WHO เผย มีหลักฐานมากขึ้นว่าโควิด-19 “โอมิครอน” อาจไม่รุนแรงจริง ๆ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เจ้าหน้าที่อนามัยโลกกล่าวในงานแถลงข่าวว่า มีหลักฐานมากขึ้นชี้ว่าโอมิครอนอาจไม่รุนแรง โดยมีอัตราติดเชื้อสูง แต่อัตราตายต่ำ

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงข่าวสถานการณ์ภาพรวมโควิด-19 ทั่วโลก โดยระบุถึงโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งขณะนี้กำลังระบาดไปทั่วโลกและเป็นสายพันธุ์หลักในหลายประเทศว่า “มีหลักฐานมากขึ้นว่า เชื้อโควิด-19 โอมิครอน มีผลต่อระบบทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าลงปอด ทำให้เกิดอาการน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า และส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นแต่อัตราการเสียชีวิตต่ำ”

ร้านอาหารกึ่งผับ แพร่ “โอมิครอน” ใน 6 จังหวัด “อนุทิน” ฟาดผู้ประกอบการ-ลูกค้า ไร้จิตสำนึก

เกาหลีใต้ เสียชีวิตแล้ว 2 ราย จากสายพันธุ์โอมิครอน

อนามัยโลกเตือนอย่าชะล่าใจ ความเสี่ยงจาก “โอมิครอน” ยังสูงอยู่

โดย อับดี มาฮามุด ฝ่ายบริหารจัดการเหตุผิดปกติของ WHO บอกกับนักข่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า “เราพบการศึกษามากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า โอมิครอนแพร่กระจายเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบนเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากโควิด-19 สายพันธุ์อื่น ๆ ที่มักแพร่กระจายที่ปอด ซึ่งจะก่อให้เกิดความผิดปกติที่ปอด”

เขาเสริมว่า “นี่อาจเป็นข่าวดี แต่เราจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อพิสูจน์ให้ชัดเจน”

นับตั้งแต่มีการตรวจพบโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอนในภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2021 ในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือนที่ผ่านมา ข้อมูลของ WHO แสดงให้เห็นว่า โอมิครอนได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและพบแล้วในอย่างน้อย 128 ประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดภาวะกล้ำกลืนฝืนทนสำหรับรัฐบาลและประชาชนในหลายประเทศ ที่เดิมมีความหวังว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากได้รับผลกระทบเพราะโควิด-19 ต่อเนื่อง 2 ปีเต็ม

ประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK ที่มีวางขายในไทย ในการตรวจหา “โอมิครอน”

อย่างไรก็ตาม WHO ระบุว่า มีข้อมูลว่า แม้จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในหลายพื้นที่โดยมีโอมิครอนเป็นปัจจัยสำคัญ แต่อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตมักกลับต่ำกว่าการระบาดระลอกอื่น ๆ ที่ผ่านมา

มาฮามุดกล่าวว่า “สิ่งที่เราเห็นในตอนนี้คือ ... การแยกกันระหว่างการติดเชื้อกับการเสียชีวิต”

ข้อสังเกตของเขาเกี่ยวกับความเสี่ยงที่น้อยลงของการป่วยหนักจากโอมิครอนเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาวิจัยต่าง ๆ ทั่วโลกในขณะนี้ เช่น งานวิจัยของ ม.ฮ่องกง ที่ระบุว่า เชื้อโควิด-19 โอมิครอนแพร่กระจายในหลอดลมได้เร็วกว่า 70 เท่า ซึ่งอาจทำให้การแพร่กระจายจากคนสู่คนเป็นไปได้ง่าย แต่ในเนื้อเยื่อปอด พบว่าโอมิครอนแพร่กระจายได้ช้ากว่า 10 เท่า ทำให้คาดการณ์ว่า ความรุนแรงของโอมิครอนอาจน้อยกว่า

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจากแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่รายงานพบโควิด-19 โอมิครอน ระบุว่า เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลตา การติดเชื้อโอมิครอนมีโอกาสป่วยหนักหรือต้องเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่าถึง 80%

"เช็ก 5 อาการโอมิครอน" ที่แพทย์ตรวจพบในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด

ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 โอมิครอนทั่วโลกราว 456,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 108 ราย หรือโอกาสเสียชีวิตอยู่ที่ราว 1 ใน 4,200 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อย ทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า หากโอมิครอนมาแทนที่เดลตาได้ มันก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่ในอนาคต ที่อาจติดง่ายแต่ไม่รุนแรง

อย่างไรก็ตาม มาฮามุดเตือนว่า ยังต้องมีการขยายการศึกษาข้อมูลจากแอฟริกาใต้เพิ่มเติม เนื่องจากประเทศนี้มีประชากรอายุน้อย อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อความรุนแรงของโอมิครอนอยู่อีก

และเขาเตือนว่า ศักยภาพในการแพร่เชื้อที่สูงของโควิด-19 หมายความว่ามันจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของหลายพื้นที่ภายในไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อระบบการสาธารณสุขของประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน

เมื่อพูดถึงวัคซีนโควิด-19 มาฮามุดเสริมว่า แม้โอมิครอนดูเหมือนจะหลบหนีแอนติบอดีได้ แต่ก้มีหลักฐานปรากฏว่า วัคซีนโควิด-19 ยังคงให้การป้องกันได้ โดยกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของทีเซลล์ (T-Cell) หรือเซลล์ความจำภูมิคุ้มกัน ที่จะจดจำเชื้อไวรัสต่าง ๆ แล้วหาวิธีจัดการ เมื่อติดเชื้อก็จะสู้กับไวรัสได้อย่างรวดเร็ว

“จากการคาดการณ์ของเรา การป้องกันการป่วยหนักและโรงพยาบาล และการเสียชีวิตจากโอมิครอนจะยังคงอยู่ ... ดังนั้นความท้าทายตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัววัคซีน แต่อยู่ที่การฉีดวัคซีนและการเข้าถึงประชากรเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง” เขากล่าว

เมื่อถูกถามว่าจำเป็นต้องมีวัคซีนเฉพาะของโอมิครอนหรือไม่ มาฮามุดกล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะพูด แต่เน้นว่า การตัดสินใจจำเป็นต้องมีการประสานงานระดับโลก และไม่ควรปล่อยให้ผู้ผลิตตัดสินใจเพียงลำพัง

สธ.เตรียมเสนอยกเลิก Test&Go หลังไทยมีผู้ติดเชื้อโอมิครอน 63 คน

“คุณอาจพัฒนาวัคซีนโอมิครอนและทุ่มทุกอย่างให้กับมัน แต่มันก็อาจมีโควิด-19 รูปแบบใหม่ที่แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าหรือป้องกันภูมิคุ้มกันได้มากกว่าปรากฏขึ้นมาในอนาคต” เขากล่าว

มาฮามุดย้ำว่า วิธีที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ๆ คือ ต้องบรรลุเป้าหมายของ WHO ในการฉีดวัคซีนให้ประชากรทั่วโลกเกิน 70% ภายในเดือนกรกฎาคมปีนี้

 

เรียบเรียงจาก Reuters

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ