“ไอคอนสยาม” ผนึก “มูลนิธิชัยพัฒนา” อนุรักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา


เผยแพร่




ไอคอนสยาม ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา และองค์กรพันธมิตร สืบสานศาสตร์พระราชา ริเริ่มโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน”

ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทไอคอนสยาม จํากัด เปิดเผยว่า  ไอคอนสยาม ร่วมกับ มูลนิธิชัยพัฒนา และองค์กรพันธมิตร ทั้งภาครัฐ, ภาคเอกชน ได้แก่ กองทัพเรือ, กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรมเจ้าท่า, สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา, สมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา และชุมชนต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน”  เพื่อร่วมสืบสานน้อมนําศาสตร์พระราชาด้านแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย รวมถึงมุ่งเน้นการให้ความรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ได้ร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนําไปสู่การใช้ชีวิตริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ไอคอนสยาม มีนโยบายให้ความสำคัญต่อการร่วมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและอยู่คู่เคียงแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านการดําเนินพันธกิจต่อสังคม 3 เรื่องหลักอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบ เพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์โดยเฉพาะและสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงามที่อยู่คู่กับวิถีคนริมน้ำเจ้าพระยา

ด้านนโยบายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาโดย ร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนา และองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ ดำเนินโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตามในพื้นที่คลองเป้าหมาย 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 3 เขตของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตคลองสาน เขตตลิ่งชั่น และเขตบางกอกน้อย

นายสุพจน์ กล่าวว่า ความร่วมมือจากมูลนิธิชัยพัฒนา ถือเป็นความร่วมมือผ่านถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสียตามแนวศาสตร์พระราชา นำมาเป็นแนวทางปฏิบัติและประยุกต์ใช้ในการจัดการกับทรัพยาการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยขณะนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ยื่นความประสงค์ขอให้มูลนิธิชัยพัฒนาเข้าไปช่วยเหลือในการบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำสาธารณะที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่อาศัยในชุมชนโดยรอบอย่างเร่งด่วนเป็นจํานวนมาก เช่น วัด โรงพยาบาล สถานที่ราชการอื่น ๆ

สำหรับวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียในเชิงอนุรักษ์มีหลากหลายวิธี เช่น การจัดเก็บเศษขยะต่าง ๆ ในคลอง, การขุดลอกคลอง, การตกแต่งกิ่งไม้ เพื่อเปิดให้แสงลงสู่แหล่งน้ำ, การใช้วัชพืชหรือพืชบำบัดน้ำเสีย, การติดตั้งถังดักไขมันในบ้านเรือน, การติดตั้งเครื่องกังหันชัยพัฒนา หรือการติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ เป็นต้น

ศาสตราจารย์ ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อม มูลนิธิชัยพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดําริ กล่าวว่า มูลนิธิชัยพัฒนาได้นําองค์ความรู้ในด้านการบําบัดน้ำเสีย โดยยึดตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช ที่ว่า “...ให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ เป็นเทคโนโลยีอย่างง่าย ใครๆ ก็สามารถทําได้ และมีวัสดุหาได้ในท้องที่...” มาดำเนินการในโครงการนี้

ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีการบําบัดน้ำเสียที่เรียบง่ายและใช้ธรรมชาติ แบ่งเป็น 2 ระบบ ได้แก่ วิธีการพึ่งพาธรรมชาติ โดยใช้สาหร่ายสังเคราะห์แสง เพื่อเติมออกซิเจนให้จุลินทรีย์หายใจและย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย และระบบที่สองคือ ระบบพืชและหญ้า ที่มีคุณสมบัติกรองและดูดซับของเสียที่อยู่ในน้ำ เนื่องจากจุลินทรีย์และสาหร่ายสีเขียวในน้ำ จะช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ และป้องกันไม่ให้เกิดก๊าซที่มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นผลจากการย่อยสลาย สารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน โดยไม่ส่งผลรบกวนต่อการดํารงชีวิตของประชาชน ในเขตริมคลองอีกด้วย

ขณะที่ การบำบัดน้ำเสียจากชุมชน ซึ่งเป็นผลจากการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ส่งผลให้เกิดสารอินทรีย์ ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เป็นองค์ประกอบหลักในน้ำเสีย ซึ่งน้ำเสียเหล่านี้สามารถบำบัดได้ โดยการประยุกต์ใช้แนวทางบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ โดยอาศัยแสงแดดและสายลม เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้มีความเหมาะสม  

“ไอคอนสยาม ได้ริเริ่มโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ําเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ําอย่างยั่งยืน" โดยช่วงเดือนมี.ค.-ธ.ค.2560 ตั้งเป้าหมายพัฒนาพื้นที่คลอง 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 เขตของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย เขตคลองสาน เขตตลิ่งชั่น และเขตบางกอกน้อย ที่มีการวางแผนอย่างบูรณาการ เริ่มจากการลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมแหล่งน้ำและวิเคราะห์สภาพค่าความสกปรกของน้ำอย่างแท้จริง เช่น ค่าบีโอดี เพื่อให้สอดคล้องกับการเลือกวิธีบำบัดน้ำเน่าเสียได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาของพื้นที่นั้น ๆ  ทำให้สมดุลทางธรรมชาติกลับสู่ภาวะปกติดั่งเดิม และโครงการนี้จะเน้นการมีส่วนร่วมจากประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่ ผ่านการให้ความรู้ความเข้าใจ ถือเป็นโครงการต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ในชุมชนริมน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่อื่น ๆ อย่างต่อเนื่องในอนาคต” นายสุพจน์ กล่าว

 

 

TOP ประชาสัมพันธ์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ