“ภัยแล้ง” ผลกระทบที่เกษตรกรต้องรับมือ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีปัญหาภัยแล้ง ที่กำลังประสบอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วไทย จนไปถึงการขอความร่วมมืองดการปลูกข้าวนาปรัง หรือ กรณีปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร รวมถึง การขาดแคลนน้ำในการอุปโภค-บริโภค มีมาให้ได้เห็นทุกวัน ฉะนั้นปัญหาภัยแล้งปีนี้จะเป็นวิกฤติของเกษตรกรหรือไม่ น่ากังวลขนาดไหน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ ที่ยังคงวิกฤติ ชาวนาในพื้นที่ หมู่ 11 ตำบลทับกฤช อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ต้องปล่อยให้ต้นข้าวที่อายุกว่า 1 เดือน ยืนต้นแห้งตายเป็นจำนวนรวมกว่านับพันไร่ หลังน้ำในคลองสาธารณะที่เชื่อมต่อกับบึงบอระเพ็ด และบ่อน้ำที่กักเก็บไว้ในพื้นที่แห้งขอดจนไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาทำการเกษตรได้ สร้างความเสียหายและขาดทุนอย่างหนัก ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นในอีกหลายพื้นที่

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจยาวนานขึ้น แต่อยู่ในวงจำกัด คาดว่ามูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 1,000 ล้านบาท หากภัยแล้งลากยาวไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2562 อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 17,300 ล้านบาท โดยประเมินความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก

โดยสวนทางกับศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ระบุว่า ผลกระทบปัญหาภัยแล้งต่อเศรษฐกิจ ปี 2562 จะส่งผลกระทบต่อความเสียหายทางด้านต้นทุนเพียง 180 ล้านบาท โดยคาดว่าภัยแล้งกระทบพื้นที่เพาะปลูกเพียง 20,000 ไร่ แต่เชื่อมั่นว่าจะกรมชลประทานจะสามารถบริหารจัดการให้เพียงพอต่อการใช้ของเกษตรกร จนสามารถเก็บเกี่ยวได้ ไม่มีความเสียหายที่รุนแรง เนื่องจากมีมาตรการต่าง ๆ รองรับอยู่แล้ว เช่น การระบายระดับชลประทาน การแจกจ่ายน้ำ และการทำฝนเทียม

ด้าน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงเกิดภัยแล้งและแนวทางการให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมา ในระยะสั้นได้จัดหารถบรรทุกน้ำแจกจ่ายในพื้นที่ประสบภัย จัดซื้อภาชนะบรรจุสำรองน้ำ ซ่อมแซม ขุดบ่อบาดาล ขุดลอกแหล่งน้ำ ก่อสร้างและซ่อมแซมระบบกระจายน้ำ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ สามารถผ่านพ้นฤดูแล้งปีนี้ไปได้ ส่วนในระยะกลาง คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบกลางจำนวน 1,226 ล้านบาท เพื่อเพิ่มความจุให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และแหล่งน้ำอื่น ๆ  ทั้งนี้ ในแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศมีปริมาณน้ำ 45,476 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 56 เปอร์เซ็นต์ ของปริมาณน้ำ และศักยภาพน้ำบาดาล 1,228 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

กมลธร โกมารทัต รายงาน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ