ผิดกฎหมาย !! สูบบุหรี่ในบ้าน ดีเดย์ 20 ส.ค.นี้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เริ่ม 20 ส.ค.นี้ สูบบุหรี่ในบ้านผิดกฎหมาย ฐานความรุนแรงในครอบครัว ชี้ เพื่อคุ้มครองคนในบ้าน

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าว "บ้านปลอดบุหรี่ ลดความรุนแรงต่อสุขภาพ" ในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 18 ว่า สถานการณ์การบริโภคยาสูบในประเทศไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มค่อนข้างคงที่ โดย ศจย.ศึกษาพบว่า มีครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ มากถึง 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยเฉลี่ยมากถึง 10,333,653 คน มีผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่มีสามีสูบบุหรี่ หรือผู้ที่ทำงานในสถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น 24% และ 19% ตามลำดับ

ศ.นพ.รณชัย กล่าวว่า เด็กทารกที่มีผู้ปกครองสูบบุหรี่มีโอกาสเกิดภาวะไหลตายเพิ่มขึ้น 2 เท่า มีโอกาสเกิดหลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบเพิ่มขึ้น 47% และมีโอกาสเป็นโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 39% จากการสำรวจปัญหาความรุนแรงในครอบครัวไทยทั่วประเทศ ในปี 2561 โดย ศจย คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบมีครอบครัวที่ถูกสำรวจถึง 49 % มีสมาชิกในครอบครัวสูบบุหรี่ และพบมีความสัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ด้านนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า อีกไม่นานการสูบบุหรี่ภายในบ้านจะสามารถเอาผิดตามกฎหมายได้ เนื่องจากขณะนี้มีการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยจะมีผลบังคับใช้ในอีก 90 วัน คือ วันที่ 20 ส.ค. 2562 ซึ่งการสูบบุหรี่ในบ้านจะสามารถเอาผิดได้ในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว เนื่องจากคำนิยามของความรุนแรงในครอบครัวนั้น รวมถึงการทำอันตรายต่อสุขภาพด้วย

นายเลิศปัญญา กล่าวว่า หากได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ในบ้าน หรือพบเห็นผู้ที่ได้รับผลกระทบก็สามารถร้องไปศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัว ที่มีอยู่ทุกจังหวัด หรือ พม.จังหวัดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล และให้บุคลากรทางการแพทย์พิสูจน์ว่าได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการสูบบุหรี่จริงหรือไม่ หากได้รับผลกระทบจริง หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมฯ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพ โดยศาลสามารถสั่งให้ออกห่างจากคู่กรณีและให้ไปบำบัดรักษาปรับพฤติกรรมได้ ส่วนโทษความรุนแรงในครอบครัว จะใช้คดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาแทน ซึ่งโทษขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่ได้รับ เรียกว่า 1 คดีส่งขึ้น 2 ศาล ก็จะทำให้เกิดความเกรงกลัวมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่บุหรี่ แต่การได้รับผลกระทบจากยาเสพติดหรือสุราก็สามารถร้องเอาผิดได้

"อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องของความคุ้มครองภายในครอบครัวเท่านั้น หากในบ้านมีเด็ก แต่คนในบ้านไม่ได้สูบบุหรี่ แต่เป็นข้างบ้านที่สูบแล้วได้รับผลกระทบ จะไม่เข้าข่ายกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องของในครอบครัว แต่อาจจะต้องไปใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กแทน" นายเลิศปัญญา กล่าว

ด้านรศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล กล่าวว่า การสูบบุหรี่ในบ้านทำให้คนในบ้านได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสอง และเมื่อสารพษตกค้างตามเสื้อผ้า ผนัง เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ก็จะได้รับสารพิษเหล่านี้ด้วย เรียกว่ารับควันบุหรี่มือสาม ดังนั้น ควันบุหรี่ถือเป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายที่สุดในบ้าน แม้ผู้ปกครองจะไม่ได้สูบบุหรี่ในบ้าน สูบในบ้านตอนไม่มีใครอยู่ หรือสูบนอกบ้านแล้วกลับเข้ามา ก็ยังคงมีสารพิษตกค้างอยู่ภายในบ้านได้ ทั้งนี้ จากการสำรวจศูนย์เด็กเล็กในกรุงเทพมหานคร (กทม.) จำนวน 122 ครัวเรือน พบว่า มีผู้สูบบุหรี่อาศัยอยู่กับเด็ก ส่วนใหญ่บอกว่าเป็นการสูบบุหรี่นอกบ้าน จากการตรวจสารโคตินินในปัสสาวะของเด็ก พบปริมาณสารสูงถึง 2 นาโนกรัมต่อซีซี ถึง 16% แต่จากการให้เข้าบำบัดด้วยโปรแกรมเลิกบุหรี่ พบว่า 1 ใน 3 ประสบความสำเร็จในการลดเลิกสูบบุหรี่ ขณะที่การเก็บข้อมูลผู้ป่วยเด็กที่มาฉีดวัคซีนที่ รพ.รามาธิบดี จำนวน 75 ราย ที่มีประวัติมีคนในบ้านสูบบุหรี่ พบว่า 76% เจอสารโคตินินในปัสสาวะของเด็ก โดยจำนวนนี้ 43% มีค่าสูงเกิน 2 นาโนกรัมต่อซีซีถึง 2 เท่า โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการอาศัยเป็นยูนิทรวม เช่น คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์ ทาวน์เฮาส์ และหากคนในบ้านสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน ก็จะเจอสารโคตินินในปัสสาวะเด็กมากกว่าเกือบ 2 เท่าเช่นกัน

"กฎหมายใหม่ของ พม.มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้เกิดการคุ้มครองคนในครอบครัวจากการสูบบุหรี่ แต่เรามีข้อเสนออีก 3 ประการ คือ 1.ครัวเรือนควรรับรู้เรื่องพิษภัยของบุหรี่ โดยเฉพาะเรื่องพิษมือสองมือสาม และพิษต่อเด็ก 2.ผู้ให้บริการ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข เมื่อตรวจสุขภาพเด็กหรือฉีดวัคซีน หากทราบประวัติของเด็กว่าคนในบ้านมีการสูบบุหรี่ ควรมีการดำเนินการให้คนในบ้านเข้ารับการบำบัด เพราะหากไม่ดำเนินการจะเข้าข่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการคุ้มครองเด็ก คือ การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม และ 3.การสูบบุหรี่ในพื้นที่ยูนิตรวม เช่น คอนโด อพาร์ทเมนท์ ถือเป็นการทำร้ายผู้อื่น เพราะเป็นสถานที่ที่ใช้อากาศร่วมกัน จึงควรมีการห้ามไม่ให้มีการสูบบุหรี่ภายในห้อง หรือนิติบุคคลต้องประกาศให้ชัดแต่แรกไปเลยว่า โครงการนี้ห้ามสูบบุหรี่ในห้องหรือสูบได้ เพื่อให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อ หากปล่อยให้สูบได้จะได้ไม่ซื้อ เพราะก็เหมือนกับการเลี้ยงสุนัขหรือแมวในห้องที่ยังมีการห้าม แต่นี่การสูบบุหรี่ที่เป็นการทำร้ายร่างกายคนอื่น ก็ควรใช้หลักคิดเดียวกันหรือไม่ รวมถึงการสูบบุหรี่ในรถสาธารณะด้วย" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าว

 

เรื่องราวของ “ฮีโร่” สุดยอดพ่อ เลิกบุหรี่เพื่อลูก (คลิป)

“แวร์ โซว” หักดิบเลิกบุหรี่เพื่อลูก หนุน “วันแม่” สานสร้างครอบครัว

เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าท้ามูลนิธิรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ ดีเบต ข้อดี-เสีย “บุหรี่ไฟฟ้า”

 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ