ส่อง “ร้านอาหารเกาหลีเหนือ” ในต่างประเทศ ไม่มีลูกค้าแต่เงินสะพัด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้เชี่ยวชาญเผย “ร้านอาหารเกาหลีเหนือ” ที่มีอยู่ในบางประเทศ เช่น สปป.ลาว เป็นแหล่งฟอกเงินที่ได้จากอาชญากรรมไซเบอร์

การที่จะมีร้านอาหารต่างชาติมาตั้งอยู่ในประเทศหนึ่ง ๆ นั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ในประเทศไทยเองมีทั้งร้านอาหารจีน ร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารเกาหลีใต้ ร้านอาหารสเปน ร้านอาหารอิตาลี ฯลฯ แต่ถ้าบอกว่ามี “ร้านอาหารเกาหลีเหนือ” มาตั้งอยู่ เชื่อว่าคงทำให้หลายคนสงสัยไม่น้อย

ในประเทศไทยไม่มีร้านอาหารเกาหลีเหนือ แต่ในประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่าง สปป.ลาวมีอยู่ 4 แห่ง หนึ่งในนั้นอยู่ที่ล็อบบี้ของคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งในนครเวียงจันทน์ มีชื่อว่า “เพ็กตูฮันนา” (Paektu Hanna)

เกาหลีเหนือเปิดตัว “เรือดำน้ำนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี” ลำแรก

ผู้นำเกาหลีเหนือจ่อเยือนรัสเซียพบ “ปูติน” ถกความร่วมมือทางทหาร

“ทราวิส คิง” ลอบข้ามพรมแดนเกาหลีเหนือ เพื่อหนีการทารุณกรรมในสหรัฐฯ

ครั้งหนึ่งเคยมีร้านอาหารที่ดำเนินการโดยรัฐเกาหลีเหนือประมาณ 130 ร้านในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงดูไบและอัมสเตอร์ดัม เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมเกาหลีเหนือ แต่ปัจจุบัน เหลืออยู่เพียงประมาณ 17 แห่งเท่านั้นในเอเชีย โดยอยู่ในจีน รัสเซีย ลาว และเวียดนาม

ร้านอาหารเหล่านี้เคยสร้างรายได้ให้กับระบอบการปกครองของเกาหลีเหนืออย่างสม่ำเสมอ แต่ยุครุ่งเรืองของร้านเหล่านี้ได้ผ่านเลยมานานแล้ว สำนักข่าวอัลจาซีราได้ส่งคนไปเยือนร้านเพ็กตูฮันนา 2 ครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และพบว่า มีผู้มารับประทานอาหารเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

กระนั้น แม้จะมีลูกค้าน้อย แต่ร้านอาหารเกาหลีเหนือเหล่านี้ยังคงเปิดกิจการอยู่ได้ด้วย “เงินทุนผิดกฎหมายที่เกิดจากอาชญากรรมในโลกไซเบอร์” ซึ่งที่ผ่านมามีรายงานว่า เกาหลีเหนือก่อเหตุอาชญากรรมไซเบอร์หลายครั้ง แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด

มีรายงานว่า ปัจจุบัน มี “พนักงานไอที” ของเกาหลีเหนือประจำการอยู่ในจีน รัสเซีย และลาว ผู้เชี่ยวชาญบอกกับอัลจาซีราว่า เงินทุนผิดกฎหมายที่เกิดจากอาชญากรรมในโลกไซเบอร์เป็นท่อน้ำเลี้ยงหลักของเกาหลีเหนือในขณะนี้ และร้านอาหารต่าง ๆ ในต่างประเทศมีบทบาทสนับสนุนที่สำคัญในกระบวนการนี้

โจชัว สแตนตัน ทนายความในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ผู้ช่วยร่างพระราชบัญญัติคว่ำบาตรและการปรับปรุงนโยบายเกาหลีเหนือปี 2016 ของสหรัฐฯ บอกกับอัลจาซีราว่า “ข้อสันนิษฐานอันดับหนึ่งของผมคือ ร้านอาหารต่าง ๆ อยู่ที่ต่างประเทศเพื่อฟอกเงินเท่านั้น ... และแหล่งเงินที่ดีที่สุดแหล่งหนึ่งที่พวกเขาจะได้รับคือจากพนักงานไอทีเหล่านั้นในลาว มันดูสมเหตุสมผลดี”

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2017 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีมติเป็นเอกฉันท์รับรองมาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือเพื่อตอบโต้การปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีป มติคณะมนตรีความมั่นคงฯ ยังจำกัดการค้าระหว่างเกาหลีเหนือและรัฐสมาชิกของสหประชาชาติอีกด้วย รวมถึงเรียกร้องให้ปิดธุรกิจของเกาหลีเหนือและส่งแรงงานหรือพนักงานทั้งหมดกลับประเทศภายในเดือนธันวาคม 2019

แต่จีนและรัสเซีย ซึ่งเป็นสมาชิกถาวรของ UNSC ได้ปฏิเสธที่จะทำตามมติดังกล่าว โดยจีนนั้นมีรายงานว่าจ้างชาวเกาหลีเหนือมากถึง 100,000 คนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่วนรัสเซียถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในข้อตกลงด้านอาวุธกับเกาหลีเหนือ และรับแรงงานชาวเกาหลีเหนือ 3,000-4,000 คนมาทำงาน ในจำนวนนี้บางส่วนเป็นพนักงานไอทีและคนงานก่อสร้าง

ส่วนรัฐบาลลาวนั้นได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตร โดยกล่าวในเดือนเมษายน 2018 ในรายงานการดำเนินการของสหประชาชาติว่า ลาวไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับเกาหลีเหนือ และการอนุญาตให้แรงงานชาวเกาหลีเหนืออยู่ในประเทศจะหมดอายุภายในสิ้นปี 2018 และจะไม่มีการต่ออายุ” โดย ณ ปลายปี 2022 มีข้อมูลว่า แรงงานเกาหลีเหนือในลาวมีจำนวนไม่มากนัก อยู่ที่ 100-200 คน

แต่ในเดือนมีนาคม 2020 มีคนสามารถถ่ายภาพขณะเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศลาวและคณะผู้แทนเกาหลีเหนือร้องเพลงด้วยกันอยู่ที่ร้านอาหารเพ็กตูฮันนา เพื่อเฉลิมฉลองการลงนาม “ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ” ฉบับหนึ่ง

สำหรับร้านอาหารที่มีลูกค้าน้อยอาจดูเหมือนเป็นความล้มเหลวทางธุรกิจ แต่ เรมโก เบรอเกอร์ ศาสตราจารย์ด้านเกาหลีศึกษาที่มหาวิทยาลัยไลเดนในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งศึกษาการบังคับใช้แรงงานเกาหลีเหนือในยุโรป กล่าวว่า ในขณะที่ไม่มีลูกค้า แต่ “ร้านอาหารเหล่านี้เป็นมากกว่าร้านอาหารเสมอ”

เขาบอกว่า “ลับหลัง มีร้านอาหารทำหน้าที่เป็นฐานในการดูแลแรงงานต่างด้าวชาวเกาหลีเหนือ พวกเขาเป็นสถานที่สำหรับสะสมหนังสือเดินทางและเก็บเงิน ร้านอาหารเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในแง่นั้น”

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ มีรายงานพบเห็นพนักงานไอทีของเกาหลีเหนือประจำการอยู่ในประเทศจีน รัสเซีย และลาวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับการแฮกข้อมูล กระจายมัลแวร์ และการขโมยสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งรายได้ที่ได้รับจะถูกส่งกลับคืนสู่รัฐบาลเกาหลีเหนือ

ในปี 2022 คณะผู้เชี่ยวชาญแห่งสหประชาชาติได้รายงานกรณีของ โอ ชองซอง ชาวเกาหลีเหนือซึ่งอาศัยอยู่ในดูไบ พร้อมด้วยพนักงานไอทีชาวเกาหลีเหนืออีกจำนวนหนึ่ง โดยได้ปกปิดตัวตนไว้ ต่มาตัวตนที่แท้จริงถูกเปิดเผยในเดือนธันวาคม 2021 พวกเขาหนีไปลาวโดยเกรงว่าทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะสอบสวนและเอาผิด

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ ได้คว่ำบาตรหน่วยงาน 6 แห่งและบุคคล 7 ราย ที่มีส่วนในการส่งพนักงานไอทีของเกาหลีเหนือไปยังจีน รัสเซีย และลาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตราย

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประเมินว่า พนักงานไอทีของเกาหลีเหนือแต่ละคน สามารถสร้างรายได้ “มากกว่า 300,000 ดอลลาร์ (ราว 10.6 ล้านบาท) ต่อปีต่อคน” ซึ่งรายได้เหล่านี้ ถูกนำไปสนับสนุนโครงการพัฒนาขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ

สแตนตันกล่าวว่า พนักงานไอทีในลาวจะสร้างรายได้ผ่านการ แฮก ขโมยสกุลเงินดิจิทัล และฝังมัลแวร์ ซึ่งรายได้ที่ได้รับนั้น จะต้องนำไปผ่านเครือข่ายการฟอกเงินที่ซับซ้อนของเกาหลีเหนือ ซึ่งมีร้านอาหารในประเทศลาวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ

Chainalysis บริษัทบล็อกเชนในสหรัฐฯ กล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า อาชญากรไซเบอร์เกาหลีเหนือเติบโตขึ้นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยแฮกเกอร์ที่เชื่อมโยงกับเกาหลีเหนือทำลายสถิติการขโมยสกุลเงินดิจิทัล โดยส่วนใหญ่ของการขโมยเงินดิจิทัลในปี 2022 นั้น เชื่อว่าเป้นฝีมือเกาหลีเหนือ ขโมยไปกว่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (6 หมื่นล้านบาท)

 

เรียบเรียงจาก Al Jazeera

ภาพจาก Chandan KHANNA / AFP

ครม.เศรษฐา แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา วันแรก 11 ก.ย. 2566

ประกาศแจ้งจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด "เข้าบัญชี 18 ก.ย.2566" แน่นอน

ส่องสีใหม่ "iPhone 15" และ "iPhone 15 Pro" ก่อนเปิดตัวกันยายนนี้

ประกาศรายชื่อวอลเลย์บอลหญิงไทย "นุศรา" นำทัพชุดลุยศึกคัดโอลิมปิก 2024

TOP ต่างประเทศ
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ