คำสั่ง 66/23 "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" สลายขัดแย้ง-ยุติสู้รบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ร่วมรำลึก “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษ และประธานองคมนตรี ซึ่งท่านถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบในเช้าที่ 26 พ.ค. 2562 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

พล.อ.เปรม ถือเป็นบุคคลสำคัญได้สร้างอเนกประการให้ประเทศในหลายด้านๆ โดยเฉพาะนโยบายแก้ปัญหาความแตกแยกในชาติ ช่วงที่ถูกอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาแทรกแซงประเทศไทย จนคนไทยต้องแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจับอาวุธประหัตประหารกัน

ประวัติ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” นายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ของไทย

ย้อนกลับไปในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การปราบปรามคอมมิวนิสต์มีลักษณะที่รุนแรง ทำการจับกุมคุมขังและประหารชีวิตผู้ต้องหาคอมมิวนิสต์

ต่อมาในปี 2508 – 2509 ภายใต้รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร การปราบปรามของรัฐก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น ในปี 2510 จอมพลถนอม เริ่มใช้มาตรการการปราบปรามด้วยทหาร ตำรวจ พลเรือน ควบคู่ไปกับการพัฒนา แต่ก็ยังความรุนแรงอยู่มีการจับกุมแบบเหวี่ยงแห ใช้หลักการปราบปรามให้สิ้นซากด้วยกำลังทหาร ในภาคใต้มีการปราบปรามอย่างรุนแรงโดยใช้วิธีที่เรียกว่า “ถีบลงเขาเผาลงถังแดง” มีการเผาหมู่บ้านนาทรายในภาคอีสาน

ต่อมาในปี 2512 เริ่มใช้มาตรการทางการเมืองแทนการทหาร แต่ก็ไม่ได้ผลมากนัก ปี 2518 รัฐบาลจึงเริ่มใช้วิธีการจัดตั้งกลุ่มพลังเป็นหน่วยต่างๆ เพื่อร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่การปราบปรามก็ยังมีลักษณะที่รุนแรงอยู่เช่นเดิม โดยเฉพาะการปราบปรามนิสิตนักศึกษาในกรณี 6 ตุลาคม 2519

การปราบปรามดังกล่าวกลับส่งเสริมให้พรรคคอมมิวนิสต์เจริญเติบโตยิ่งขึ้นมีนักศึกษาและประชาชนหลั่งไหลเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จนขยายพื้นที่ปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลในสมัยต่อมาได้ข้อสรุปว่า การปราบปรามคอมมิวนิสต์โดยใช้วิธีการที่รุนแรงนั้น ผลมักออกมาในทางตรงกันข้าม

ในเวลาต่อมา การเมืองไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ถูกรัฐประหารโค่นอำนาจลงในเดือนตุลาคม  2520 รัฐบาลชุดใหม่ ของพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2521 ได้ใช้นโยบายผ่อนปรนทางการเมือง ยอมเปิดให้มีประชาธิปไตย และการเลือกตั้ง, เปิดความสัมพันธ์กับประเทศสังคมนิยมอีกครั้ง และประกาศนิรโทษกรรมนักศึกษาที่ถูกจับกรณี 6 ตุลา

ในเดือนมีนาคม 2523 พล.อ.เปรม ได้รับแต่งตั้งจากสภาฯ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก หลังจากนั้น ในวันที่ 23 เมษายน 2523 จึงมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 โดยกำหนดนโยบายสำคัญในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ เน้นการเมืองนำการทหาร ยึดถือปรัชญา “สันติภาพเป็นรากฐานของความมั่นคง และความมั่นคงอันถาวร"

นโยบายดังกล่าวส่งผลเสียต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยอย่างหนัก เกิดความแตกแยกระส่ำระสายภายในขบวนการและนำไปสู่การแยกตัวของสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมาก

สุดท้ายสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และมวลชน ยอมวางอาวุธ ทยอยเดินออกจากป่าเข้าร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย สิ้นสุดการจับอาวุธต่อสู้กัน

พล.อ.เปรม รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2531 รวมทั้งสิ้นเป็น 8 ปี 5 เดือน

“ในหลวง” ยกย่อง “พล.อ.เปรม” ทำคุณเพื่อแผ่นดินและจงรักภักดี

หลังพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พล.อ.เปรม เป็นองคมนตรี และ ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้เป็น “รัฐบุรุษ” เพราะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และ จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พนะมหากษัตริย์ จนเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน

อุปทูตสหรัฐฯ แถลงการณ์ อาลัย “พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์”

นายกฯ แสดงความอาลัย “พลเอก เปรม ติณสูลานนท์”

ที่มา:เนื้อหาบางส่วนจากสถาบันพระปกเกล้า 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ