นาที !!!! เผ่นขึ้นต้นไผ่หนีเสือโคร่งกลางป่าทุ่งใหญ่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากกรณีที่เฟซบุ๊ก Book Za Sooksun แชร์คลิปตัวเองปีนต้นไผ่ “หนีเสือโคร่ง” ตัวหนึ่ง กลางป่าป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.ตาก พร้อมระบุ...

“การเอาตัวรอดจากเสือทุ่งใหญ่คือปีนต้นไม้ไผ่ให้สูงเข้าไว้เพราะเชื่อว่าเสือปีนไม้ไผ่ไม่ได้ [จริงหรือเปล่าไม่แน่ใจ] เสือจะไม่ทำอะไรเราถ้าเราไม่ทำเสือก่อน เพราะเสือเป็นมิตรกับคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสืออื่นทั่วโลก โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม ให้เสียงภาษาโดยพันธมิตร”

แต่ถ้าไปดูสถานการณ์เสือโคร่งในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเสือโคร่งอินโดจีน 

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้กล่าวถึงเสือโคร่งอินโดจีนในรายงาน สถานะและความหวังของเสือโคร่งอินโดจีน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า เสือโคร่งอินโดจีนที่เคยกระจายตัวอยู่ทั่วไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมาร์เวียดนาม และไทย

“แต่เนื่องจากการพัฒนาหลายๆ ด้านทางสังคม เศรษฐกิจมานานับทศวรรษ เช่น การสร้างถนนไปสู่ถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง ทำให้จำนวนประชากรของพวกมันลดลงอย่างเห็นได้ชัด”

แต่ล่าสุด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพิ่งเปิด “ศูนย์ฝึกอบรมการอนุรักษ์เสือโคร่งอาเซียน” ไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ นิสิตคณะวนศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านอนุรักษ์ในระดับนานาชาติเพื่อเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ความหวังของอนุรักษ์สัตว์ป่าในระดับนานาชาติ ในฐานะที่เป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และผืนป่าแห่งสุดท้าย ที่ยังคงรักษาจำนวนประชากรที่ใหญ่ที่สุดของเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนเอาไว้ได้ โดยมีจำนวนประชากรประมาณ 80 ตัว ซึ่งปัจจุบันเสือโคร่งสายพันธุ์นี้ได้สูญพันธุ์ไปจากป่าในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือแม้แต่เมียนมาร์เองก็เหลือเสือโคร่งสายพันธุ์นี้น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกที่หนึ่งที่ยังคงมีประชากรเสือโคร่งเหลืออยู่ประมาณ 20 ตัว คืออุทยานแห่งชาติทับลานในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายอย่างเต็มที่ เพื่อฟื้นฟูเสือโคร่งเช่นกัน ส่วนผืนป่าอนุรักษ์อื่นๆ ในประเทศ เสือโคร่งเหลืออยู่น้อยมากจนอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ หรืออาจสูญพันธุ์ไปแล้ว

สำหรับเสือโคร่งเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ การจะอนุรักษ์เสือโคร่งให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย สามารถฟื้นฟูและขยายพันธุ์ได้ หมายถึงการที่จะต้องรักษาประชากรสัตว์ป่าอื่นๆ ไว้ได้ โดยเฉพาะกวางป่า กระทิง วัวแดง และอื่นๆ ให้อยู่ในภาวะที่มั่นคงด้วย

ขณะเดียวกัน ภัยคุกคามที่มีต่อเสือโคร่งมีการประเมินว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2543 ถึง เดือนธันวาคม 2558 มีเสือโคร่งอย่างน้อย 1,755 ตัว และอาจมากถึง 2,011 ตัวถูกล่า ตัวเลขนี้มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลเสือที่ถูกยึดเป็นของกลาง ทั้งที่ยังมีชีวิตและตายแล้ว รวมถึงที่เป็นชิ้นส่วนอวัยวะ

รายงานนี้จัดทำโดย Traffic องค์กรเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่า รวบรวมข้อมูลอ้างอิงจากรายงานจำนวน 801 ชิ้น ของการจับกุมใน 13 ประเทศที่ยังมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย ลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย บังคลาเทศ ภูฏาน จัน อินเดีย เนปาล และรัสเซีย

และยังสามารถสรุปได้ว่า ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยใน 1 ปี จะมีเสือโคร่งอย่างน้อย 110 ตัวถูกตรวจยึดและมีรายงานการจับกุม 50 ครั้งต่อปี จนกระทั่งเมื่อปี 2559 เสือโคร่งในประเทศกัมพูชาก็ได้รับการประกาศให้อยู่ในสถานะ “ภาวะสูญพันธุ์โดยปริยาย” (functionally extinct) เพราะประชากรเหลือน้อยมากจนไม่อาจสืบพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ

เห็นแบบนี้แล้วเราควรช่วยกันรักษาให้ประเทศไทยยังเป็นพื้นที่แห่งความหวังให้ประชากรเสือโคร่งเหล่านั้นได้ใช้เป็น “สถานที่หลบภัย” ดั่งที่รายงานได้ระบุไว้ตราบนานเท่านาน

ข้อมูล-ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช,มูลนิธิสืบนาคะเสถียร,AFP,เฟซบุ๊ก Book Za Sooksun 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ