นักวิชาการด้านการเงิน โต้ "กรณ์" บิดเบือน ปม “ธนาธร” โอนหุ้นให้"blind trust"


โดย PPTV Online

เผยแพร่




นักวิชาการด้านการเงิน โต้ “กรณ์ จาติกวณิช” บิดเบือน ปม “ธนาธร” โอนหุ้นให้"blind trust" ว่าตรวจสอบไม่ได้ ทำคนเข้าใจผิด

จากกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวถึงการบริหารจัดการทรัพย์สินของตัวเองที่ถือหุ้นธุรกิจเครือซัมมิทมูลค่า 5 พันล้านบาทว่าใช้แนวทาง Blind Trust คือโอนทรัพย์สินไปให้ Trust หรือ กองทุน เป็นผู้ดูแลเพื่อยกระดับมาตรฐานแสดงความจริงใจให้เกิดต่อสาธารณะ

จนนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความตอบโต้ว่า หากต้องการโปร่งใสอย่างแท้จริง ควรขายทรัพย์สิน หรือไม่ก็เปิดเผยข้อมูลให้ตรวจสอบได้ ไม่ใช่โอนเข้าไปในที่ที่ "มองไม่เห็น" เพราะจะยิ่ง "ตรวจสอบไม่ได้"

"ธนาธร" โอน 5,000 ล้านให้ Blind Trust แสดงความบริสุทธิ์ใจบนเส้นทางการเมือง

“กรณ์” สวน “ธนาธร” blind trust ยิ่งมองไม่เห็น ยิ่งตรวจสอบไม่ได้ แนะขายขาดดีสุด

ล่าสุด สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านการเงิน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า โพสต์ของคุณกรณ์ (ดูได้ในเพจ KornChatikavanijDP) ต่อกรณี blind trust คุณธนาธร

กองทุน “Blind trust” แยกการเมืองจากธุรกิจได้จริงหรือ

 

1. ในฐานะนักการเงิน คุณกรณ์ย่อมเข้าใจดีว่า blind trust คือ อะไร มีประโยชน์อย่างไร ทำงานแบบไหนในต่างประเทศ การนำคำว่า "มองไม่เห็น" มาเล่น บิดคำให้กลายเป็นเท่ากับหมายความว่า "ตรวจสอบไม่ได้" จึงไม่ถูกต้อง เพราะ blind ในคำว่า blind trust ไม่ใช่แปลว่าตรวจสอบไม่ได้ คำว่า "มองไม่เห็น" แปลตรงตัวว่า เจ้าของทรัพย์สินไม่มีสิทธิมองเห็นหรือบงการการจัดการทรัพย์สินใดๆ เท่านั้น

2. ไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ blind trust ก็จริง แต่คุณธนาธรก็ได้แสดงความประสงค์ชัดเจนแล้วใน MOU ซึ่งเปิดเผยต่อสาธารณะว่า จะสร้างเงื่อนไขแบบ blind trust ขึ้นมาในสัญญาบริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคล

3. blind trust ที่คุณธนาธรตั้งในครั้งนี้ เป็นการทำสัญญากับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสัญชาติไทย อยู่ในรูปกองทุนส่วนบุคคล (private fund) ในเมืองไทย ซึ่งต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ทุกประการ ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ไม่ใช่ trust ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ (แบบที่คุณกรณ์โพสว่าเคยทำ) และในเมื่อคุณธนาธรยังคงเป็นเจ้าของทรัพย์สิน (กองทุนเพียงแต่รับมอบอำนาจในการจัดการมา) จึงยังต้องรายงานทรัพย์สินถ้าดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามกฎระเบียบของ ปปช. (เหมือนกับที่รัฐมนตรีคนก่อนๆ ที่โอนทรัพย์สินให้กองทุนส่วนบุคคลจัดการ มีหน้าที่ต้องทำเช่นเดียวกัน แต่ย้ำอีกทีว่า ไม่มีข้อมูลค่ะว่ากองทุนเหล่านั้นอันไหนเข้าข่าย blind trust บ้าง)

4. การรายงานทรัพย์สินใน trust นี้ ต่อ ก.ล.ต. และ ป.ป.ช. (ซึ่งเป็นหน้าที่ของ trustee หรือผู้ดูแล trust) จะต้องละเอียดแค่ไหน อย่างไร เป็นเรื่องที่เจ้าของโพสต์นี้ไม่แน่ใจ (เพราะกฎหมาย blind trust ตรงๆ ยังไม่มีนั่นแหละ) แต่ในหลักการ การจัดตั้งโครงสร้างแบบนี้ถือว่าเป็นการวางมาตรการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว ดังนั้นถ้าจะต้องเปิดเผย อย่างมากก็ควรเปิดเผยทรัพย์สินเดิม (ณ ตอนที่สร้าง trust นั้นขึ้นมา เพราะถือว่ามีโอกาสเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนกับทรัพย์สินเดิม เพราะเจ้าของรู้ว่ามีอะไรบ้าง) และยอดรวมของมูลค่าทรัพย์สินใน trust ตามกำหนดการยื่นของ ป.ป.ช. เท่านั้น (เราอยากรู้รายละเอียดทรัพย์สินก็เพราะเจ้าของทรัพย์สินมีอำนาจจัดการ สุ่มเสี่ยงว่าจะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ถ้าเขาโอนอำนาจการจัดการไปแล้ว เราก็ไม่ต้องรู้ละเอียดขนาดนั้นก็ได้)

5. ดังนั้นคำพูดของคุณกรณ์ที่ดูจะชี้นำว่า "มองไม่เห็น" = "ตรวจสอบไม่ได้" จึงไม่เป็นความจริง พูดไม่ครบ และทำให้คนเข้าใจผิดได้ค่ะ เสริมอีกนิดว่า คุณธนาธรเป็นนักการเมืองคนแรกที่รู้จัก

1) ประกาศว่าจะจัดตั้ง blind trust ก่อนรู้ผลการเลือกตั้ง

2) เปิดเผย MOU ต่อสาธารณะ

3) ในสัญญาจะกำหนดข้อบังคับว่า trustee จะต้องไม่ซื้อหุ้นไทย

และ 4) ไม่รับโอนทรัพย์สินคืนจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว 3 ปี – ทั้งสี่ข้อนี้เป็นมาตรฐานสูงที่ไม่เคยเห็นนักการเมืองคนไหนทำมาก่อนค่ะ

เปิดประวัติ “พรรคอนาคตใหม่” เดินหน้าชิงเก้าอี้นายกฯศึกเลือกตั้ง62

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ