พื้นฐานพัฒนาวัคซีนใหม่ พบ "ทีเซลล์" จาก "ไข้หวัด" ต้านโควิด-19 ได้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วิจัยขนาดเล็กของอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอนพบ ติดไข้หวัดสามารถสร้างภูมิต้านโควิด-19 เล็กน้อย เตรียมต่อยอดเป็นวัคซีน

หมายเหตุ: รายงานนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ไม่มีเนื้อหาสนับสนุนการหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีน การติดไข้หวัดไม่ได้หมายความว่าจะไม่ติดโควิด-19 โดยสิ้นเชิง

ผลการศึกษาวิจัยของอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน พบว่า ผู้ที่มีการติดเชื้อเชื้อไวรัสโคโรนาไข้หวัดธรรมดา (Common Cold) บางคน มีระดับทีเซลล์ (T-cell) หรือเซลล์หน่วยความจำภูมิคุ้มกันซึ่งสามารถป้องกันโควิด-19 ได้ เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งสามารถเป็นแนวทางการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตัวใหม่ในอนาคตได้

โควิด-19 “เดลตาครอน” สายพันธุ์ใหม่จริง หรือถอดรหัสผิดพลาด?

ทึ่ง! วัคซีนโควิด-19 จาก “ทีเซลล์ (หน่วยความจำภูมิคุ้มกัน)” ชนิดแผ่นแปะผิวหนัง

ความสำคัญ “หน่วยความจำภูมิคุ้มกัน” สัมผัสเชื้อโควิด-19 ก็อาจไม่ติดเชื้อ

การศึกษานี้ดำเนินในเดือนกันยายน 2020 และตีพิมพ์ใน Nature Communications เมื่อวันจันทร์ (10 ม.ค.) ที่ผ่านมา โดยศึกษาระดับของทีเซลล์ของคนที่ไม่เคยติดเชื้อ และไม่เคยฉีดวัคซีน แต่เป็นไข้หวัดธรรมดา ที่อาศัยอยู่กับผู้ติดเชื้อและมีโอกาสสัมผัสเชื้อโควิด-19 จำนวน 52 คน

8 อาการติด "โอมิครอน" สธ.ชี้ เกินครึ่งไม่แสดงอาการ

แนะพ่อแม่ระวัง โควิดในเด็กอาการหนัก

จากนั้นตรวจหาเชื้อกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธี PCR ในวันที่ 4 และ 7 หลังสัมผัสเชื้อ และเก็บตัวอย่างเลือดภายใน 1-6 วันหลังจากรับเชื้อ ทำให้นักวิจัยสามารถวิเคราะห์ระดับของทีเซลล์ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่เป็นไข้หวัดธรรมดา ซึ่งจำโปรตีนของไวรัสโควิด-19 ได้ด้วย

ทีมวิจัยพบว่า มีอยู่ 26 คน หรือประมาณครึ่งหนึ่งที่ไม่ติดเชื้อโควิด-19 และมีระดับทีเซลล์สูง ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งติดเชื้อ และระดับทีเซลล์ต่ำ โดยในกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ พบว่า ในการปกป้องร่างกายจากโควิด-19 ทีเซลล์ของพวกเขาจู่โจมโปรตีนภายในไวรัสโควิด-19 โดยตรง ไม่ใช่โปรตีนหนาม แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่า การป้องกันโควิด-19 จากทีเซลล์ที่เกิดจากไข้หวัดธรรมดานี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน

ทั้งนี้ วัคซีนโควิด-19 ที่โลกมีในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เน้นรับมือโปรตีนหนาม ไม่มีตัวใดเลยที่มุ่งเป้าก่อให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนภายในเชื้อเหล่านี้

นักวิจัยกล่าวว่า ทีเซลล์ที่รับมือโปรตีนภายในเหล่านี้นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ตัวใหม่ที่สามารถให้การป้องกันโควิด-19 ที่ยาวนาน เนื่องจากการตอบสนองของทีเซลล์จะอยู่คงทนนานกว่าการตอบสนองของแอนติบอดีจากการฉีดวัคซีนที่จะลดลงในเวลา 2-3 เดือน

ศ.อจิต ลัลวานี ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยการป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจที่อิมพีเรียลฯ และนักวิจัยอาวุโสของการศึกษาวิจัยนี้ กล่าวว่า การศึกษานี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่า ทีเซลล์ที่เกิดจากไวรัสโคโรนาไข้หวัดธรรมดา มีบทบาทในการป้องกันโควิด-19 ทีเซลล์เหล่านี้ให้การป้องกันโดยการโจมตีโปรตีนภายในไวรัส แทนที่จะเป็นโปรตีนหนามบนผิวของมัน

“โปรตีนหนามอยู่ภายใต้แรงกดดันทางภูมิคุ้มกันที่รุนแรงจากแอนติบอดีที่เกิดจากวัคซีน ซึ่งขับเคลื่อนให้เกิดวิวัฒนาการและการกลายพันธุ์ของไวรัส ในทางตรงกันข้าม โปรตีนภายในที่เป็นเป้าหมายการรับมือของทีเซลล์จะก่อให้เกิดการกลายพันธุ์น้อยกว่ามาก ดังนั้น มันจะป้องกันไวรัสโคโรนาทุกอย่างได้ดี ไม่ว่าจะเป็นโรคซาร์ส โควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ รวมถึงโอมิครอน” เขากล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดบางประการในการศึกษาของพวกเขา เช่นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษานี้ยังมีขนาดเล็ก และ 88% ของกลุ่มตัวอย่างเป็นเชื้อชาติยุโรปผิวขาว จึงยังขาดความครอบคลุมในทางประชากรศาสตร์

ดร.รีอา คุนดู จากสถาบันหัวใจและปอดของอิมพีเรียลฯ หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า “การสัมผัสเชื้อโควิด-19 ไม่ได้หมายความว่าเราจะติดเชื้อเสมอไป เราพบว่าทีเซลล์ซึ่งร่างกายสร้างขึ้นเมื่อติดเชื้อไวรัสโคโรนาอื่น ๆ เช่น โรคไข้หวัดธรรมดา สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้”

เช็กที่นี่ ! รวมจุดฉีดวัคซีนโควิด ทั้งแบบลงทะเบียน และ Walk in

ฉีดวัคซีนเข็ม 3 "ไฟเซอร์" หรือ "แอสตร้าฯ" สู้กับ "โอมิครอน" ได้ดีแค่ไหน เช็กภูมิคุ้มกันที่นี่!

เธอเสริมว่า “ถึงแม้นี่จะเป็นการค้นพบที่สำคัญ แต่ก็เป็นการป้องกันเบื้องต้น และขอเน้นว่า ไม่ควรพึ่งพาสิ่งนี้เพียงลำพัง วิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันตัวเองจากโควิด-19 คือการฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน”

 

เรียบเรียงจาก Imperial College London

ภาพจาก Getty Image

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ