25 ปีหลัง ICPD กับการพัฒนาประชากรเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย
เผยแพร่
ปรับปรุงล่าสุด
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดเสวนาเปิดตัวรายงาน “ประชากรและการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในประเทศไทย 25 ปี หลังจาก ICPD” ผ่านทาง Facebook Live UNFPA Thailand เมื่อไม่นานนี้

ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเปิดการเสวนาว่า นับตั้งแต่การประชุมนานาชาติว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา หรือ International Conference on Population and Development (ICPD) เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามกรอบ ICPD โดยแนวทางหลักสามประการคือ
หนึ่ง ประชากรทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการสุขภาพที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน รวมถึงการบริการทางอนามัยการเจริญพันธุ์โดยปราศจากอุปสรรคด้านการเงินเพื่อเข้าถึงบริการ
สอง มีการดำเนินงานร่วมกันตามกลไกระดับชาติเพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงจากอคติทางเพศ (Gender-based Violence) โดยการสร้างศักยภาพให้กับวัยรุ่นหญิงผ่านการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ 2559 และลดการคลอดในวัยรุ่นให้เหลือเพียง 25 คนต่อการเกิด 1,000 รายภายในปี พ.ศ. 2579
สาม ดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาตลอดช่วงชีวิต (life-course approach) เพื่อสร้างวิถีชีวิตที่เข้มแข็ง ทำให้ผู้สูงวัยและประชากรวัยแรงงานเป็นทรัพยากรและทุนมนุษย์ในการร่วมพัฒนาประเทศอย่างมีส่วนร่วม
ด้าน มาร์เซล่า ซูอาโซ ผู้อำนวยการ UNFPA ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทยที่มีอัตราการเกิดน้อยลงว่า “การพัฒนาทุนมนุษย์นับเป็นเรื่องสำคัญที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะเพิ่มมากขึ้นในขณะที่จำนวนประชากรคนรุ่นใหม่นั้นกลับน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังมีเรื่องของความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น จำนวนนักเรียนออกจากการเรียนระหว่างภาคการศึกษามากขึ้น จำนวนวัยรุ่นที่ไม่ได้เรียนและไม่ทำงาน ตอลดจนจำนวนแม่วัยรุ่นเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะของการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้การพัฒนาทุนมนุษย์เป็นเรื่องที่เร่งด่วนยิ่งขึ้น เพราะไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในภาวะการณ์เช่นนี้มักมีการปฏิบัติที่แสดงถึงความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ชัดในกลุ่มของวัยรุ่นและประชากรที่อยู่ในภาวะเปราะบาง รวมถึงผู้หญิงและเด็กผู้หญิงด้วย”
นอกจากนั้น ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมุมมองในเรื่องของความเหลื่อมล้ำว่า “สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ พบปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนคือ ประชาชนประสบภาวะเงินออมไม่เพียงพอ ภาพสะท้อนของการเป็นสังคมสูงวัยเด่นชัด โดยเห็นได้จากการพัฒนาความสามารถในการหารายได้ของแรงงานที่ลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน แรงงานที่จบการศึกษาต่ำกว่าระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ยังมีสัดส่วนที่สูงในทุกกลุ่มอายุ ไม่เฉพาะแค่ในกลุ่มอายุ 50 ปีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแรงงานวัยหนุ่มสาววที่มีอายึระหว่างอายุ 30-39 ปี คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 44 ในปี 2561 ซึ่งคนวัยหนุ่มสาวเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มที่ว่างงานอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นแรงงานที่มีพื้นฐานการศึกษาต่ำ กว่าความต้องการของตลาดแรงงาน แม้ในช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงไป ประชากรเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถกลับไปหางานทำได้ง่าย จึงอาจเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า แผลเป็น นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวเป็นอย่างมากในอนาคต เพราะยังไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่นอนของประชากรเหล่านี้ได้ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำนวนมาก
สิ่งที่เราควรเตรียมพร้อมรับมือสำหรับสังคมสูงวัย โดยเฉพาะในสภาวการณ์การเกิดโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งต้องมีการรักษาระห่างทางสังคม รวมถึงการทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล จึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัจจุบันทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาวจำนวนมากกลับยังมีปัญหาเกี่ยวกับใช้เทคโนโลยีดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดการว่างงานเป็นจำนวนมาก”
ด้าน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมุมมองด้านสุขภาพว่า “ปัจจุบันประชากรในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้จำนวนความต้องการประชากรทดแทนมีไม่เพียงพอ จึงต้องเร่งสร้างระบบรองรับหลายด้านเพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาประเทศ แต่หลังสถานการณ์โควิด ต้องมีการพิจารณาจำนวนประชากรที่เหมาะสมของประเทศใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดต่อสถานการณ์ครอบครัวที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมการเกิดหรือการวางแผนครอบครัว ดังที่เราเคยประสบความสำเร็จเรื่องการคุมกำเนิดมาแล้ว เพื่อเป็นการวางแผนคุณภาพชีวิตของสมาชิกในครอบครัวที่ไม่ใช่เรื่องการมีบุตรหรือการแต่งงานเพื่อมีบุตรเท่านั้น”
ทั้งนี้ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงมุมมองของอนาคตในระยะ 20 ปีข้างหน้า ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมาจากความยากจน ซึ่งการสร้างประชากรที่มีคุณภาพในอนาคต หากเริ่มต้นจากความสามารถในการเข้าถึงเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ของพ่อแม่ และการสาธารณสุขที่ดี จะช่วยให้เด็กเกิดและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ การมีสุขภาพที่ดีย่อมเป็นต้นทุนในการเริ่มต้นชีวิตที่ดีของทุกคน ดังนั้น จึงควรพิจารณานำเรื่องเทคโนโลยีเพื่อการเจริญพันธุ์ เทคโนโลยีเพื่อช่วยการเกิด และการเลี้ยงดูเด็ก เข้ามาใช้ในการป้องกัน รวมถึงแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์”
ดร. ภัณณิน สุมนะเศรษฐกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านการคาดการณ์อนาคต ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ความสุขอย่างยั่งยืนย่อมเกิดจากการที่สมาชิกในครอบครัวหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ในละแวกชุมชนเดียวกัน สถานการณ์ COVID-19 นำไปสู่เศรษฐกิจติดบ้าน (isolation economy) หลายคนต้องทำงาน ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพตนเอง และพักผ่อนอยู่กับบ้าน ปัจเจกจึงจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการใช้ชีวิตและการทำงานในพื้นที่อันพร่าเลือนมากขึ้นของบ้าน ผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลใส่ใจ ทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ และสุขภาพอารมณ์ เพื่อให้สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
การนำเสนอรายงาน “ประชากรและการพัฒนาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนในประเทศไทย 25 ปี หลังจาก ICPD” ครั้งนี้ UNFPA จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนในประเทศ ทั้งภาครัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ประชากรวัยหนุ่มสาว สถาบันการศึกษา และสื่อแขนงต่างๆ ร่วมกันค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นนวัตกรรมและเป็นการลงทุนในการพัฒนาทุนมนุษย์ที่อยู่บนพื้นฐานของสิทธิและคุณภาพ เพื่อสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้เตรียมการเข้าสู่การสูงวัยอย่างมีศักยภาพ รวมถึงการมีสุขภาพ ความเป็นอยู่ที่ดี และเตรียมพร้อมกับสังคมที่มีคนหลากหลายวัย เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และประชากรผู้สูงวัยมีความเกื้อกูล เกิดความเข้าใจและมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมร่วมกันของคนต่างวัย นำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของคนทุกวัยและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้