กฟน. ลงพื้นที่ตรวจสอบ แก้ไขเหตุต้นไม้ล้มทับสายสื่อสารทำให้เสาไฟล้มบริเวณซอยชิดลม


เผยแพร่




.

จากกรณีเหตุต้นไม้ล้มทับสายสื่อสาร ทำให้เสาไฟฟ้าหักบริเวณซอยชิดลมนั้น ล่าสุด นายธีระวัฒน์ เทพอำนวยสุข ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ลงพื้นที่อำนวยการแก้ไขสถานการณ์อย่างเร่งด่วน โดยตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าเกิดจากลมกระโชกแรงทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ภายในพื้นที่ อาคารอัลม่าลิ้งค์ (Alma Link Building ) ล้มลงมาบริเวณกลางถนน ทับสายสื่อสารและเหนี่ยวรั้งดึงเสาหักเสียหาย จำนวน  7 ต้น ประกอบด้วยเสาไฟฟ้าของ กฟน. ขนาด 12 เมตร 3 ต้น เสาระบบสื่อสาร TOT ขนาด 10 เมตร 2 ต้น และขนาด 8.5 เมตร 1 ต้น  เสาไม่ทราบหน่วยงาน 1 ต้น และเสาโคมไฟฟ้าชนิด LED อีก 1 ต้น ที่เกิดเหตุพบผู้เสียชีวิต 1  คน จากเสาสายสื่อสาร  TOT ล้มทับ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 1 คน มีรถยนต์ของประชาชนเสียหาย จำนวน 5 คัน  ในเบื้องต้น กฟน. จะมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจำนวนสองหมื่นบาท  โดยเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า และไม่มีไฟฟ้าดับ เนื่องจากบริเวณดังกล่าว กฟน. ได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบสายไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมดแล้ว จากเหตุการณ์ดังกล่าว กฟน. ได้ระดมเจ้าหน้าที่เร่งแก้ไขปัญหาโดยประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเคลื่อนย้ายต้นไม้ใหญ่ จัดเก็บสายสื่อสารและนำเสาสื่อสาร เสาไฟฟ้า ออกเพื่อคืนพื้นที่จราจรอย่างเร่งด่วนต่อไป นอกจากนี้ หลังแก้ไขปัญหารื้อถอนและจัดเก็บสายสื่อสารทั้งหมดแล้ว กฟน. จะไม่ปักเสาไฟฟ้าในบริเวณดังกล่าว
 
เนื่องจากช่วงนี้ เกิดพายุฝนลมกระโชกแรงบ่อยครั้ง การไฟฟ้านครหลวง มีความห่วงใยประชาชนให้ระวังอันตราย โดยขอให้อยู่ห่างจากป้ายโฆษณา ต้นไม้ใหญ่ และสิ่งก่อสร้างที่ ไม่แข็งแรง ที่อยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้า เพราะอาจหักโค่นพาดลงมาทับสายสื่อสาร สายไฟฟ้า ทำให้เสาไฟฟ้าล้ม หรือสายไฟฟ้าขาด เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ในขณะเดียวกันการไฟฟ้านครหลวงขอแนะนำให้ประชาชนสำรวจต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้านของตนเอง ให้กิ่งไม้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยไม่ระสายไฟฟ้า เพราะอาจทำให้ไฟฟ้าดับ รวมไปถึงอาจจะทำให้มีกระแสไฟฟ้ารั่วมาตามกิ่งไม้ที่เปียกน้ำจากฝนฟ้าคะนองได้ ในส่วนของห้างร้านที่ติดตั้งป้ายโฆษณา จะต้องตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพที่มั่นคง ปลอดภัย
 


หากประชาชนพบเห็นสายไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงชำรุด ตลอดจนพิจารณาแล้วว่าไม่อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงเขตได้ทุกเขต หรือที่ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าการไฟฟ้านครหลวง MEA CALL CENTER โทร 1130 และแจ้งผ่าน MEA Smart Life ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนระบบ iOS และ Android ของการไฟฟ้านครหลวง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 

TOP ประชาสัมพันธ์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ