รัฐบาลทหารกีดกันนางอองซานซูจีออกจากเกมการเมืองโดยไม่ชอบธรรม

เขายังชี้อีกว่าคำพิพากษาของศาลนั้นไม่ใช่ความยุติธรรม และมีแต่จะเผยให้เห็นว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจงใจไม่ปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียน

ทั้งยังยืนยันว่าอาเซียนจะต้องยุติการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม และจะยังไม่ยอมรับรัฐบาลทหารให้เข้าร่วมการประชุมหรือเดินทางเยือนประเทศสมาชิกอาเซียน

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่าเขายินดีต้อนรับผู้นำจากรัฐบาลทหารเมียนมาให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปีหน้า

เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา รัฐบาลทหารของเมียนมาถูกกีดกัน ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่มีบรูไนเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากรัฐบาลทหารยังไม่สามารถปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่ว่าด้วยการคลี่คลายปัญหาทางการเมืองในเมียนมา

ฉันทามติทั้ง 5 ข้อได้แก่

1.จะต้องยุติความรุนแรงในเมียนมาโดยทันที

2.การเจรจาที่อย่างสันติระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเริ่มต้นขึ้น เพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

3.ทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะรับหน้าที่เป็นคนกลางในกระบวนการเจรจา โดยมีเลขาธิการอาเซียนคอยช่วยเหลือ

4.อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านทางศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้านการจัดการภัยพิบัติ (AHA)

5.ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

แต่ในปีหน้ากัมพูชาจะได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน อาจเดินทางไปเมียนมาเพื่อพูดคุยกับผู้นำรัฐบาลปัจจุบันเพื่อเชิญเข้าร่วมการประชุมอาเซียน

ทั้งย้ำว่าเมียนมาเป็นสมาชิกของครอบครัวอาเซียน และยังมีสิทธิ์ทุกประการที่จะเข้าร่วมการประชุม

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ