ต่อสัมปทานทางด่วนอีก 30 ปี แลกเสียค่าโง่ 1.3 แสนล้าน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




บอร์ด กทพ.อนุมัติต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน 3 สัญญากับ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ออกไป 30 ปี แลกยุติคดีข้อพิพาท 1.3 แสนล้านบาท เผยสัญญาไกลสุดจบที่ปี 2600

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย  เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กทพ.ว่าที่ประชุมได้มีมติรับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณา แนวทางดำเนินการคดีข้อพิพาทระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยอนุมัติให้มีการต่อขยายสัญญาสัมปทานของ BEM ออกไป จำนวน 3 สัญญา ออกไปสัญญาละ 30 ปี ได้แก่ โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A ,B ,C ), ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D และ โครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C +) และจะดำเนินการในขบวนการยกเลิกการฟ้องร้องคดีต่างๆ ต่อไป

ก่อนหน้านี้ กทพ.ตกลงที่จะปรับปรุงแก้ไขสัญญาสัมปทานให้กับ BEM ได้แก่ การขยายระยะเวลาของสัญญาสัมปทานทั้ง 3 สัญญา ออกไปสิ้นสุดในปี 2600 หรือขยายเวลาออกไป 37 ปี จากเดิมที่สัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 สัญญาเพื่อการต่อขยายโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนดี) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด จะสิ้นสุดในปี 2563 ปี 2570 และ ปี 2569 ตามลำดับ         

เด้งฟ้าฝ่า! ผู้ว่า กทพ. เซ่นปมชดเชยคดีทางด่วน

อนุญาโตตุลาการ สั่งการทางพิเศษฯ จ่าย “บีอีเอ็ม” 9 พันล้าน เหตุขึ้นค่าทางด่วนไม่เป็นธรรม

นายสุรงค์ กล่าวว่า ข้อพิพาททั้งหมด ระหว่างกทพ.และ BEM มีมูลค่าทั้งหมดประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย ซึ่งมีคดีที่ถึงที่สุดแล้ว คือกรณีทางแข่งขัน มูลหนี้ค่าชดเชย 4.3 พันล้านบาท ซึ่งนับจากศาลมีคำตัดสิน เดือน ก.ย. 2561 ยังจะมีดอกเบี้ยเพิ่มอีก ยังมีข้อพิพาทที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอีก โดยรวมได้มีการเจรจาปรับลดมูลหนี้จาก ข้อพิพาทมาเจรจาที่ประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งกรณีต่อสัญญาอีก 30 ปี จะทำให้ล้างหนี้ทั้งหมดออกไป

 ทั้งนี้ ในเงื่อนไขการเจรจา และการขยายสัญญาออกไป 30 ปี ได้แก่ 1.จะไม่มีข้อพิพาทเรื่องกรณีทางแข่งขันเกิดขึ้นอีก 2. กำหนดการปรับค่าผ่านทางชัดเจน โดยปรับทุก 10 ปี (ครั้งละ 10 บาท) 3. มีการปรับลดค่าผ่านทางในบางด่าน เช่น ด่านอาจณรงค์1 (ทางลงด่วนขั้นที่1) เพื่อระบายปริมาณจราจร   4.เอกชน จะต้องก่อสร้าง Double Deck ลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และได้รับอนุมัติภายใน 2 ปี หากEIA ไม่ผ่าน ถือเป็นความเสี่ยงของเอกชน เพราะหากไม่สามารถก่อสร้างได้ จะปรับลดการขยายอายุสัญญาจาก 30 ปี เหลือ 15 ปี ในส่วนของ ทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน A ,B ,C )  5. ก่อสร้างทางขึ้น-ลงเชื่อมเข้าศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และสถานีกลางบางซื่อ

จ่อขึ้นค่าทางด่วนเพิ่ม 5 บาท 2 เส้นทางเคาะราคาปีหน้า

นายสุทธิศักดิ์ วรรธนวินิจ รองผู้ว่าการฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทำการแทนผู้ว่าฯ กทพ.กล่าวว่า กทพ.จะเร่งส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อให้คณะกรรมการกำกับสัญญา พิจารณาและเสนอครม.ต่อไป โดยระหว่างนี้อัยการสูงสุดจะตรวจร่างสัญญา ซึ่งหากครม.เห็นชอบตามผลการเจรจาการขยายเวลาสัญญาทางด่วนแต่ละสัญญาออกไป 30 ปี จะมีการเซ็นสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม กับ BEM ใน 3 โครงการ ดังกล่าว ทั้งนี้ ในส่วนของสัญญาเดิมที่จะยังไม่สิ้นสุด จะยังคงเป็นไปตามตามเงื่อนไขเดิมจนครบสัญญาเดิม

รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีดังกล่าวเนื่องจากศาลปกครองมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 61 ให้ กทพ.จ่ายเงินชดเชยแก่บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด กรณีมีการสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต เป็นทางแข่งขันวงเงิน 4,200 ล้านบาท และกรณีรวมข้อพิพาทการปรับค่าผ่านทาง ที่พิพาททั้งหมดกับ BEM ทำให้มีวงเงินรวมกันประมาณ 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งคณะอนุกรรมการฯได้เจรจาลดวงเงิน มาอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท โดยขยายอายุสัญญาสัมปทาน ทางด่วนขั้น 2 ออกไปอีก 37 ปี โดยสัญญาสัมปทานเดิมจะสิ้นสุด ในเดือนก.พ. 2563 ขณะที่เอกชนจะมีการลงทุนประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ในการก่อสร้างทางเพิ่มเป็นทางด่วนชั้นที่ 2 จากอโศก-ประชาชื่น ระยะทาง 17 กม.

 

ทั้งนี้ กรณีการต่อสัญญา 37 ปี ยังมีข้อทักท้วงจากหลายฝ่าย บอร์ดจึงให้แนวทางเพิ่มเติมในการเจรจาลดระยะเวลาการขยายสัมปทานลดลงจาก 37 ปี ซึ่งทางเอกชนอาจจะต้องลดการลงทุนลงในการเจรจาต่อรอง

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ