300 บาทถูกหรือแพง? เทียบ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” แต่ละประเทศทั่วโลก


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปรียบเทียบ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ของแต่ละประเทศ 300 บาทที่ไทยจะชาร์จเพิ่มนี้ เหมาะสมหรือไม่?

จากกรณีเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา มีรายงานว่า รัฐบาลไทยวางแผนจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” หรือการเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย เป็นจำนวนเงิน 300 บาทถ้วน

โดยเงินค่าเหยียบแผ่นดินนี้จะนำไปเข้า “กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ” เพื่ออนุรักษ์ พัฒนา และส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวในไทย และทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต ก็จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือ ค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท เป็นต้น

ผู้ประกอบการข้าวสาร ไม่เห็นด้วย รัฐเก็บ 300 บ. ค่าเหยียบแผ่นดิน หวั่นนักท่องเที่ยวหนี

รัฐบาลจ่อเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ต่างชาติคนละ 300 บาท ดีเดย์ 1 เม.ย. นี้

คนละครึ่งเฟส 4 มาแน่! คลังคอนเฟิร์มได้ใช้แน่ก่อน มี.ค.นี้

ค่าเหยียบแผ่นดินนี้มีแผนจะเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินกรณีเดินทางทางอากาศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการเรียกเก็บจากการเดินทางทางบก

ในปี 2565 นี้ คาดว่าประเทศไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน 5-15 ล้านคน ซึ่งหากมีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จะมีเงินเข้ากองทุนราว 1.5-4.5 พันล้านบาท

โมเดลการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดินนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่มีข้อถกเถียงมานานในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมาก ช่วงก่อนโควิด-19 ภาคการท่องเที่ยวสร้างรายได้คิดเป็น 16% ของจีดีพีประเทศไทย และเกินครึ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ

นอกจากนี้ ในส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด ยังสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไม่เกิน 3% ของราคาห้องพักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ด้วย แต่ก็ได้มาในจำนวนที่น้อย

ค่าเหยียบแผ่นดินและค่าธรรมเนียมที่พักดังกล่าว มักเรียกรวมว่าเป็น “ภาษีนักท่องเที่ยว/ภาษีการท่องเที่ยว” ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 40 ประเทศทั่วโลก ที่มีการเรียกเก็บภาษีจากนักท่องเที่ยวต่างชาติในรูปแบบต่าง ๆ และในอัตราที่ต่างกันออกไป

ด่วน! ฉีดวัคซีนเข็ม 3 นนท์พร้อมเปิดจอง "โมเดอร์นา" เช็กเงื่อนไข เริ่ม 14-16 ม.ค.

ประเทศที่มีการเรียกเก็บภาษีนักท่องเที่ยวแพงที่สุด คือภูฏาน โดยเรียกเก็บถึง 200-250 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6,600-8,300 บาท) ต่อวัน ซึ่งราคาจะแปรไปตามฤดูกาลที่ไปท่องเที่ยว โดยจะต้องจ่ายตั้งแต่ตอนซื้อหรือจองทริป ราคานี้จะครอบคลุมทั้งค่าที่พัก ค่าการเดินทางขนส่งในประเทศ มัคคุเทศก์ อาหาร และค่าธรรมเนียมแรกเข้า

แม้จะมีภาษีนักท่องเที่ยวที่สูง แต่ภูฏานยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจ และในทางหนึ่ง ก็เป็นการจำกัดนักท่องเที่ยวไม่ให้ทะลักเข้ามามากจนเกินควบคุม ซึ่งจะกลายเป็นผลเสียต่อการรักษาวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติของภูฏาน

เช็กที่นี่ สูตรฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 1-4 ควรฉีดแบบไหน
 

อีกหนึ่งจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวไทย นั่นคือ ญี่ปุ่น ไม่มีการเรียกเก็บค่าเข้าประเทศหรือภาษีนักท่องเที่ยวตอนเดินทางเข้า แต่เมื่อจะเดินทางออกจากประเทศนี้ จะมีการเก็บ “ภาษีซาโยนาระ

โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,000 เยน (ราว 290 บาท) ขณะเดินทางออกนอกประเทศ ค่าธรรมเนียมนี้ญี่ปุ่นจะนำไปใช้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น

ด้านประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนของไทยอย่างมาเลเซีย ก็มีการเก็บภาษีท่องเที่ยว 10 ริงกิต (ราว 79 บาท) ต่อคนต่อคืน หรืออินโดนีเซีย ที่เกาะบาหลีมีการคิดภาษีนักท่องเที่ยวเพิ่ม 10% จากราคาอาหารและที่พักบนเกาะ และยังคิดค่าธรรมเนียมในการเดินทางออกจากประเทศ โดยคิดรวมไปกับตั๋วเครื่องบินในอัตรา 50,000-200,000 รูเปียห์ (ราว 116-464 บาท) แตกต่างกันไปตามแต่สนามบิน

ขณะที่ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีอากาศและทิวทัศน์สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างนิวซีแลนด์ เพิ่งมีการประกาศเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศเมื่อราว 1-2 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยเรียกเก็บเป็นเงินหัวละ 35 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (ราว 800 บาท) ยกเว้นนักท่องเที่ยวต่างชาติบางกลุ่ม เช่น นักท่องเที่ยวจากออสเตรเลียซึ่งเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกัน

ยื่นภาษีของปี 2564 ภ.ง.ด.90 ภ.ง.ด.91 และภาษีทุกประเภท ผ่าน E-FILING

ขยับออกจากภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียมายังยุโรปกันบ้าง ประเทศแถบนี้มีลักษณะการเก็บภาษีนักท่องเที่ยวที่คล้ายกัน คือคิดเพิ่มไปกับราคาที่พัก และเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อไปเยือนเมืองต่าง ๆ เป็นลักษณะของ “ค่าเข้าเมือง” มากกว่า

ตัวอย่างเช่น ที่ฝรั่งเศส จะเก็บภาษีนักท่องเที่ยวเพิ่มจากที่พัก ในอัตรา 0.2-4 ยูโร (ราว 7.5-150 บาท) ต่อการค้างแรม 1 คืน ซึ่งอัตรานี้จะเปลี่ยนไปตามเมืองหรือระดับโรงแรมที่เข้าพัก หากเป็นที่ตั้งแคมป์ ค่าธรรมเนียมก็จะราคาไม่สูง แต่หากเป็นรีสอร์ตหรู ก็จะถูกเรียกเก็บสูงขึ้นมา และหากเป็นเมืองสำคัญ เช่น ปารีส หรือลียง ก็จะมีอัตราเรียกเก็บสูงเช่นกัน

หรืออย่างที่เยอรมนี จะมีการเก็บภาษีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ส่วนนอกเหนือจาก VAT ปกติ คือ ภาษีวัฒนธรรม และภาษีเตียง แต่อาจมีเฉพาะเมืองใหญ่หรือเมืองท่องเที่ยวบางเมือง เช่น เบอร์ลิน แฟรงก์เฟิร์ต แฮมบูร์ก ฯลฯ โดยอัตราภาษีจะอยู่ที่ 5 ยูโร (ราว 190 บาท) ต่อวัน หรือ 5% ของค่าที่พัก

ขณะที่อิตาลีเรียกเก็บภาษีนักท่องเที่ยวแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง และลดหลั่นไปตามระดับของห้องพัก ค่าภาษีนักท่องเที่ยวในกรุงโรมอยู่ที่ 3-7 ยูโร (ราว 114-267 บาท) ต่อคืน หรือที่ซิวิตา ดิ บันโญเรจิโอ (Civita di Bagnoregio) นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องเสียค่าเข้าเมือง 5 ยูโร (ราว 190 บาท) ด้านเมืองดังอย่างเวนิส มีแผนเริ่มเรียกเก็บค่าเข้าเมือง 10 ยูโร (ราว 380 บาท) ตั้งแต่ฤดูร้อนปี 2022 นี้เป็นต้นไป

ที่สเปน มีรายงานว่า ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว จะเรียกเก็บภาษีนักท่องเที่ยว 4 ยูโร (ราว 150 บาท) ต่อวันต่อคน แต่หากไม่ใช่ช่วงนั้น บางเมืองก็จะเก็บ เช่น บาร์เซโลนา ต้องเสีย 2.5 ยูโร (ราว 95 บาท) ต่อวัน แต่บางเมืองก็จะไม่เก็บภาษีนักท่องเที่ยว เช่น มาดริด

ภาษีนักท่องเที่ยวของสวิตเซอร์แลนด์ก็จะแตกต่างกันไปตามที่พักเช่นกัน โดยทั่วไปจะเสียอยู่ที่ราว 2.5 สวิสฟรังก์ (ราว 90 บาท) ต่อคืนต่อคน เช่นเดียวกับกรีซที่เรียกเก็บภาษีนักท่องเที่ยวตามจำนวนดาวโรงแรมที่พักหรือจำนวนห้องที่เช่าพัก อัตราอยู่ที่ 0.5-4 ยูโร (ราว 20-150 บาท)

ในเบลเยียมคิดภาษีนักท่องเที่ยวตามเมืองและที่พัก แอนต์เวิร์ปกำหนดไว้ที่ 2.39 ยูโร (ราว 90 บาท) ต่อคืนต่อคน ที่บรูจส์คือ 2 ยูโร (ราว 76 บาท) ต่อคืนต่อคน บรัสเซลส์แตกต่างกันไปตามขนาดและระดับของโรงแรม โดยอาจสูงถึง 7.5 ยูโร (ราว 285 บาท) ต่อคนต่อคืน

โรมาเนีย มีการเก็บภาษีนักท่องเที่ยวในรวมไปในค่าโรงแรม โดยอาจชาร์จ 1% ของค่าห้อง บางเมืองอาจคิดภาษีเมืองและภาษีกู้ภัยเพิ่ม ส่วนที่สโลวีเนียเก็บภาษีนักท่องเที่ยวราว 3 ยูโร (ราว 114 บาท) ส่วนเด็กอายุ 7-18 ปีชาร์จครึ่งราคา อยู่ที่ 1.5 ยูโร (ราว 57 บาท)

ที่ออสเตรีย เก็บภาษีนักท่องเที่ยวแตกต่างไปตามเมือง ถ้าเป็นที่เวียนนาหรือซาลส์บูร์กจะชาร์จเพิ่ม 3% จากราคาห้องพักต่อคนต่อคืน ส่วนที่บัลแกเรียราคาต่างไปตามเมืองเช่นกัน เฉลี่ยอยู่ที่ 0.2-3 เลฟ (ราว 4-58 บาท) ต่อคืน

โครเอเชียมีสถานที่ท่องเที่ยวที่โด่งดังขึ้นมาจากอิธิพลของซีรีส์ Game of Thrones ทำให้เรียกเก็บภาษีท่องเที่ยวเพิ่มรวมอยู่ในค่าที่พัก ขณะนี้คิดอยู่ที่ราว 8-10 คูนา (ราว 40-50 บาท) ต่อคนต่อคืน ส่วนโปรตุเกสชาร์จภาษีท่องเที่ยวเฉพาะคนที่มีอายุ 13 ปีขึ้นไปในอัตรา 1.5-2 ยูโร (ราว 57-76 บาท) ต่อคนต่อคืน

ด่วน! เข็ม 3 ไฟเซอร์ หลุดจอง ใครอยากฉีดวัคซีนเข็ม 3 จองคิวผ่านเครือข่ายมือถือได้เลย

ขยับมาที่ประเทศในทะเลแคริบเบียนกว่า 20 ประเทศ เก็บภาษีขาออกโดยรวมอยู่ในตั๋วเครื่องบิน คิดค่าธรรมเนียมเดินทางออกนอกประเทศต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ตั้งแต่ 15 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 500 บาท) ของบาฮามาส ไปจนถึง 51 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1,690 บาท) ของแอนติกัวและบาร์บูดา หรือไม่ก็รวมอยู่ในราคาที่พักเช่นเดียวกับประเทศยุโรป

ขึ้นเหนือมาอีกเล็กน้อยที่สหรัฐฯ มีการเรียกเก็บภาษีนักท่องเที่ยวแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ แต่ส่วนมากมักชาร์จเพิ่มจากราคาที่พัก เคยมีรายงานพบการเก็บภาษีท่องเที่ยวสูงสุดที่ฮุสตัน คิดภาษี 17% ของราคาที่พัก

เหล่านี้คืออัตราการเก็บภาษีนักท่องเที่ยวหรือค่าเหยียบแผ่นดินของแต่ละประเทศ ซึ่งเราจะพบว่า มีทั้งประเทศที่เก็บแบบชาร์จไปพร้อมกับอาหารและที่พัก หรือที่เก็บตอนเดินทางเข้าและออกโดยรวมไปกับราคาตั๋วเครื่องบินเหมือนที่ไทยกำลังพยายามเสนอ และมีราคาที่หลากหลายตั้งแต่ที่ฟังดูไม่แพง ไปจนถึงที่ดูแล้วแพงสุด ๆ

ในประเทศไทยเองมีหลายเสียงที่คัดค้านการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เพราะเกรงว่านักท่องเที่ยวจะเบือนหน้านหนีและเป็นปัจจัยที่จะทำให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องการเดินทางมาประเทศไทย ในขณะเดียวกัน ก็มีเสียงที่สนับสนุนว่า ค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาทนี้ เป็นราคาที่ยอมรับได้ เพราะยังมีอีกหลายประเทศที่คิดแพงกว่านี้ แต่นักท่องเที่ยวก็ยังคงเดินทางไปเยือนอยู่ และเป็นช่องทางสำคัญในการหารายได้เข้าประเทศ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยต่อ ๆ ไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญหากประเทศไทยจะมีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินหรือภาษีนักท่องเที่ยวคือ รายได้ที่ได้มานี้ ต้องถูกนำไปใช้อย่างถูกจุดและเกิดประโชยน์สูงสุดจริง และนักท่องเที่ยวต้องได้รับสิทธิประโยชน์ที่เขาพึงมีให้สมกับที่จะเสียภาษีให้เราจริง หากทำได้เช่นนี้ ประเทศไทยก็จะยังคงเป็นหมุดหมายสำคัญที่ชนชาวโลกต้องการมาเยือน

"เช็ก 5 อาการโอมิครอน" ที่แพทย์ตรวจพบในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด

เรียบเรียงจาก Insider

ภาพจาก AFP

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ