เปิดตัวเลขคนเลิกบุหรี่ "แสนคน" ประหยัดเงินซื้อ 12 ล้านบาทต่อวัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กระทรวงสาธารณสุข จับมือ สสส.และภาคี เผย 3 ปี คนเลิกบุหรี่ 6 เดือนขึ้นไป 1.1 แสนคน จาก 2.9 ล้านคน ลดค่าใช้จ่ายซื้อบุหรี่ 12 ล้านบาทต่อวัน หรือมากกว่า 4,600 ล้านบาทต่อปี

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน  ว่า ได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายหมออนามัยชวนและรณรงค์ให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่ จำนวน 3 ล้านคน ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งขณะนี้มีผู้สมัครใจเลิกบุหรี่แล้ว 2,950,472 คน “มีผู้ที่เลิกบุหรี่ได้ 6 เดือนขึ้นไป จำนวน 116,405 คน”

หากนำมาเปรียบเทียบจะพบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อบุหรี่เทียบ 1 วันต่อ 1 ซอง โดยค่าเฉลี่ยราคาบุหรี่อยู่ที่ 116 บาทต่อซอง ทำให้ประหยัดเงินซื้อได้ถึง 12 ล้านกว่าบาทต่อวัน หรือมากกว่า 4,600 ล้านบาทต่อปี นั่นคือการลดรายจ่ายให้ผู้สูบและครอบครัว และยังสร้างสุขภาพที่ดีควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้ ยังพบว่าหากเลิกได้นาน 3-9 เดือน อาการไอและการหายใจ การทำงานของปอดจะดีขึ้น หากเลิกสูบ 5 ปี ความเสี่ยงโรคหัวใจลดลงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับคนที่ยังสูบบุหรี่อยู่ สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ที่ระบุว่าผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตปีละ 5 หมื่นกว่าคน ตายเป็นอันดับหนึ่งคือ โรคมะเร็ง รองลงมาโรคหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งปี 7 หมื่นกว่าล้านบาท และคิดเป็น 18% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด  จึงอยากให้วันงดสูบบุหรี่โลก  31 พ.ค. นี้เป็นวันเริ่มต้นของผู้ที่กำลังจะเลิกสูบบุหรี่

ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า บุหรี่คร่าชีวิตคนสูบปีละ6 ล้านคน และยังมีคนอีกเกือบ 9 แสนรายที่เสียชีวิตเพราะต้องอยู่ใกล้ชิดกับควันบุหรี่ แม้ว่าในศตวรรษที่ 16 ต้นยาสูบนิโคเทียนา (Nicotiana) ได้รับการขนานนามว่าเป็น "สมุนไพรศักดิ์สิทธิ์" และ "การรักษาเยียวยาของพระเจ้า" ก็ตาม แต่ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศพยายามรณรงค์เรื่อง ภัยจากบุหรี่ มากขึ้น เช่น ห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะที่ไม่มีอากาศถ่ายเท ตระหนักรู้ถึงโทษ บางประเทศบังคับให้ติดรูปคนไข้ระยะสุดท้ายจากพิษบุหรี่บนซองบุหรี่ หรือในอังกฤษมีการใช้ตุ๊กตาชื่อ Smokey Sue เพื่อสอนผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ถึงโทษบุหรี่ต่อทารก เป้นต้น 

และในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกถือว่า บูหรี่เป็น "โรคระบาด" และ "ภัยสุขภาพร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งที่โลกเคยเผชิญ" และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ใช้นโยบายต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้คนสูบบุหรี่ เช่น จำกัดโฆษณา การให้เงินสนับสนุนโดยบริษัทผู้ผลิตยาสูบ และขึ้นภาษีบุหรี่ 

โดยในปี 2016 มีคนสูบบุหรี่น้อยลง ร้อยละ 20 จากคนทั้งโลก แต่ก็ยังไม่ได้ตามเป้าหมายที่นานาชาติตกลงกันไว้ รวมถึงขณะนี้ "มีผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่ 1.1 พันล้านคน โดยร้อยละ 80 เป็นคนจากประเทศที่มีรายรับระดับกลางและต่ำ"
 

"โรงงานยาสูบ 4,000 ล้าน" ความย้อนแย้งของรัฐหาเงินให้คน "ลด ละ เลิก"

เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าท้ามูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ดีเบต ข้อดี-เสีย “บุหรี่ไฟฟ้า”

โรงงานยาสูบเผยยอดขายบุหรี่ลดลงร้อยละ 3

"บุหรี่" มัจจุราชสีเทาเพื่อนตายสิงห์นักสูบ (คลิป)

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ