ดีแทค คุ้มครองลูกค้า 2G เดินหน้าฟ้องศาลปกครองเพิกถอนมติ กสทช.


เผยแพร่




บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ยื่นฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช.หลังสัญญาสัมปทาน CAT จะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย.นี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองลูกค้า 2G กว่า 346,000 คนไม่ให้ได้รับผลกระทบ

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทคได้พิจารณาถึงสถานการณ์และแนวทาง กสทช. ในขณะนี้โดยเชื่อว่ายังไม่สามารถมีข้อสรุปได้ แม้ว่าจะมีการกำหนดในประกาศฯ ของ กสทช. และตัวอย่างที่ผ่านมากับผู้ประกอบการรายอื่น 

"ดังนั้น เพื่อให้ลูกค้าดีแทคได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในการคุ้มครองชั่วคราว เราจึงต้องดำเนินการด้านกฎหมายเพื่อลูกค้าของเรา"

โดยดีแทคมีลูกค้าในระบบสัมปทานกับ CAT จำนวน 90,000 ราย ลูกค้าดีแทคไตรเน็ต หรือ DTN อีกเป็นจำนวนมากที่ใช้บริการข้ามโครงข่ายภายในประเทศ (Domestic Roaming) บนคลื่น 850 MHz ทั่วประเทศ ราว 346,000 คน 

ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการใช้งานของลูกค้า ซึ่งถือว่าทั้ง กสทช. ดีแทคและ CAT มีหน้าที่ในการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นความรับผิดชอบในการที่จะต้องให้บริการตามประกาศ กสทช. ซึ่งที่ผ่านมา ดีแทค และ CAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้ากรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน ต่อ กสทช. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 เพื่อปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้สัญญาให้บริการเดิม เพื่อให้ลูกค้าดีแทคที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม ซิมไม่ดับและมั่นใจในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกสทช. ได้เคยอนุมัติการเยียวยาแก่ผู้ให้บริการรายอื่นที่เป็นคู่แข่งของดีแทคเป็นระยะเวลา 9 เดือน และ 26 เดือน 

"แต่กรณีดีแทคกำลังจะหมดสัมปทานคลื่น 850 MHz กสทช. ได้มีเงื่อนไขในการอนุมัติการคุ้มครองถ้าดีแทคเข้าประมูลคลื่น 900 MHz ซึ่งการนำคลื่นมาประมูลเป็นคลื่น 900 MHz ไม่ใช่คลื่น 850 MHz ในทางปฏิบัติต้องใช้เวลาประมาณ 24 เดือนเพื่อการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่จำนวนมากกว่าหมื่นแห่ง และไม่มีผู้ประกอบการรายใดสนใจเข้าประมูลคลื่น 900 MHz ที่จัดขึ้นเนื่องด้วยเงื่อนไขการประมูลที่กำหนดขึ้นเป็นเรื่องที่ปฎิบัติไม่ได้" นายราจีฟกล่าว

ทั้งนี้ ถ้าศาลมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิการใช้งานของลูกค้าดีแทค บนคลื่น 850 MHz รายได้จากการให้บริการที่เกิดขึ้นในช่วงการคุ้มครองจะถูกนำส่งให้รัฐหลังหักค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้รัฐไม่เสียผลประโยชน์ใดๆ แต่ถ้าทิ้งคลื่นไม่ใช้งานจะนำความเสียหายมาสู่ทั้งรัฐและผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

"การคุ้มครองการใช้งานชั่วคราวจึงเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย"

อย่างไรก็ตาม ดีแทคจะดำเนินการแจ้งลูกค้าในรายที่ได้รับผลกระทบจากกรณีที่ไม่ได้รับการคุ้มครองคลื่นความถี่จาก กสทช. โดยดีแทคกำลังเร่งขยายพื้นที่การให้บริการทั้งคลื่น 2100 MHz และ คลื่น 2300 MHz ของทีโอที อย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนาสัญญาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อ่านต่อ : ส่อแววไร้บริษัทประมูลคลื่น 1800 MHz.-ยื่นซอง 15 มิ.ย.นี้

อ่านต่อ : “ดีแทค” แจ้งไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz.

TOP ประชาสัมพันธ์
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ