ต้องรู้!! เลือกตั้ง 2562 กาบัตรใบเดียว แต่มีผลต่อจำนวน ส.ส. 2 ระบบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ภายหลังจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. มีมติให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มี.ค.นี้ โดยการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบ ใบหนึ่งเลือก ส.ส. และอีกใบหนึ่งเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้แตกต่างออกไป เพราะเป็นการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวเท่านั้น ที่ยังมี ส.ส 2 ระบบ คือ แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ

ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และอดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. เล่าว่า การเลือกตั้ง ส.ส. มีสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ 3 ประการ คือ ประการแรกการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว ในขณะที่การเลือกตั้งในอดีตที่ผ่านมาจะมีการเลือกตั้งโดยใช้บัตร 2 ใบ ประการที่สอง คือ ในบางครั้งการนับคะแนนเสียงผลการเลือกตั้งจะแจ้งการนับคะแนนเสียงให้ทราบในวันนั้นเลย และจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ในกรณีนี้อาจจะมีผลอย่างไม่เป็นทางการเกิดขึ้น แต่การประกาศผลอย่างเป็นทางการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะต้องรวบรวมให้ได้ 95 เปอร์เซ็นต์ ประการที่สาม ช่องในการกาเลือกในบัตรเลือกตั้งแบบบัตรเดียว นอกจากจะมีชื่อบุคคลที่สมัครที่สังกัดพรรคต่าง ๆ ยังมีช่องที่ให้ประชาชนสามารถกาว่าไม่เลือกผู้สมัครคนใดเลย ซึ่งมีผลต่อการนับคะแนนด้วย ถ้าเกิดคะแนน (ส่วนใหญ่) ไม่เลือกผู้สมัครคนใดเลย จะมีผลทำให้การเลือกตั้งนั้นเสียเปล่า และต้องมีการรับสมัครการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้น

รู้ไว้ ก่อนไปเลือกตั้ง 62! เลือกตั้งสองระบบ ใช้บัตรใบเดียว

ต้องมีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งนั้น ไม่น้อยกว่า 90 วัน

ใน 350 เขตเลือกตั้ง แต่ละเขตจะมีผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง โดยได้คะแนนเป็นที่ 1 เพียง 1 คน ที่จะได้เป็น ส.ส. ฉะนั้นเขตเลือกตั้งหนึ่งซึ่งอาจจะประกอบไปด้วยหน่วยเลือกตั้งหลาย ๆ หน่วย ยกตัวอย่างของ กทม. มี 30 เขต หมายความว่า จะอยู่ในพื้นที่เขตเลือกตั้งใดก็ดูตามภูมิลำเนาที่อยู่ กฎหมายกำหนดว่าการที่จะมีชื่ออยู่ในเขตการเลือกตั้งใด จะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 90 วัน ซึ่งถ้าหากย้ายบ้านในช่วงก่อนวันเลือกตั้งน้อยกว่า 90 วัน ต้องไปใช้สิทธิในเขตเลือกตั้งเดิมในภูมิลำเนาที่อยู่เดิม ซึ่งใน 350 เขต ผู้สมัครจะมีคนได้ที่ 1 เพียงรายเดียวที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. ซึ่งการนับคะแนนจะใช้วิธีการนับในหน่วยเลือกตั้ง และรายงานผลไปที่ส่วนกลางเพื่อให้มีการรวมคะแนน แต่การรายงานผลส่วนใหญ่มักจะทราบอย่างไม่เป็นทางการ ดังนั้นหากจะทราบอย่างเป็นทางการ กกต. จะเป็นคนประกาศ

เลือกตั้งใช้เพียงบัตรใบเดียว แต่มีผลต่อ ส.ส. 2 ระบบ

สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้บัตรใบเดียว แต่ให้ได้มีผลต่อจำนวน ส.ส. 2 ระบบ คือ ระบบเขตเลือกตั้ง มีผู้ได้รับคะแนนเป็นที่ 1 เพียงคนเดียวที่ได้รับเลือกเป็น ส.ส. และระบบบัญชีรายชื่อ พรรคแต่ละพรรคที่ส่งผู้สมัครในเขตเลือกตั้งต่าง ๆ มีสิทธิที่จะส่งรายชื่อบุคคลที่สมัครรับเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อไม่เกิน 150 ชื่อ เพราะว่าจะมี ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน รวมกับอีก 350 คน จะมี ส.ส.มีทั้งหมด  500

โดย ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน จะมีวิธีคิด คือ ผู้สมัคร ส.ส.ไม่ว่าจะได้รับเลือกเป็นที่ 1 หรือไม่ได้รับเลือกเป็นที่  1 ในเขตนั้น คะแนนจะถูกนำมานับรวมในระดับประเทศ โดยประชาชนที่เลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองเพียง 1 รายชื่อในเขตเลือกตั้ง จะมีผลทำให้สามารถกำหนดคนที่จะเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อได้ เพราะคะแนนเสียงไม่ว่าจะเลือกได้คนที่ 1 หรือจะเลือกคนที่ไม่ได้รับเลือก คะแนนจะถูกนำมารวมกันทั้งประเทศ แต่ยกเว้นพรรคที่ไม่ได้ส่งบัญชีรายชื่อจะไม่นำเข้ามานับ  

เปรียบเทียบความต่าง ลงคะแนนเลือกตั้งแบบเก่า–ใหม่

คะแนนเลือก ส.ส.เขต มีผลต่อจำนวนที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในสภา

ทุกพรรคที่ส่งเข้าบัญชีรายชื่อ และมีการส่งผู้สมัคร ส.ส. เขต คะแนนทุกพรรคจะถูกนำมารวมกัน แล้วหารด้วยจำนวนที่นั่งในสภา คือ 500 ที่นั่ง ดังนั้นผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกพรรคการเมืองเลือกผู้สมัครในเขตเลือกตั้งจากบัตรเดียวสามารถนำมาคำนวณเป็นที่นั่งของ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อเฉลี่ยออกมาเป็น 1 ที่นั่งของ ส.ส. เช่น ต้องใช้เสียง 50,000 คะแนน ถึงจะได้ 1 ที่นั่ง หมายความว่า 50,000 คะแนนเป็นตัวเลขที่เอาไปหารคะแนนเสียงที่พรรคการเมืองไปส่งสมัครผู้สมัครในแต่ละเขต ว่าพรรคนั้นได้คะแนนทั้งสิ้นในประเทศเท่าไหร่ สมมติได้ 500,000 คะแนน เฉลี่ยได้ 50,000 เมื่อนำไปหาร 500,000 ก็จะได้ ส.ส. ในสภาประมาณ 10 ที่นั่ง ซึ่งถ้าได้ ส.ส. เขตได้ไปแล้ว 2 คน ก็จะได้มาเพิ่มจากบัญชีรายชื่อมาอีก 8 คน แต่ตรงกันข้ามถ้าหากไม่ได้เลยก็จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด 10 คน หรือถ้าได้ ส.ส. เขตไปแล้ว 12 คน ก็จะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก

ดังนั้นตัวเลขที่ประชาชนไปเลือก ส.ส. เขต จะมีผลต่อการคำนวณที่นั่งของ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อด้วยในตัว และจะไม่มีคะแนนเสียงตกน้ำ เพราะว่าคะแนนของประชาชนที่เลือกแม้ไม่ได้คนในเขตของตนเองเข้ามาเป็น ส.ส. ก็ยังนำมาเป็นคะแนนที่เอาไปคิดในระบบบัญชีรายชื่อที่อาจจะทำให้พรรคการเมืองที่เลือก หรือที่ผู้สมัครสังกัดพรรคที่เลือก ได้ที่นั่งในสภา หรือในระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มเข้ามา

“การที่ท่านกา ไม่เลือกใครเลย จริง ๆ ช่องที่ไม่เลือกใครเลยเคยมีมาในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วแต่ไม่มีผลในการนับหรือผลต่อการเลือกตั้ง แต่ในคราวนี้รัฐธรรมนูญ 60 บอกให้มีผลว่า ถ้าประชาชนในเขตเลือกตั้งหนึ่งเลือกตั้งใดไปกาช่องที่ไม่เลือกใครเลยมากกว่าผู้สมัครที่ได้ที่ 1 สมมุติว่าผู้สมัครที่ได้ที่ 1 ได้ 20,000 คะแนน แต่ว่าคะแนนของเสียงที่ไม่เลือกผู้สมัครคนใดเลยได้ 25,000 จะมีผลทำให้การเลือกตั้งในเขตนั้นไม่มีผลว่าใครได้รับเลือกตั้งและจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งกันใหม่ การจัดการเลือกตั้งกันใหม่ ยังมีผลต่อว่า ผู้สมัครเดิมที่เคยสมัครไปแล้วไม่มีสิทธิลงสมัครอีก เท่ากับว่าในกรณีนี้พรรคการเมืองที่จะต้องมีการส่งผู้สมัครคนใหม่ลงมาแข่งขันกันในเขตเลือกตั้งนั้น และนี่คือผลที่แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา”

โจทย์เลือกตั้ง ประชาชนเลือก “คน พรรค หรือนายกรัฐมนตรี”

“จากเดิมที่ท่านบอกว่า เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ เป็น 2 บัตร เรามารวมอยู่ในบัตรเดียวเพราะระบบการเลือกตั้งต้องการจะบอกว่า ไม่ว่าท่านจะเลือกคนที่รักหรือพรรคที่ชอบ ท่านควรจะให้ความสำคัญกับทั้ง 2 อย่างนี้ที่มันสอดคล้องกัน เพราะงั้นระบบเลือกตั้งกำหนดว่าท่านจะเลือกใครที่ท่านชอบหรือรักแล้วแต่ ก็ต้องเลือกชอบพรรคเขาด้วย ไม่ใช่เลือกพรรคแต่ไม่เลือกคน หรือเลือกคนแต่ไม่เลือกพรรค อันนี้ในระบบบัตรเดียวทำให้ท่านต้องพิจารณาระบบทั้ง 2 อย่างไปด้วยกัน”

เปิดสูตรคำนวณ “คะแนนเลือกตั้ง 62” บัตรใบเดียวมีความหมายอย่างไร

พรรคไหนมีเศษคะแนนมากสุด มีสิทธิเพิ่ม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก่อน (หากที่นั่งในสภายังเหลือ)

สำหรับการคำนวณเพื่อจะดูว่าพรรคนั้นสมควรจะมี ส.ส. ในสภาเท่าไร ตัวเศษก็ขึ้นอยู่กับว่าพรรคอื่น ๆ ว่าเศษมากกว่าหรือไม่ พรรคแต่ละพรรคก็จะได้คะแนนลดหลั่นกันไป โดยทั่วไปเชื่อว่าตัวเต็มพรรคจะได้อยู่แล้ว แต่ปัญหาคือแต่ละพรรคคะแนนเสียงจะมีเศษ ก็จะนับคำนวณไปจนครบ 500 ที่นั่ง พรรคไหนที่มีเศษมากก็จะได้ก่อน

ถ้าได้ ส.ส. เขตเยอะ ค่าเฉลี่ยของพรรคก็มีเยอะตามด้วย ถ้ามีน้อยกว่าก็ทำให้ไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก แต่ตรงกันข้ามถ้าได้คะแนนเสียงพอสมควรแล้วได้ ส.ส. เขตน้อย ก็จะได้เติม ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเข้าไปจนครบ

รู้ไว้ก่อนไปเลือกตั้ง 62 : ส.ส. ทั้งสภา มี 500 คน

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ