ครบ 9 ปีรัสเซียผนวกไครเมีย จุดเริ่มต้นยูเครน-รัสเซีย ขัดแย้ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ครบรอบ 9 ปีของการที่รัสเซียผนวกแคว้นไครเมียของยูเครนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนเองนี่คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย

จนในที่สุดนำมาซึ่งการที่รัสเซียยกกำลังเข้ารุกรานและทำสงครามเต็มรูปแบบต่อยูเครนเมื่อ 24 ก.พ.ปีที่แล้ว เมื่อวานนี้ประธานาธิบดีปูตินไปปรากฎตัวด้วยการไปเยือนแคว้นไครเมียโดย ไม่มีการประกาศล่วงหน้าเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสที่ไครเมียถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียมาครบ 9 ปี

ประธานาธิบดีปูตินปรากฎตัวที่เมืองเซวัสโตปอลในแคว้นไครเมียโดยมี มิคาอิล ราซโวเยฟ ผู้ว่าการเมืองที่ได้รับการแต่งตั้งจากมอสโควให้การต้องรับ

IMF เตือน 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยปีนี้

เปิดเหตุผลพันธมิตรปฏิเสธส่ง"เครื่องบินรบ"ช่วยยูเครน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าการเดินทางครั้งนี้ไม่มีการประกาศแจ้งล่วงหน้าและสร้างความประหลาดใจให้กับชาวเมือง ในระหว่างที่อยู่ที่นั่น ผู้นำรัสเซียได้ไปเยี่ยมชมศูนย์เยาวชนแห่งใหม่ของเมืองรวมถึงเยี่ยมชมภายในโรงเรียนสอนศิลปะ

นอกจากนี้ยังมีภาพผู้นำรัสเซียที่พบกับพลเอกวาเลรี เจราซิมอฟ ประธานเสนาธิการกองทัพรัสเซียซึ่งเพิ่งได้รับได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่ผู้บัญชาการสู้รบในยูเครน แทนที่พลเอกเซอร์เก ซูโรวิกินเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

หลังจากไครเมีย ผู้นำรัสเซียเดินทางต่อไปที่เมืองมาริอูปอล เมืองท่าสำคัญบนทะเลอาซอฟที่รัสเซียยึดจากยูเครนไปได้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากภาพจะเห็นผู้นำรัสเซียขับรถไปรอบๆเมืองมาริอูปอล ที่นี่มีการรบที่ดุเดือดระหว่างสองฝ่ายต่อเนื่องหลายเดือนก่อนที่รัสเซียจะยึดได้อย่างสมบูรณ์เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว และนี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำรัสเซียมาเหยียบแผ่นดินที่ยึดได้จากยูเครน ทั้งหมดคือสัญญานที่ส่งออกมาว่า ประธานาธิบดรปูตินไม่ใส่ใจกับหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศหรือ ICC

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ICC ออกหมายจับประธานาธิบดีปูตินให้ข้อหาในข้อหาก่ออาชาญากรรมสงครามจากความผิดบังคับหรือลักพาตัวเด็กชาวยูเครนไปรัสเซียหรือดินแดนของยูเครนที่อยู่ในความครอบครองของรัสเซีย

การเดินทางเยือนไครเมียแบบไม่ประกาศล่วงหน้าของประธานาธิบดีปูตินในครั้งนี้ตรงกับวันครบรอบ 9 ปี ที่รัสเซียผนวกไครเมียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตนเองในขณะที่ประธานาธิบดีปูตินอยู่ที่ไครเมีย มีการออกมาจัดการเฉลิมฉลองหลายจุด

ส่วนในแผ่นดินใหญ่รัสเซียก็มีการทำแบบเดียวกัน เช่นที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ชาวรัสเซียพากันออกมาแสดงวามยินดีที่รัสเซียผนวกไครเมียได้ครบ 9 ปีแล้ว หลายคนบอกว่าไม่มีข้อสงสัยว่าไครเมียเป็นของรัสเซียทั้งในประวัติศาสตร์และในปัจจุบัน

ส่วนที่เมืองหลวงอย่างกรุงมอสโคว นอกจากมีการเฉลิมฉลองแล้ว ยังมีชาวรัสเซียจำนวนหนึ่งไปยืนประท้วงที่หน้าสถานทูตสหรัฐ โดยระบุว่า การมาที่นี่ก็เพื่อประท้วงสหรัฐที่ส่งอาวุธให้กับยูเครนเพื่อพยายามโจมตีและยึดคืนไครเมียคืนจากรัสเซีย

แคว้นไครเมียคือหนึ่งในจุดร้อนที่สุดและเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามในยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

โดยเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเกิดขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้วต้นปี 2014 ชาวยูเครนนับหมื่นนับแสนออกมาขับไล่ประธานาธิบดีวิกเตอร์ ยานูโควิช ผู้นำของยูเครนในขณะนั้นที่ตัดสินใจคว่ำข้อเสนอการค้ากับสหภาพยุโรปเพื่อหันไปรับเงินสนับสนุนจากรัสเซียแทน

การประท้วงที่รู้จักกันในชื่อของการปฏิวัติไมดาน ได้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นเหตุนองเลือด และทำให้ผู้นำสายโปรรัสเซียอย่างยานูโควิชถูกถอดถอนจากตำแหน่งและลี้ภัยไปรัสเซีย

ทันทีที่ยานูโควิชหนีไปรัสเซีย ประธานาธิบดีปูตินส่งทหารยึดแคว้นไครเมีย ก่อนที่ในวันที่ 18 มีนาคมปีเดียวกัน รัสเซียจัดให้มีการลงประชามติผนวกให้ไครเมียมาเป็นส่วนหนึ่งของตนเอง

ไครเมียเคยเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย จนกระทั่งเมื่อปี 1954 นิกิต้า ครุสเซฟ ผู้นำของสหภาพโซเวียตในขณะนั้นได้ยกให้ดินแดนนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐในบริเวณอย่างยูเครนโดยให้เหตุผลว่าเพื่อเป็นสัญญลักษณ์ในการเชื่อมสัมพันธ์ความเป็นพี่น้องระหว่างชาวรัสเซียและชาวยูเครน

ในทางกฎหมาย ไครเมียจึงคือส่วนหนึ่งของประเทศยูเครนและประชาคมโลกก็ได้ให้การรับรองสิทธิของยูเครนเหนือดินแดนดังกล่าว ดังนั้นการผนวกแคว้นไครเมียจึงเท่ากับว่ารัสเซียได้ละเมิดอำนาจอธิปไตยของยูเครน อย่างไรก็ตามในมุมมองของประธานาธิบดีปูตินและชาวรัสเซียจำนวนมาก การนำแคว้นไครเมียกลับมาอยู่กับรัสเซียเป็นความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์

นับตั้งรัสเซียบุกยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ประธานาธิบดีเซเลนสกีเคยประกาศหลายครั้งว่าจะเอาไครเมียคืนมาจากรัสเซียให้ได้ โดยเขาระบุว่า สงครามในคราวนี้มีจุดเริ่มต้นจากไครเมียและต้องจบลงที่ไครเมีย

ปลายเดือนสิงหาคมปีที่แล้วผ่านมา ยูเครนได้ชิมลางด้วยการส่งโดรนสองลำเข้าไปในไครเมีย เพื่อพยายามโจมตีฐานทัพรัสเซียในเมืองซาวัสโตปอลแต่ไม่สำเร็จ

หลังจากนั้นบริเวณแคว้นไครเมียก็ตึงเครียดมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนที่ติดกับทะเลดำ โดยรัสเซียได้เพิ่มกำลังและอาวุธมากขึ้น ขณะที่พันธมิตรของยูเครนอย่างสหรัฐก็มีการลาดตระเวนบริเวณใกล้น่านฟ้าไครเมียถี่ขึ้นเช่นเดียวกัน

วันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดการเผชิญหน้าทางอากาศระหว่างสหรัฐกับรัสเซียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดสงคราม เมื่อเครื่องบินรบของรัสเซียพ่นน้ำมันเข้าใส่โดรนสอดแนมเอ็มคิวไนน์ รีปเปอร์ (MQ-9 Reaper)ของสหรัฐที่บินอยู่เหนือน่านฟ้าทะเลดำจนเสียหาย โดยรัสเซียออกมาระบุว่าที่ต้องเข้าสกัดโดรนเพราะรัสเซียประกาศให้น่านฟ้าดังกล่าวเป็นเขตควบคุมการบิน

ด้านสหรัฐออกมากล่าวหาว่ารัสเซียไม่มีสิทธิ์ทำเช่นนั้น เพราะน่านฟ้าดังกล่าวเป็นน่านฟ้าสากล และถ้าจะไม่ใครสามารถประกาศเขตควบคุมการบินได้ก็ต้องเป็นยูเครนเพราะบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับแคว้นไครเมียซึ่งเป็นดินแดนของยูเครน แต่ถูกรัสเซียยึดไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ