สทป. ร่วมกับ ม.บูรพา จุดประกายความฝันออนไลน์ ผ่านค่ายวิทย์จรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ 10


เผยแพร่




สทป. ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มบ. จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ครั้งที่ 10 ขึ้นเป็นครั้งแรกของภาคตะวันออก

สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) ผนึกกำลังบูรณาการความรู้ จัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ครั้งที่ 10 ขึ้นเป็นครั้งแรกของภาคตะวันออก การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของ 2 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันเผยแพร่ความรู้สู่ประชาสังคม จุดประกายความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเยาวชน ก้าวไปสู่การเป็นนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และบุคลากรที่มีคุณค่าเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต

สทป.ต่อยอด ผลิตจรวดดัดแปรสภาพอากาศ ยับยั้งพายุลูกเห็บ-ทำฝนจากเมฆเย็น

ยูเออี จับมือ ญี่ปุ่น ส่งยานโรเวอร์ไปดวงจันทร์ปี65 ใช้จรวด “ฟอลคอน 9”

นาซาทดสอบจรวดทรงพลังที่สุดในโลกสำเร็จ

โดยมี พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรม ค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ประจำปี 2564 ครั้งที่ 10 ในครั้งนี้

กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2564 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5-6 สายวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ ซึ่งมีความพิเศษที่ต่างจากทุกปีคือได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โดยได้ดำเนินกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ มีเยาวชนจำนวน 17 ทีม เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งทุกทีมต้องทำการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อการสอนออนไลน์ จากนั้นทุกทีมจะนำเสนอแนวคิดการออกแบบจรวดในรูปแบบของ VDO Presentation และต้องนำเสนอแนวคิดผ่านระบบ Zoom Video Conference เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา โดยมีทีมที่ได้คะแนน Conceptual Design สูงสุดจำนวน 3 ทีม โดยได้รับรางวัล   จำนวน 3 รางวัล ดังนี้

- รางวัล Conceptual Design  ความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ ทีม First Point Aries โรงเรียนกรุงเทพ คริสเตียนวิทยาลัย กทม.

- รางวัล Conceptual Design การออกแบบตามทฤษฎี ได้แก่ ทีม Rocket with my friends โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม จ.สระบุรี

- รางวัล Presentation ยอดเยี่ยม ได้แก่ ทีม Emmalyn โรงเรียนวัดป่าประดู่ จ.ระยอง

ในการนำเสนอ ทุกทีมจะได้รับคำแนะนำจากกรรมการ เพื่อทำการประดิษฐ์จรวด เมื่อทุกทีมประดิษฐ์จรวดเรียบร้อยแล้วจะทำการโหวตจรวดที่ออกแบบได้โดนใจผู้ชมมากที่สุด ผ่านทาง  Facebook Fanpage ค่ายวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งทีมที่ได้รับการกด Like มากที่สุด และได้รับรางวัล Popular Vote ไปครองได้แก่ ทีม Space Bar โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม จ.พิษณุโลก มีคนกด Like จำนวนถึง 1,451 Like

ในส่วนของการทดสอบยิงจรวดประดิษฐ์ ทุกทีมจะต้องคิดวิธีในการส่งจรวดประดิษฐ์มาให้ทางคณะผู้จัด ซึ่งจรวดที่ส่งมานั้นจะต้องมีสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมที่จะทำการยิงทดสอบมากที่สุด เพื่อที่นักวิจัย สทป. จะได้นำจรวดของน้อง ๆ ไปประกอบมอเตอร์ เพื่อทำการยิงทดสอบ โดยคณะกรรมการจะใช้เกณฑ์การตัดสินดังนี้

  • 40% จรวดสามารถขึ้นได้สูงที่สุด
  • 30% จรวดสามารถตกลงมาสมบูรณ์ (การปล่อยร่มจรวด, ร่มจรวดกางสมบูรณ์, ระบบ Deployment สมบูรณ์, ชิ้นส่วนจรวดหลังตกมีความสมบูรณ์)
  • 10% จรวดสามารถตกลงมาในเขตพื้นที่ตกลงในพื้นที่ราบที่กำหนดในรัศมี 400 เมตร
  • 10% การรักษาเวลาในการส่งผลงาน
  • 10% การดำเนินการให้เป็นตาม Proposal ที่เสนอไว้

คณะกรรมการทำการเก็บรวบรวมคะแนนและสรุปผลการทดสอบจรวดประดิษฐ์ของแต่ละทีม โดยทีมที่มีคะแนนมากที่สุดใน 3 อันดับ ที่สามารถคว้ารางวัลไปครอง ดังนี้

  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Black Smith Guy โรงเรียนน้ำพองศึกษา จ.ขอนแก่น
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Jupiter โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม กทม.              

ในปีนี้มีทีมที่สามารถทำคะแนนสูงสุดถึง 2 ทีม ที่ได้รางวัลชนะเลิศ ได้แก่

  • ทีม nine za โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ หอวัง นนทบุรี จ.นนทบุรี
  • ทีม Skyrocket โรงเรียนองครักษ์ จ.นครนายก

โดยคณะผู้จัดจะกำหนดพิธีมอบรางวัลให้แก่ทีมชนะเลิศ และรองชนะเลิศ 2 อันดับ โดยพิจารณา ความเหมาะสมในการเข้ารับรางวัล หรือมอบรางวัลผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการภาครัฐในการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19)

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กล่าวว่า    องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีจรวด เป็นเทคโนโลยีหลักและเป็นจุดกำเนิดของ สทป. เป็นสิ่งน่าสนใจสำหรับเยาวชนอีกทั้งมีลักษณะเป็นสหวิทยาการ เกี่ยวข้องกับวิชาต่าง ๆ ที่เยาวชนกำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษา ในต่างประเทศ มีการจัดกิจกรรมจรวดประดิษฐ์ หรือ Model Rocket สำหรับเยาวชนกันมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ในประเทศไทยประชาชนทั่วไปยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมนี้ได้เอง  สทป. จึงจัดกิจกรรมซึ่งจะนำเทคโนโลยีจรวดมาช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนเกิดความสนใจในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์จรวดประดิษฐ์ เป็นกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ได้มีการริเริ่มจัดกิจกรรมตั้งแต่ปี 2555 ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ที่ผ่านมา สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศเดินทางไปจัดกิจกรรมทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ และในปี 2564 นี้ ได้จัดกิจกรรมขึ้นเป็นครั้งที่ 10 โดยในครั้งนี้ได้ขยายโอกาสให้แก่เยาวชนภาคตะวันออกเป็นครั้งแรก ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ในการร่วมจัดกิจกรรม

พลอากาศเอก ดร.ปรีชา  กล่าวพิ่มเติมว่า ขอแสดงความยินดีกับเยาวชนทั้ง 17 ทีม จากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมและได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากเทคโนโลยีชั้นสูง ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากผู้มีประสบการณ์ตรง แม้กิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นการเรียนรู้ที่ต้องศึกษาด้วยตนเองจากสื่อการสอนออนไลน์ โดยมีพี่เลี้ยงช่วยให้คำแนะนำให้กับเยาวชนในแต่ละทีม ซึ่งทุกทีมแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตนเอง ในการศึกษา เรียนรู้ และประดิษฐ์จรวดได้เป็นอย่างดี ซึ่งความพิเศษของกิจกรรมในครั้งนี้ คือเยาวชนได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้รับจากภาคทฤษฎี มาลงมือปฏิบัติทั้งการออกแบบโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณ ควบคู่ไปกับการใช้หลักการทางวิศวกรรมออกแบบจรวดที่ต้องนำไปยิงจริง โดยจรวดที่น้อง ๆ เยาวชนออกแบบมาจะต้องสามารถรองรับสภาพแวดล้อมที่รุนแรงไม่แพ้สภาพที่อุปกรณ์ในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศจริง ๆ รวมทั้งความเร่งหรือแรง G ที่มหาศาล การสั่นสะเทือน แรงช็อคจากการระเบิด อุณหภูมิสูงนับพันองศา ฯลฯ

สำหรับเยาวชนที่ผ่านค่ายนี้ไปแล้วนั้น จะมีประสบการณ์ และมีความรู้ ความเข้าใจในความท้าทายของกระบวนการออกแบบและสร้างอุปกรณ์ในชีวิตจริง ซึ่งเป็นพื้นฐาน ที่ช่วยให้น้อง ๆ เยาวชน เติบโตไปสร้างผลงานนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง นอกจากความรู้ในด้านการประดิษฐ์จรวดแล้วทุกทีมยังมีโอกาสได้ฝึกคิดในเรื่องของการนำเสนอ การเรียงลำดับความคิด และการสร้างสรรค์วิธีนำเสนอแนวคิด    ผ่านสื่อ VDO Presentation ซึ่งเป็นการนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์รูปแบบใหม่ที่มีความจำเป็นและสำคัญในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งทักษะที่ทุกคนจะต้องฝึกฝน เพื่อใช้ในการนำเสนอหรือสื่อสารเพื่อความสำเร็จในอนาคต 

ถึงแม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้เยาวชนไม่สามารถมารวมตัวกันได้ แต่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศก็ไม่หยุดให้โอกาสในการเรียนรู้และพัฒนา ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาเยาวชนในรูปแบบใหม่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ในการ จุดประกายความคิด ให้เยาวชนมีความคิดริเริ่มเพื่อเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ คุรุกิจโกศล กล่าวว่า ในนามของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดค่ายในครั้งนี้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ขอแสดงความยินดีกับทั้ง 17 ทีมที่ได้เข้ารอบและได้ก้าวผ่านความท้าทายนานานับประการในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่จะต้องทำการอบรมกันออนไลน์ การปรึกษาพูดคุยกับพี่เลี้ยงผ่านช่องทางแบบ new normal ในสถานการณ์ COVID-19เช่นนี้ แต่ทุกทีมสามารถทำได้ดีและมีการนำเอาวิชาความรู้ที่มีอยู่เดิมมาผนวกกับความรู้ประสบการณ์ของพี่เลี้ยง มาพัฒนาจนออกมาเป็นจรวดประดิษฐ์ขึ้นมาได้ ซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์ในชีวิตที่มีค่าในการที่ได้นำมาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาทำให้เกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์จริง สรรสร้างเป็นนวัตกรรมที่นำให้โลกมีการพัฒนาก้าวหน้า เทคโนโลยีอวกาศและจรวดไม่ใช่แค่การส่งจรวดขึ้นไปสู่อวกาศเพียงเท่านั้นแต่ยังมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องอีกมากมาย มีศาสตร์ทางวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นมาจากเทคโนโลยีจรวด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุศาสตร์ขั้นสูง การคิดค้นวัสดุใหม่ที่สามารถระบายความร้อนได้ดี ทนการเสียดสี หรือมีความแข็งแรงที่มากพอที่จะป้องกันตัวจรวดของเราให้รอดพ้นจากผลกระทบภายนอก ในช่วงเวลาของการส่งจรวดขึ้นไป รวมถึงระบบการขับเคลื่อนมอเตอร์ พวกดินขับ หรือสารเคมีเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งทั้งสิ้น น่าจะเป็นโอกาสอันดีที่ทุกทีมจะได้นำเอาเทคโนโลยีและความรู้เหล่านี้ไปต่อยอดต่อความสำเร็จ ในอนาคตของเรา ในห้วงระยะเวลาชีวิตของคนเรา โดยเฉพาะช่วงจุดเริ่มต้นของชีวิตในช่วงวัยรุ่นนี้มักจะมีเหตุการณ์สำคัญที่ประทับใจเสมอ แล้วเหตุการณ์นั้นมักจะเป็นตัวกำหนดอนาคตของเรา เป็นแรงบันดาลใจที่ไปกำหนดอนาคตและอาชีพในอนาคต

ผู้ช่วย ศาสตราจารย์ ดร.ณยศ กล่าวต่อว่า เชื่อว่าค่ายจรวดในครั้งนี้เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งในชีวิตที่จะสร้างแรงบันดาลใจ เยาวชนที่ผ่านค่ายนี้แล้วรักในทางศาสตร์วิศวกรรม รักในศาสตร์ทางเทคโนโลยีอวกาศ อยากให้ต่อยอดได้หาความรู้เพิ่มเติมต่อไป ประเทศไทยของเรายังขาดวิศวกร นักวิทยาศาสตร์ที่มีความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีอวกาศอยู่เป็นอันมาก เพราะฉะนั้นใครที่มีความสนใจในด้านนี้ อย่าทิ้ง อยากจะให้ได้ศึกษาต่อเนื่องไป

ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.บูรพา  มีความยินดีต้อนรับเยาวชนทุกคน ทางคณะมีสาขาวิชาที่จำเป็นสำหรับวิศวกรรมอวกาศหรือเทคโนโลยีอวกาศ อย่างเช่น ทางวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า หรือวิศวกรรมเคมี หรือแม้แต่สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุขั้นสูง นอกจากนี้ยังมีสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ ที่เน้นไปทางการบริหารจัดการทางวิศวกรรม ซึ่งถือว่าเป็นศาสตร์สำคัญที่จะทำให้ จิ๊กซอว์ทุกตัวมาต่อร่วมกันได้ จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีอวกาศหรืออุตสาหกรรมอวกาศเป็นสาขาวิชาที่เป็นสหวิชาชีพ เป็นการผนวกเอาความรู้ความชำนาญหลากหลายด้านเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อที่จะให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายหลัก   ในการท้าทายแรงโน้มถ่วงและทางด้านฟิสิกส์ที่จะทำให้สามารถส่งจรวดออกไปในระยะไกล ดังนั้น

“เยาวชนที่สนใจจะเดินต่อในสายวิชาชีพนี้อยากจะให้ทุกคนตั้งใจเรียนในรายวิชาที่จำเป็น ลองสร้างความเข้มแข็งทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เคมี และสิ่งที่เรากำลังสร้างคือรากฐานที่มั่นคงที่ย่อมนำมาซึ่งพีระมิดสูงและแข็งแกร่ง สามารถยืนต่อต้านสภาพอากาศ ความท้าทายต่าง ๆ ไปได้ฉันใด ขอให้เยาวชนทุกคนสร้างความเข้มแข็งให้กับวิชาการซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการต่อยอดในอนาคตฉันนั้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณยศ ทิ้งท้าย

TOP ประชาสัมพันธ์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ