นักวิชาการ ม.นานาชาติแสตมฟอร์ด แนะภูเก็ตปรับตัวรับท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว สู้พิษโควิด - 19


เผยแพร่




จากวิกฤตไวรัสโควิด -19 ส่วนของการท่องเที่ยวรายได้หลักของประเทศไทยอย่าง จ.ภูเก็ต และกระบี่ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากยกเลิกกิจการ หรือปิดกิจการชั่วคราว ลูกจ้างจำนวนมากตกงาน หากภาคธุรกิจท่องเที่ยวรายใดสามารถปรับตัวได้ทันท่วงทีคิดกลยุทธ์แก้ไขสถานะการณ์ ก็จะสามารถพาธุรกิจของตนเองให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

ดร.สุทธิภัทร อัศววิชัยโรจน์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด เปิดเผยว่า วิกฤตการระบาดของไวรัสโคโรน่าครั้งนี้ผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยวต้องปรับตัวเรื่องกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยจากเดิมภูเก็ตเน้นกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ ช่วงเวลานี้อาจต้องปรับกลยุทธ์ในการให้บริการรับรองกับนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวไทยแทน ซึ่งอาจจะเน้นกลุ่มครอบครัวเป็นหลัก เพราะว่าตอนนี้กลุ่มที่เป็นครอบครัวมีกำลังซื้อค่อนข้างมากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่มีผู้สูงอายุหรือครอบครัวที่มีเด็กเล็ก เพราะว่ากลุ่มนี้หลังจากทำงานเสร็จต้องการพักผ่อน และการท่องเที่ยวที่เป็นรูปแบบครอบครัวนั้นเป็นการท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายเงินมากกว่าการท่องเที่ยวแบบวัยรุ่น การท่องเที่ยวของกลุ่มวัยรุ่นนั้นจะเป็นกลุ่มที่ท่องเที่ยวโดยไม่เน้นการใช้เงินแต่จะเน้นการถ่ายรูปมากกว่า บริโภคไม่ค่อยเยอะเพราะไม่ค่อยเน้นรับประทานอาหาร แต่ถ้าเป็นกลุ่มครอบครัวจะเน้นเรื่องกินเน้นเที่ยวค่อนข้างเยอะ โดยใช้เวลาในการท่องเที่ยวค่อนข้างนานกว่ากลุ่มวัยรุ่น ซึ่งกลุ่มวัยรุ่นเวลาไปเที่ยวใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน ในท้องถิ่นที่ไม่ไกลจนเกินไป จึงทำให้กลุ่มครอบครัวเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อเยอะและการไปเที่ยวต่างในจังหวัดอย่างเช่น กระบี่ ภูเก็ต เป็นจังหวัดที่ทำให้มีระยะเวลาในการท่องเที่ยวค่อนข้างยาวนาน  เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องปรับตัวธุรกิจจัดโปรโมชั่นให้กับลูกค้าแบบครอบครัวมีผู้สูงอายุ เด็ก ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกพัก รวมถึงยังสามารถเพิ่มจำนวนผู้เข้าพักให้มากขึ้นอีกด้วย

อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี ม.นานาชาติแสตมฟอร์ด กล่าวต่อว่า ส่วนในเรื่องธุรกิจร้านอาหารควรต้องปรับเมนูนอกเหนือจากร้านอาหารบนโรงแรม อาจปรับเมนูให้เป็นชุด เพื่อตอบสนองให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเป็นครอบครัว หรืออาจจะเป็นเซ็ตที่ให้บริการกับคนในท้องถิ่น นอกเหนือจากการให้บริการท่องเที่ยวแล้วเรายังมองว่าการให้บริการกับบุคคลหรือชุมชนในท้องถิ่นยังเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งซึ่งมีโมเดลของการพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมองว่าในช่วงที่เศรษฐกิจนักท่องเที่ยวมีจำนวนลดน้อยลงคนในประเทศญี่ปุ่นจะหันมาให้บริการกับคนในท้องถิ่น เพื่อจะให้คนในท้องถิ่นหันมาพัฒนาหรือบริโภคสินค้าภายในชุมชน ซึ่งสามารถทำให้ธุรกิจในจังหวัดนั้น ๆ มีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น อันนี้ก็ถือว่าเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่ธุรกิจโรงแรม ที่พัก และร้านอาหาร สามารถที่จะนำไปปรับใช้ได้ สำหรับผู้ประกอบการที่ขายของทั่วไปนั้นมองว่าอาจจะปรับตัวในเรื่องของหาสินค้าบางอย่างที่ถูกกับความต้องการของคนในจังหวัดนั้น ๆ เพราะส่วนใหญ่สินค้าที่เป็นท้องถิ่นจริง ๆ แล้วอาจมองว่าเป็นสินค้าที่มีเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาซื้อหรือใช้บริการ เช่น ขนมสาลี่ถ้าเราไปถามผู้ประกอบการในจังหวัดสุพรรณบุรี ตอนแรกจะคิดว่าขนมสาลี่นั้นต้องมีชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากจังหวัดอื่น ๆ มาซื้อเป็นของฝากกลับบ้านค่อนข้างเยอะ แต่ความจริงแล้วกลุ่มลูกค้าหลัก ๆ ที่มีการซื้อขนมสาลี่นั้นมาจากคนในท้องถิ่นเป็นหลัก โดยจะซื้อเป็นของฝากเมื่อจะเดินทางไปเยี่ยมญาติในจังหวัดอื่น ๆ เพราฉะนั้นการที่ผู้ประกอบการจะอยู่รอดได้จะต้องสร้างให้คนในชุมชนสามารถที่จะภูมิใจและซื้อสินค้านั้นไปเป็นของฝาก อีกทั้งยังต้องสร้างจุดเด่นให้กับสินค้าในจังหวัดตนเองให้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่จูงใจให้กับผู้บริโภคที่ต้องการจะซื้อว่าเมือไหร่ก็ตามที่อยากซื้อสินค้านี้ จะต้องเดินทางมาซื้อที่จังหวัดนี้เท่านั้น เพื่อที่จะทำให้โมเดลธุรกิจตรงนี้สามารถอยู่รอดได้ คล้ายคลึงกับโมเดลของประเทศญี่ปุ่น

 

TOP ประชาสัมพันธ์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ