กว่าจะเป็น “สารตั้งต้น” รายการสารคดีข่าว เจ้าของรางวัลดีเด่น ด้านสิทธิมนุษยชนจากแอมเนสตี้
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
“สารตั้งต้น” รายการประเภทสารคดีเชิงข่าว ผลิตโดยสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 เริ่มออกอากาศตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2559 ล่าสุดได้รับรางวัลดีเด่น ในฐานะรายการที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2562 จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย โดยในปีนี้รายการสารตั้งต้นได้ถึง 3 รางวัลด้วยกัน รางวัลดีเด่นจากผลงานเรื่อง “การกลับมาของบิลลี่” รางวัลชมเชยจากผลงานเรื่อง “พลิกแฟ้มคดี ‘ซีอุย’ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นมนุษย์กินคน” และ จากผลงาน “คนข้างถนน”

ด้วยปณิธานของทีมข่าวพีพีทีวี ที่มุ่งเน้นผลิตรายการสารคดีเชิงข่าวคุณภาพที่สามารถเป็นกระบอกเสียงให้แก่สังคมได้ ทีมงานจึงทุ่มเทสรรพกำลังในการผลิตรายการนี้ขึ้น เพื่อให้เรื่องราวในแต่ละตอนของรายการสามารถให้ข้อเท็จจริงเชิงลึกแก่ผู้ชม พร้อมทั้งสร้างแรงกระเพื่อมให้แก่สังคมตามบทบาทของสื่อมวลชนได้
ผลงานเรื่อง “การกลับมาของบิลลี่” ได้รางวัลดีเด่น ประเภทสื่อโทรทัศน์ ความยาวไม่เกิน 60 นาที เป็นประเด็นการหายตัวไปของชาวกระเหรี่ยงในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน ก่อนนำไปสู่การรื้อคดีและเป็นกระแสขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและพวกถูกดำเนินคดี
ส่วนสารคดีเชิงข่าวประเภทสื่อโทรทัศน์ ความยาวไม่เกิน 20 นาที ทางสถานีฯ ได้รางวัลชมเชย 2 รางวัล คือผลงาน “พลิกแฟ้มคดี ‘ซีอุย’ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นมนุษย์กินคน” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว เมื่อชาวไทยเชื้อสายจีนนามว่า ‘ซีอุย’ ถูกกล่าวหาว่า ฆ่าเด็กเพื่อกินตับ จนท้ายที่สุดซีอุยถูกประหารชีวิต และถูกนำร่างมาติดป้ายตีตราว่าเป็นมนุษย์กินคนที่พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ล่าสุดร่างซีอุยถูกนำไปฌาปนกิจแล้ว
และผลงานเรื่อง “คนข้างถนน” เกี่ยวกับการจัดระเบียบกลุ่มคนไร้บ้าน บางคนมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะบางครั้งไม่ได้ช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ตรงกันข้าม อาจเป็นแรงผลักที่ทำพวกเขากลับมาเป็นคนเร่ร่อนเช่นเดิม
สำหรับชิ้นงานรางวัลดีเด่น “การกลับมาของบิลลี่” นั้น เป็นผลงานของ ภควัต โฉมศรี ผู้สื่อข่าวประจำสถานีฯ กล่าวว่า “การทำสารคดีเชิงข่าว ตอน กลับมาของบิลลี่ ทำได้อย่างยากลำบาก เพราะต้องไปสืบหา รวมถึงค้นหาสำนวนการสืบสวนมายืนยัน เราได้ติดตามประเด็นนี้มาโดยตลอด โดยได้ทุ่มเท ความรู้ความสามารถ ความพยายาม ความอดทนที่มีจนสุกงอม หล่อหลอมเป็นผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา เมื่อรายการ สารตั้งต้น ตอน “การกลับมาของบิลลี่” ได้ออนแอร์แล้ว ผมรู้สึกดีใจมาก เพราะอย่างน้อยมันก็ทำให้กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งมีกำลังใจ อย่างน้อยเขาก็กล้าลุกขึ้นมาสู้ เลยทำให้ผมยังอยากทำงานด้านนี้อยู่ และอีกหนึ่งสิ่งที่ยังทำให้ผมยังอยากทำงานด้านนี้อยู่ คือเราได้ไปในสถานที่ที่คนอื่นไม่มีโอกาสได้เข้าไป ทำให้เราไม่รู้สึกเสียดาย ถ้าจะแก่หรือจะตาย ถึงรักในอาชีพนี้ครับ”
ส่วนชิ้นงาน “พลิกแฟ้มคดี ‘ซีอุย’ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นมนุษย์กินคน” ซึ่งเป็นผลงานของปรารถนา พรมพิทักษ์ ผู้สื่อข่าวประจำสถานีฯ เผยว่า “เรื่องราวของซีอุยเกิดขึ้นเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว และมีการตั้งคำถามของสังคมมาหลายรุ่นแล้ว ว่าซีอุยทำแบบนั้นจริงหรือเปล่า ? ดังนั้นทีมสารตั้งต้นจึงทำการบ้านหนักมาก ในการสืบค้นหนังสือพิมพ์เก่าที่หอสมุดแห่งชาติ ใช้เวลากว่าหนึ่งเดือน กว่าจะได้ลงพื้นที่จริงไปสัมภาษณ์แหล่งข่าว ตอนทำงานเราไม่ได้ทำเพื่อหวังรางวัลแต่เรามุ่งตอบโจทย์ของงานแต่ละชิ้นว่าเราจะทำเพื่ออะไร กับรางวัลครั้งนี้เรารู้สึกดีใจที่มีคนเห็นคุณค่างานของเรา และที่ดีกว่าการได้รับรางวัลก็คือ การลงมือทำแล้วเห็นผล จนเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม ท้ายที่สุดแล้วพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชที่เป็นคู่กรณีของเรื่องนี้ก็ยอมคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับซีอุย”
วุฒิคม พัวสื่อ โปรดิวเซอร์รายการสารตั้งต้นใน 2 ตอนที่กล่าวไปเบื้องต้น เปิดเผยว่า “พูดในแง่ของกระบวนการควบคุมการผลิต ควบคุมการทำงาน จริง ๆ ผมว่ามันสนุกนะ ที่สารคดีเชิงข่าวของเราในแต่ละตอนในแต่ละเรื่องมีการเปลี่ยนรูปแบบตามคอนเทนต์ต่าง ๆ เราจะหยิบยกข่าวมาเป็นจุดเริ่มต้นของสารตั้งต้น แล้วนำไปขยายความ โดยจุดประสงค์สูงสุดคือการตีแผ่ให้กับสังคม เราจะไม่มีแผนตายตัว ซึ่งในการทำงานกับนักข่าวและช่างภาพ เราจะต้องรู้จริตของนักข่าวและช่างภาพแต่ละคนว่าเขามีวิธีการเล่าเรื่องแบบไหนให้เรื่องออกมาน่าสนใจ เมื่อเราได้ร่วมกันคิดร่วมกันทำ จึงทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ขึ้นมา สารตั้งต้นจึงแตกต่างจากสารคดีเชิงข่าวรายการอื่น”
ปิดท้ายด้วยชิ้นงาน “คนข้างถนน” ซึ่งเป็นผลงานของ ภูริลาภ ลิ้มมนตรี โปรดิวเซอร์รายการสารตั้งต้นอีกท่านหนึ่ง เผยว่า “สำหรับงานชิ้นนี้เราได้ไปอยู่ ไปขายขวดกับเขา ไปใช้ชีวิตอยู่กับเขา กินนอนอยู่กับเขากลางถนนจริง ๆ ตอนคนข้างถนนนี้ผมอยากให้ผู้ชมเห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมระหว่างคนจนกับคนรวย จนกลายเป็นสึนามิลูกใหม่ที่ทำให้คนที่อยู่ไม่ได้ในสังคมต้องหนีไปอยู่ในมุมหนึ่ง ถ้าคนไหนไม่มีเงิน ก็จะอยู่ไม่ได้ต้องหนีไปอยู่ในมุมมืด เช่น คลองหลอด ใต้สะพานคลองเตย บางคนสูญเสียสติ จึงถูกทอดทิ้งจากเครือญาติ ซึ่งรัฐไม่มีมาตรการดูแลคนเหล่านี้”
ทีมงานสารตั้งต้นได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “พวกเราทีมงานจากรายการสารตั้งต้นขอขอบคุณผลตอบรับที่ดี จากแฟน ๆ อย่างล้นหลาม และถูกคัดเลือก จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จนได้รับรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ เราสัญญาว่าจะทำให้ดี ยิ่ง ๆ ขึ้นไป”
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นองค์การนอกภาครัฐที่ทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและทั่วโลก โดยเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างกำลังใจให้กับสื่อมวลชนที่ทำงาน อย่างหนักในการนำเสนอข่าวสารในแง่มุมที่คำนึงถึงการเคารพ ส่งเสริม และปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงได้จัดงานมอบรางวัลผลงานสื่อมวลชนดีเด่นด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคม และสื่อมวลชนจะได้มีพลังในการยืนหยัดที่จะทำงานเพื่อปกป้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชนต่อไป
ติดตามรายการสารตั้งต้นได้ทุกวันศุกร์ เวลา 23.00 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36 และ ชมออนไลน์ได้ทาง http://pptv36.tv/bmO
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้