แนวร่วมลด "มลพิษ" ปั่นรักษ์โลกพร้อมรณรงค์แยกขยะ


เผยแพร่




มูลนิธิคุณและก้อง สหรัถ จับมือ มศว. และแนวร่วมลดการก่อมลพิษ จัดงานปั่นจักรยานลดฝุ่น PM2.5 และช่วยกันรณรงค์ให้ช่วยกันลดขยะแยกขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ที่ลานเล่นล้อ มศว ประสานมิตร มีการรวมตัวของกลุ่มองค์กรและผู้สนับสนุนที่มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อม นำโดยก้อง สหรัถ และคุณจิ๋วปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต แห่งมูลนิธิคุณ โดยมีแนวร่วมหลักคือกลุ่มอาจารย์และนักศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมกับเพื่อนพี่น้องจาก One Fine Day Bicycle ผู้สนับสนุน จักรยานพับ ยี่ห้อ Strida มูลค่า 25,000 บาท และบริษัท เอส.ดี.เจ. อินเตอร์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ N Joy ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนแบบย่อยสลายและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และบริษัท โปรไบค์ จำกัด

ผู้นำด้านจักรยาน และตัวแทนจาก บ.Kiwi และ KomKom Product จำกัด รวมถึงคุณทมยันตี คงพูลสิน นายกสมาคมศิษย์เก่า สาธิต ปทุมวัน คุณพิมาน ภางาม คุณนันท์นภัส นัทชาทรัพย์มณี และครูเป็ด คุณมนต์ชีพ ศิวะสินางกูร รวมถึง What da Cup และ Refill Station ร้านทัวร์จักรยาน ดีกว่าเดิน Better than Walk และ คุณเจฟฟรี่ เบญจกุล จาก Bicycle Diary ร่วมงานปั่นลดฝุ่น PM2.5 และช่วยกันรณรงค์ให้ช่วยกันลดขยะแยกขยะเพื่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ “Yes, We can! เริ่มที่คุณ”

หากกล่าวถึงปัญหาเรื่อง PM2.5 ว่า สาเหตุของการเกิดฝุ่น อันดับ 1 มาจากเครื่องยนต์ดีเซล ส่วนอันดับ 2 เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ อันดับที่ 3 คือเรื่องของการเผา ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราสามารถลดฝุ่นได้ คือการที่จะลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดการเผาไหม้

ผศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงร่วมกับคุณจิ๋ว ปรางค์ทิพย์ ประธานมูลนิธิคุณ และเจฟฟรี่ เบญจกุล เกี่ยวกับการสร้างการรับรู้ในสังคม โดยเฉพาะในช่วงที่ฝุ่น PM 2.5 กำลังจะกลับมาอีกครั้ง ซึ่งพบว่าจะกลับมาในทุกๆหน้าหนาวในภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป จึงนำมาสู่การเชิญชวนการปั่นจักรยาน

"การเอาขยะมาทำเป็นเชื้อเพลิงเป็นพลังงานทางเลือกในอนาคตอาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาฝุ่น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาในประเทศไทยก็คือทัศนคติของคนที่บอกว่าขยะทิ้งรวมๆกันไปแล้ว มันก็มีเครื่องจัดการแยกขยะเอง คุณอาจจะบอกว่าไม่จำเป็นต้องแยกขยะเพราะสุดท้ายก็ถูกนำไปรวมกันอยู่ดี หากการจัดการจากต้นทางเป็นขยะที่สะอาด และมีคุณภาพ ปลายทางจะทำให้หลังจากคัดแยก ทั้งกระบวนการ Reuse Recycle และ Reduce ก็จะนำไปสู่การสร้าง product ที่มีคุณภาพและสามารถเอาไปทำเป็นเชื้อเพลิง rdf ได้ ก็เลยเป็นที่มาของการรณรงค์สองเรื่องหลักในกิจกรรมครั้งนี้ ซึ่งในปัจจุบัน กำลังมีความพยายามเรียกร้องกฎหมาย เรื่องของ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ขึ้นในประเทศไทย"

โดยยกตัวอย่างเมื่อ วันที่ 3 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการปั่นจักรยานเลียบคลองแสนแสบเราจะเห็นว่าสามารถทำเลนจักรยานได้อีก หากมีการทำเลนต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าช่วยกวดขันไม่ให้มีผู้กระทำผิดจราจร ผมก็เชื่อว่าจะมีคนใช้จักรยานกันมากขึ้น โดยหันไปกวดขันเรื่องวินัยการใช้รถใช้ถนนมีการลงโทษตามพ.ร.บ.จราจรอย่างจริงจังก็จะช่วยได้ และผมเชื่อว่าคนก็พร้อมที่จะปั่นกันมากขึ้น

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีพื้นที่อยู่ใจกลางเมืองย่านอโศก ถือว่าเป็นย่านที่ได้รับผลกระทบต่อฝุ่น PM 2.5 เป็นอย่างมาก โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่อเนื่อง คือเนื่องจากเรามีทั้งโรงเรียนประถมโรงเรียนมัธยมอยู่บริเวณนี้แล้วก็สามารถเชื่อมโยงกิจกรรมให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการแยกขยะ เช่น ในสาธิตประสานมิตร สาธิต มศว ปทุมวันมีการเพิ่มเรื่องแนวการเรียนรู้เหล่านี้ได้มากขึ้น เพิ่มถังขยะไปตามจุดต่างๆ ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น

คุณจิ๋ว ปรางค์ทิพย์ อนันตวิภาต แห่งมูลนิธิคุณ แม่งานของกิจกรรมครั้งนี้เล่าว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 มีมาโดยตลอด และจากภาพข่าวปีที่ผ่านมาตึกวิวหายไปเลย แรกๆบางคนนึกว่าเป็นหมอก ที่สำคัญอาการป่วยของคนเห็นชัดเจนมากขึ้นโดยเฉพาะผู้สูงอายุและในเด็ก รุ่นเราเจอขนาดนี้แล้วรุ่นเด็กกว่าเราล่ะ แล้วอีกสิบปีเขาจะอยู่กันยังไง เลยคิดว่าสิ่งที่พวกเราจะช่วยกันได้คือการลดปริมาณการใช้รถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะทางสั้นๆ ในต่างประเทศหลายที่พยายามรณรงค์ให้ใช้จักรยานมากขึ้น รัฐต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น

มูลนิธิคุณตั้งขึ้นมาจะ 3 ปีแล้ว พี่ตั้งใจอยากทำทางด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และช่วยน้องหมาแมวจร ที่จริงทั้งสามอย่างนี้มันเกี่ยวเนื่องกันในหลายมิตินะคะ อย่างปั่นจักรยานนอกจากได้ช่วยเรื่องลดฝุ่นแล้ว ยังช่วยเรื่องสุขภาพแข็งแรง และหากได้ปั่นจักรยานในที่สวยสวยก็จะมีสุขภาพจิตที่ดี เคยมีคนบอกว่าน้องหมาแมวจรเป็นขยะที่มีชีวิต แต่พี่กลับพยายามมองอีกด้านว่า เค้าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีจิตใจ ต้องการความรัก ดังนั้น ทำไมเราไม่พยายามช่วยกันชุบชีวิตของเค้า ให้มาเป็นเพื่อนที่จะซื่อสัตย์และรักเราทั้งชีวิตของเค้า แถมได้ทำบุญด้วย ที่ผ่านมาคิดโครงการกิจกรรมมาตลอด ค่อยทำไปเรื่อยเรื่อย โชคดีมีคนเห็นความตั้งใจ ยื่นมือเข้ามาช่วยตลอดเวลา เช่นพี่ก้อง สหรัถ และทีมนักดนตรีของพี่ก้อง ที่ใจดี ช่วยเหลือมูลนิธิคุณมาตลอด ล่าสุดคือผศ.ดร.ภูมิ มูลศิลป์ที่เป็นรุ่นน้องที่คณะสมัยเรียนกฎหมาย ผศ.ดร.ภูมิ เลยชวนเพื่อนเพื่อนเข้ามาช่วยเหลือในกิจกรรม “Yes, We can! เริ่มที่คุณ” ครั้งนี้

ด้านคุณเจฟฟรี่ เบญจกุล เจ้าของรายการ Bicycle Diary เล่าว่า จนถึงตอนนี้ผมปั่นจักรยานมาเกือบ 20 ปีแล้ว ในช่วงแรกจะทุลักทุเลหน่อย ลำบากไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ แต่มันรู้สึกได้ว่าสบายเจอกับธรรมชาติได้อยู่ในเมืองได้รู้สึกความอิสระก็เลยได้ปั่นมาเรื่อยๆ ซึ่งส่วนตัวมีหนึ่งคำพูดที่ผมจะพูดอยู่เสมอว่า เรามาช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้มันน่าอยู่มากขึ้นด้วยจักรยานกันเถิด ซึ่งบางคนอาจจะปั่นเพื่อความแข็งแรง เพื่อเชิงกีฬาอย่างเดียว แต่จริงๆแล้วถ้าคุณปั่นแล้วคุณมีความสุขมันก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้เหมือนกัน แค่นี้ชีวิต ของเราก็เปลี่ยนไป

ในอดีตสมัยก่อนเลนจะไม่ค่อยมี ต่อมาก็มีเส้นทางจักรยานในสุวรรณภูมิ สกายเลนต่างๆ ปัจจุบันพอมีคนหันมาปั่นมากๆ มันก็เกิดเส้นทางมากขึ้น เช่นกันถ้าในเมืองหลวงหากผู้คนหันมาใส่ใจหันมาปั่นกันเยอะๆมันก็จะได้มีการเพิ่มขึ้นของเส้นทาง มันก็เป็นสิ่งที่เราจะมารณรงค์ในวันนี้ คือการตระหนักรู้เกี่ยวกับการปั่นจักรยาน และกิจกรรมในวันนี้บางคนจะมองว่าไม่เห็นจะมีอะไรแค่มารวมตัวกันเฉยๆ แต่อย่างที่บอกว่าถ้าเราสร้างความตระหนักรู้ได้ สร้างแรงกระตุ้นในการใช้จักรยานไปเรื่อยๆ ผมก็เชื่อว่าสิ่งดีๆจะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย สำหรับงานวันนี้ก็เหมือนกัน งานรณรงค์จักรยานผมเชื่อว่าทุกงานที่เรารณรงค์ออกไป อย่างน้อยจะมีคนหันมาเข้าใจคนปั่นจักรยานมากขึ้น ไม่ว่าจะปั่นเพื่อไปทำงานหรือปั่นเพื่อกีฬาหรือปั่นเพื่ออะไรก็ได้ ถ้าคนหันมาปั่นเยอะขึ้น ผมคิดว่ามันคือการประสบความสำเร็จ เพราะอย่างที่บอกว่าถ้าอย่างน้อยเขาไม่ได้ปั่นเพื่อการทำงาน แต่เขาเข้าใจวิถีชีวิตของคนปั่นจักรยานแค่นี้ก็ดีมากแล้ว

ปิดท้ายที่ ก้อง สหรัถ ศิลปินรักสุขภาพที่ชื่นชอบการขี่จักรยาน เล่าว่าเส้นทาง ถนนหรืออะไรต่างๆ มันยังไม่พอรองรับ มันเหมือนตบมือข้างเดียวไม่ดัง ต้องการให้ทางภาครัฐเข้ามาช่วย support ด้วย พี่ก้องเป็นเพียงเสียงเล็ก ๆ ในการพูดถึงปัญหา มีบางคนก็ไม่กล้าปั่น เพราะกลัวอุบัติเหตุ ภาครัฐก็คงต้องเข้ามาดูแลจริงจัง ถ้าสมมติจะให้คน bike for work ผมว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเลยนะ ลดการใช้รถยนต์กันไป แล้วคนก็ได้ออกกำลังกายด้วย

แต่ในขณะเดียวกันมันก็ต้องมีถนนหนทางที่ปลอดภัย ให้คนขี่มีเลนที่ชัดเจนนะครับ แล้วก็รถราต่างๆ รถเมล์ รถประจำทาง ควรต้องช่วยกันลดไอเสียด้วย คือการออกมาขี่จักรยาน บางทีได้กล้ามขา แต่ปอดเต็มไปด้วยคาร์บอนไดออกไซด์ อันนี้มันก็ไม่คุ้ม มันก็ต้องช่วยกันด้วยว่ารถที่มีควันดำ ควันดีเซลหนัก ๆ คุณควรจะไปซ่อมเครื่องซ่อมอะไรให้มันอยู่ในการปล่อยมลพิษที่มันอยู่ในเกณฑ์ที่มันถูกต้อง ไม่งั้นก็จะกลายเป็นคนขี่จักรยานเป็นคนที่สูดควันพิษเข้าไปทุกวัน อันนี้มันก็ไม่ดี และเรื่องเลนก็ควรจะชัดเจน และไม่ควรให้เบียดไปกับรถยนต์

TOP ประชาสัมพันธ์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ