พลังครูวิถีใหม่ ชูปัญญา 3 ฐาน สร้างนวัตกรรมการศึกษาตามรอยศาสตร์พระราชา ปฏิรูปครู ปลดล็อกศักยภาพเยาวชนไทยในศตวรรษที่ 21


เผยแพร่




การเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม เทคโนโลยี และล่าสุดคือผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นำมาสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ที่ทำให้ทุกอาชีพต้องมีการปรับตัวรวมถึงอาชีพครูที่จะต้องปรับเปลี่ยนกระบวน การในการสอนและการเรียนรู้ให้เหมาะสมเพื่อพัฒนาเยาวชนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ในโอกาสวันครูประจำปี 2564 สำนักเลขาธิการคุรุสภาจัดงานวันครูออนไลน์ภายใต้แนวคิด “พลังครูวิถีใหม่ ฉลาดรู้เท่าทันดิจิทัล” มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “ทักษะการจัดการเรียนรู้เพื่อครูยุคดิจิทัล เรื่องศาสตร์พระราชา” ณ หอสมุดคุรุสภา โดย ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด และประธานมูลนิธิธรรมดี นายอดุลย์ ดาราธรรม นายกสมาคมนักเรียนเก่าเอเอฟเอส ประเทศไทย และ ดร.สุมณี ปิ่นเวหา วิทยากรจิตอาสานักเรียนเก่าเอเอฟเอส มาร่วมสนทนาเกี่ยวกับโครงการ “ตามรอยพระราชา” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นครูของแผ่นดินและได้รับการถวายพระเกียรติจากองค์การสหประชาชาติ ด้วยรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ (UNDP Human Development Lifetime Achievement Award)


 
โครงการตามรอยพระราชา เป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) มูลนิธิประเทศไทยใสสะอาด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา และมูลนิธิธรรมดี ได้ร่วมกันคัดสรรแหล่งเรียนรู้ 9 เส้นทาง 81 โครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 จากกว่า 4,800 โครงการทั่วประเทศ และคัดเลือกครูอาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศไปเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ พร้อมถอดบทเรียนสร้างนวัตกรรมด้านการเรียนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับผู้เรียนในโลกยุคใหม่ ที่ผ่านมามีการจัดโครงการทิพยสืบสาน รักษา ต่อยอดนวัตกรรมศาสตร์พระราชาไปแล้ว 11 รุ่น จำนวนครูที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 300 คน จาก 180 สถาบันทั่วประเทศ ทั้งระดับอุดมศึกษา อาชีวะศึกษา มัธยมและประถมศึกษาโดยการสนับสนุนจากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย เล่าถึงหลักคิดสำคัญของโครงการนี้ว่า “หน้าที่ของครูคือการพัฒนาศิษย์หรือพัฒนานักเรียน ซึ่งการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์ ประกอบด้วย 3 ฐานที่สำคัญ คือ ฐานกาย ฐานจิต ฐานปัญญา แต่
ในการเรียนการศึกษาส่วนใหญ่เน้นไปที่ฐานความคิดและฐานความจำ ซึ่งไม่เท่าทันกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องกลับมาพัฒนาฐานกาย ฐานจิต ฐานปัญญา ฐานกายคือการเรียนรู้จากการลงพื้นที่ไปมีประสบการณ์จริง การเรียนรู้ไม่ใช่การอยู่ในห้องเรียน ไม่ใช่การท่องจำ ต้องเปิดพื้นที่การเรียนรู้ สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงทำมาตลอดคือการเสด็จพระราชดำเนินออกไปสัมผัสทุกพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติความเป็นจริง ดิน น้ำ ลม ไฟ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม และสังคมศาสตร์ เข้าใจบริบทของความเป็นจริงทั้งหมด ส่วนฐานจิตคือ  การเข้าถึงอย่างลึกซึ้งถึงความรู้สึก จิตวิญญาณเป็นอย่างไร วัฒนธรรมขนบประเพณีเป็นอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่ฐานปัญญา คือ วิจารณญาณ การสามารถคิดวิเคราะห์ จนนำไปต่อยอดสร้างนวัตกรรมได้


 
เมื่อผ่านการเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติแล้วก็ต้องมีการประมวลสิ่งที่ได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมถอดบทเรียน ซึ่ง อาจารย์อดุลย์ ดาราธรรม ผู้พัฒนากิจกรรมและเครื่องกระบวนการเรียนรู้ของโครงการตามรอยพระราชาเล่าว่า ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบการจำลองเสมือนจริง (simulation) ที่ครูอาจารย์สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ เช่น บอร์ดเกม Game of Our Nation ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้ครูและนักเรียนได้สนทนาเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง ฝึกทักษะในการสื่อสารมุมมองที่หลากหลายแตกต่างกัน เชื่อมโยงไปสู่คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง รู้ รัก สามัคคี แล้วนำมาซึ่งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงประเทศ เชื่อมโยงไปสู่เครื่องมือการเรียนรู้ที่ทำให้เข้าใจกระบวนการศาสตร์พระราชา ว่านวัตกรรมของพระองค์ท่านมีหลักคิดอย่างไร หรือเกมที่เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของประเทศในการขับเคลื่อนจากปัจจุบันไปสู่อนาคต จะต้องมีคุณค่าหรือคุณธรรมที่ว่าด้วยหลักพอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา จึงสื่อสารออกมาผ่านการจำลอง


 
ส่วนการสอนเรื่องราวของพระองค์ท่านจากหนังสือพระราชประวัติภาษาอังกฤษที่ทางโครงการฯ แจกให้กับครูที่เข้าร่วมโครงการ เราได้สร้างเครื่องมือที่แปลงจากตัวหนังสือมาเป็นไทม์ไลน์ในกระดาษม้วนเดียว ครูสามารถที่ใช้เครื่องมือตัวนี้สื่อสารกับนักเรียน โดยให้นักเรียนเป็นคนแปลงเรื่องราวในหนังสือมาเป็นกระดาษ ใช้ QR Code เข้ามาเสริมในการให้ข้อมูลเพิ่มเติม และปัจจุบันนี้ก็มีแอปพลิเคชันช่วยแปลข้อความจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้ทันทีในโทรศัพท์มือถือ เราอนุญาตให้นักเรียนเอามือถือเข้าไปในห้องเรียน เอามือถือมาส่องเพื่อแปลความหมายและฝึกอ่านออกเสียง เป็นตัวอย่างที่ครูสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ที่สำคัญที่สุดคือนักเรียน
ช่วยกันทำได้ ในการเรียนประวัติศาสตร์นอกจากจะเรียนประวัติศาสตร์ของเราแล้ว ยังสามารถเติมประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านลงไปด้วย เป็นอาเซียนไปจนถึงระดับโลกได้”

ดร.สุมณี ปิ่นเวหา วิทยากรจิตอาสาอีกคนหนึ่งของโครงการตามรอยพระราชา กล่าวเสริมว่า กิจกรรมการเรียนรู้เหล่านี้สามารถนำไปใช้ในห้องเรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ได้แก่

1. Preparation การกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจอยากเรียนรู้ เกิดความ Wow! เช่น นำโทรศัพท์มือถือ แอปพลิเคชัน โปรแกรมการแข่งขัน มาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ แหวกกรอบการเรียนรู้แบบเดิมๆ

2. Presentation ให้ผู้เรียนเป็นคนทำกิจกรรม เรียนรู้และค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง เป็นเจ้าของการเรียนรู้ เปลี่ยนหน้าห้องให้เป็นหลังห้อง เปลี่ยนหลังห้องให้เป็นหน้าห้อง ให้ผู้เรียนทำพรีเซนเทชันของตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้คุณครูเป็นคนป้อนข้อมูลอีกต่อไป

3. Practice ฝึกฝนจนเชี่ยวชาญมากขึ้น ทบทวนความรู้ด้วยกิจกรรมถาม-ตอบ เป็นต้น

4. Project ให้ผู้เรียนทำโครงงานที่จะเป็นการเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนในห้องเรียนกับโลกภายนอก บทบาทของคุณครูสร้างแรงบันดาลใจให้เขาสามารถนำโครงงานนั้นไปต่อยอดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเขา ทำให้รู้สึกว่าสิ่งนี้มีคุณค่าและมีความหมายกับเขาจริงๆ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการคิด ค้นคว้า หาข้อมูล เตรียมการและใช้ความรู้อย่างมากมาย

5. Feedback ครูต้องเป็นคนให้กำลังใจ ให้ความเห็น (Feedback) เพื่อให้ผู้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำไปดีหรือไม่ดี จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร สามารถพัฒนาหรือต่อยอดตรงไหนได้อีก เป็นการสร้างคุณค่าของการเรียนรู้ของนักเรียนที่มากกว่าการเรียนเนื้อหา

“ในการเป็นวิทยากรจิตอาสา สิ่งหนึ่งที่พยายามทำคือให้กำลังใจกับคุณครู ให้คุณครูเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบอร์ดเกมหรือกระบวนการในการสอนแบบใหม่ คุณครูทุกท่านสามารถทำเองได้ที่โรงเรียน และตัวคุณครูเองสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนของคุณครูได้เช่นกัน ต่อไปนี้เมื่อนักเรียนเข้าห้องเรียนมาจะรู้สึกว่ามันเต็มไปด้วยความสุข ความรัก ความเอาใจใส่ของครู เขาสัมผัสได้ในสิ่งที่คุณครูพยายามทำในการเป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนาตัวเองได้ เป็นพลังสำคัญที่จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าเขาจะต้องพัฒนาตัวเองและให้ความสำคัญกับการเรียนรู้”

ดร.ดนัย แนะว่า วันนี้เราต้องเปิดพื้นที่ปลอดภัย หรือ Safe Zone ให้กับเยาวชน ให้เขารู้สึกว่าไม่ว่าเขาจะคิดไปทางไหน ครูก็ยังมีพื้นที่ปลอดภัยให้เขา ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ตัดสินถูกผิด รับฟังอย่างให้เกียรติ โดยการใช้ศิลปะสุนทรียสนทนา ในการทรงงานตลอด 70 ปีของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงรับฟังทุกเสียง โครงการในพระราชดำริแต่ละโครงการกว่าจะสัมฤทธิ์ผลต้องใช้เวลาและที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้คนในพื้นที่มีจิตสำนึกรักในผืนแผ่นดินของเขา ไม่ได้ทรงฟังแค่เสียงส่วนมากเท่านั้น เสียงส่วนน้อยก็ทรงรับฟังจนกระทั่งเป็นเอกฉันท์ แล้วนอกจากนั้นเสียงที่ไม่ได้ยินก็ทรงรับฟังด้วย เพราะฉะนั้นครูต้องเห็นว่าเสียงของเด็กๆ มีค่าทุกเสียง ทุกคนต้องการได้รับการให้เกียรติ ไม่ถูกตีตรา ไม่ถูกวิพากษ์ตัดสิน ครูสมัยใหม่จะไม่มีการคาดโทษ ไม่มีการตัดคะแนนแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องฝึกครูด้วยเช่นกัน

“ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเน้นเรื่องของการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ซึ่งสอดคล้องกับหลักปัญญา 3 ฐาน และสามารถนำมาใช้ได้จริงในการพัฒนามนุษย์และพัฒนานักเรียนของเราครูควรเข้าใจและเข้าถึงจิตใจความรู้สึกของผู้เรียน สังเกตว่าเด็กนักเรียนทุกคนเป็นอย่างไร เด็กแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ไม่มีอะไรที่เหมาะกับทุกคน จึงเป็นหน้าที่ของคุณครูที่ต้องเข้าถึงใจลูกศิษย์ จากนั้นเราถึงจะสามารถพัฒนาเด็กของเราแต่ละคนได้ โดยการพัฒนาให้เขามีปัญญาด้วยตัวของเขาเอง เป็นการเรียนรู้ 3 ขั้นตอน ได้แก่  Learning by Doing, Learning by Feelings และ Learning by Critical Thinking  หากเราเดินตามรอยของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการพัฒนาทุนมนุษย์ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถปลดล็อคศักยภาพของเยาวชนไทย และทำให้ประเทศไทยของเรามีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่” ดร.ดนัย กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถชมการเสวนาได้ทาง www.วันครู.com และ แฟนเพจตามรอยพระราชา แฟนเพจมูลนิธิธรรมดี ตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

TOP ประชาสัมพันธ์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ