นานาชาติประณามเมียนมา เหตุพิพากษาจำคุก “อองซานซูจี”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ศาลเมียนมาตัดสินให้ นางอองซานซูจี อดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ มีความผิดตามข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบ และข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายการจัดการภัยพิบัติ ระวางโทษจำคุก 4 ปี แต่ภายในวันเดียวกัน โทษจำคุกของนางอองซานซูจีและอดีตประธานาธิบดี วิน มยินต์ ได้รับการลดโทษจาก 4 ปี ให้เหลือ 2 ปี ซึ่งเป็นการนิรโทษกรรมจากผู้นำรัฐบาลทหาร

ศาลเมียนมา ตัดสินจำคุก “ซูจี” 4 ปี ก่อนพล.อ.มิน อ่องหล่าย อภัยโทษให้เหลือ 2 ปี

สรุปคำพิพากษา "ศาลเมียนมา" จำคุกอองซาน ซูจี

นี่เป็นการตัดสินคดีครั้งแรก หลังนางอองซานซูจี ถูกควบคุมตัวหลังถูกยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ไม่มีใครรู้ว่ากระบวนการทางกฎหมายดำเนินไปอย่างไร เนื่องจากทางการเมียนมาสั่งห้ามไม่ให้มีผู้สังเกตการณ์ระหว่างศาลอ่านคำพิพากษา และสั่งห้ามไม่ให้ทีมทนาย ติดต่อกับนักข่าวทั้งใน และต่างประเทศ

ส่วนปฏิกิริยาล่าสุดจากรัฐบาลทหาร สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มอง มอง โอน รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูล กล่าวว่า การตัดสินคดีของนางอองซานซูจีตั้งอยู่บนหลักกฎหมายที่บังคับใช้อย่างเป็นธรรม และ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย

 

รัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลยังระบุอีกว่า การประท้วงในเมียนมานั้น เป็นผลจากกลุ่มผู้ประท้วงอายุน้อยที่ยังผลีผลาม เจ้าหน้าที่จึงต้องปราบปรามตามเงื่อนไขที่ระบุในกฎหมาย

ตั้งแต่ถูกยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ นางอองซานซูจี ได้รับข้อกล่าวหาจากรัฐบาลทหารมากถึง 10 คดี และถ้าหากเธอถูกศาลตัดสินให้มีความผิดจริง เธออาจได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต คดีที่ได้รับการตัดสินเมื่อวานนี้ได้แก่ คดีเจตนายุยงปลุกปั่น อันเนื่องมาจากในเดือนกุมภาพันธ์ หลังเหตุการณ์รัฐประหาร พรรค NLD ได้ส่งหนังสือไปยังองค์กรสิทธิมนุษยชนสากล และเรียกร้องไม่ให้นานาชาติยอมรับอำนาจของรัฐบาลทหาร  ทคดีที่สองคือการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโควิด-19 ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปี 2020 ช่วงที่พรรค NLD กำลังหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งภายหลังพรรค NLD ของเธอก็ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย ยังมีข้อหาอื่น ๆ ที่ยังรอการไต่สวน อย่างเช่น ข้อหาการมีอุปกรณ์วิทยุสื่อสารในครอบครอง และข้อหาทุจริตการเลือกตั้ง คำพิพากษาครั้งนี้สร้างความตกใจและความไม่พอใจอย่างมากจากนานาชาติ ทั้งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ และองค์กรสิทธิมนุษยชนพร้อมกันออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของเผด็จการเมียนมา

เจน ซากี โฆษกทำเนียบขาวได้แถลงข่าวว่าการตัดสินคดีนางอองซานซูจี คือการดูถูกขั้นตอนการปฏิรูปสู่ประชาธิปไตย และเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวนางอองซานซูจีและนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม

ด้านโฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR  ราวินา ชัมดาซานี กล่าวกับสื่อ AFP ว่ากระบวนการยุติธรรมครั้งนี้ไม่ต่างจากการเล่นละครตบตา และองค์การสหประชาชาติกังวลว่าความขัดแย้งครั้งนี้จะนำไปสู่ความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม

ไม่เพียงแต่องค์กรสิทธิมนุษยชนและรัฐบาลนานาชาติที่กังวลถึงสถานะของนางอองซานซูจี ชาวเมียนมาทั้งในและต่างประเทศเองก็เรียกร้องให้ทางการปล่อยตัวอดีตผู้นำ

เมื่อวานนี้ ประชาชนชาวเมียนมาในนครย่างกุ้งออกมาประท้วง แสดงความไม่พอใจหลังจากศาลตัดสินโทษจำคุกให้นางอองซานซูจี กลุ่มผู้ประท้วงเดินถือป้ายข้อความว่าประชาชนจะไม่ยอมก้มหัวให้กับเผด็จการ ส่งเสียงตะโกนเรียร้องความยุติธรรม พร้อมทำสัญลักษณ์สามนิ้ว

ขณะที่ชาวเมียนมาที่อยู่นอกประเทศเองก็กังวลไม่แพ้กัน  แรงงานชาวเมียนมาในกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า พวกเขาผิดหวังมากเมื่อรับทราบคำตัดสินคดีนางอองซานซูจี และดูเหมือนขณะนี้ สถานการณ์ในเมียนมาได้ทำลายความหวังและอนาคตของพวกเขาไปด้วย

ในขณะที่นานาชาติกำลังประณามการกระทำของเผด็จการทหารเมียนมา มีหนึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังคงรักษาสัมพันธ์อันดีกับเมียนมาอยู่ นั่นก็คือกัมพูชา เมื่อวานนี้ สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า เขายินดีต้อนรับผู้นำจากรัฐบาลทหารเมียนมาให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปีหน้า และล่าสุดวันนี้ วุนนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา ได้เข้าพบ สมเด็จฮุน เซน ที่พระราชวังสันติภาพหรือที่ทำการนายกรัฐมนตรี

การพบปะพูดคุยระหว่างกัมพูชาและเมียนมา เกิดขึ้นหลังจากการตัดสินคดีของนางอองซานซูจีผ่านไปได้แค่วันเดียว และเกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติถึงการใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรมของรัฐบาลทหารเมียนมา

 

ลี้ภัยโรฮิงญาฟ้องเฟซบุ๊กฐานมีส่วนฆ่าล้างเผ่าพันธุ

นอกจากคดีของนางอองซานซูจีแล้ว ขณะนี้ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ก็ได้ดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก โดยกล่าวว่าเฟซบุ๊กมีส่วนเอี่ยวสำคัญที่ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในปี 2017

โจทก์ในคดีนี้เรียกค่าเสียหายจำนวน 150 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5,000 ล้านบาท  ศาลเขตเหนือแห่งซานฟรานซิสโกวินิจฉัยว่า เฟซบุ๊กยอมแลกชีวิตของชาวโรฮิงญาเพื่อการเติบโตทางการตลาดในประเทศอย่างเมียนมา

ทนายความของโจทก์ได้ยื่นจดหมายของชาวโรฮิงญาให้กับสำนักงานเฟซบุ๊กแห่งสหราชอาณาจักรเมื่อวานนี้ กล่าวว่าลูกความของพวกเขาตกอยู่ภายใต้อันตรายจากคำขู่ฆ่า การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อันเป็นผลจากการรณรงค์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเผด็จการเมียนมาและพลเรือนหัวรุนแรงในเมียนมา

 

ตั้งแต่ปี 2013 มีรายงานพบว่าบัญชีผู้ใช้งานและกลุ่มพุทธศาสนิกชนสุดโต่งในเมียนมาได้โพสต์ข้อความแสดงความเกลียดชังกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาอย่างรุนแรง  สำนักข่าวรอยเตอร์เคยรายงานว่า มีข้อความที่ระบุ “พวกเราจะต้องต่อสู้กับชาวโรฮิงญา เหมือนที่ฮิตเลอร์ทำกับชาวยิว”

ชาวโรฮิงญา เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่มีสัญชาติรองรับในเมียนมา พวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลาม ท่ามกลางกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ในเมียนมาที่นับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ ในปี 2017 กองทัพทหารได้ทำการปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ หลังจากมีการปะทะระหว่างชาวโรฮิงญาและเจ้าหน้าที่รัฐ นานาชาติเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าไม่ต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เหตุโศกนาฏกรรมของชาวโรฮิงญา มีผู้ที่โดนขับไล่ออกจากรัฐยะไข่ และต้องกลายเป็นผู้อพยพมากถึง 700,000 คน และคาดคะเนว่ามีชาวโรฮิงญาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้กว่า 10,000 คน และอีกนับไม่ถ้วนที่โดนเจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังทำร้ายร่างกาย และล่วงละเมิดทางเพศ ในช่วงเวลานั้น ประชาชนชาวเมียนมาใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางการรับข้อมูลข่าวสาร และมีบัญชีผู้ใช้และเพจจำนวนมากที่นำเสนอสถานการณ์ของชาวโรฮิงญาด้วยอคติทางเชื้อชาติและศาสนา

 

ความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ จึงนำไปสู่การเห็นด้วยที่จะใช้กำลังรุนแรงในชีวิตจริง องค์การสหประชาชาติเคยกล่าวว่า เฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ให้พุทธศาสนิกหัวรุนแรงโพสต์ข้อความเกลียดชังและปลุกปั่นกระแสการทำร้ายชาวโรฮิงญา

แม้เฟซบุ๊กจะออกมายืนยันในปี 2018 ว่าพวกเขาได้พยายามจัดการกับการใช้ข้อความเกลียดชังที่มีแนวโน้มจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง แต่หลายฝ่ายก็มองว่า เฟซบุ๊กสามารถรับผิดชอบได้มากกว่านี้ ตัวอย่างเช่น เฟซบุ๊กเมินเฉยที่จะหาผู้เชี่ยวชาญเข้ามาประเมินสถานการณ์ในเมียนมา เฟซบุ๊กใช้งบประมาณเพื่อสังเกตการณ์การเผยแพร่ข้อมูลเท็จบนแพลตฟอร์ม ร้อยละ 87 ลงทุนกับเนื้อหาภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กเพียงแค่ร้อยละ 9 เท่านั้นที่เป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาอังกฤษ

 

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ