103 ปี “สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




วันนี้ (25 มิ.ย. 62) เว็บไซต์ google ปรับเปลี่ยนหน้าตา doodle เป็นภาพสถานีรถไฟกรุงเทพเนื่องในโอกาสครบ 103 ปี สถานีรถไฟสุดคลาสสิคของเมืองไทยแต่คนมักนิยมเรียกว่าหัวลำโพง ทั้งที่ในความเป็นจริง สถานีรถไฟหัวลำโพง อยู่แค่ฝั่งตรงข้ามเพียงแต่ตอนนี้กลายเป็นถนนพระราม 4 ไปแล้ว

สถานีรถไฟหัวลำโพง คือ ชื่อของสถานีรถไฟสายปากน้ำ ซึ่งทางรถไฟสายแรกสุดของประเทศไทย เปิดการเดินรถครั้งแรก 11 เมษายน พ.ศ. 2436 ตัวอาคารสถานีหัวลำโพงอยู่บริเวณริมคลองหัวลำโพง ปัจจุบันก็คือถนนพระราม 4 ตรงข้ามกับที่ตั้งของสถานีรถไฟกรุงเทพในปัจจุบัน แต่หยุดให้บริการไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2503

ส่วนสถานีรถไฟที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ สถานีรถไฟกรุงเทพ ก่อสร้างขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ในปี พ.ศ. 2453 และสร้างเสร็จพร้อมเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6)

รูปแบบลักษณะโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะแบบเรอเนสซองซ์ คล้ายกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี ประดับด้วยหินอ่อนและเพดานมีการสลักลายนูนต่าง ๆ เป็นหลัก “อาคารทรงโค้งครึ่งวงกลมศิลปะอิตาเลียน เรเนสซองส์” ออกแบบโดย มิสเตอร์ มาริโอ ตามันโญ ชาวอิตาลี สถาปนิกสยามผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม

ในปัจจุบันมีเส้นทางที่ออกจากสถานีหัวลำโพง 4 สาย ได้แก่ ทางรถไฟสายเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ ปลายทาง สถานีรถไฟเชียงใหม่ ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นทางอยู่ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระจะแยกออกเป็น 2 สาย คือ ปลายทางสถานีรถไฟอุบลราชธานี และ ปลายทางสถานีรถไฟหนองคาย ทางรถไฟสายตะวันออก ต้นทางสถานีรถไฟกรุงเทพเมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทราแล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ ปลายทางสถานีรถไฟอรัญประเทศ และปลายทางสถานีรถไฟบ้านพลูตาหลวง ทางรถไฟสายใต้ ต้นทางสถานีกรุงเทพ และสถานีธนบุรี เมื่อถึงสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่แล้วแยกออกเป็น 2 สาย คือ ปลายทางสถานีรถไฟบัตเตอร์เวอร์ธ ประเทศมาเลเซีย และปลายทางสถานีรถไฟสุไหงโก-ลก

นอกจากนั้น สถานีรถไฟกรุงเทพในปัจจุบันยังมีสถานีหัวลำโพงในเส้นทางของรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายเฉลิมรัชมงคล ให้บริการอยู่ภายในชั้นใต้ดินของสถานีรถไฟ

สำหรับตัวสถานีแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ อาคารมุขหน้า มีลักษณะเหมือนระเบียงยาว และอาคารโถงสถานีเป็นอาคารหลังคาโค้งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก คือ เป็นงานเลียนแบบสถาปัตยกรรมโบราณของกรีก - โรมัน จุดเด่นของสถานีหัวลำโพงอีกอย่างหนึ่งคือ กระจกสีที่ช่องระบายอากาศ ทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งประดับไว้อย่างผสมผสานกลมกลืนกับตัวอาคาร เช่นเดียวกับนาฬิกาบอกเวลาซึ่งติดตั้งไว้กลางส่วนโค้งของอาคารด้านในและด้าน นอก โดยเป็นนาฬิกาที่สั่งทำขึ้นพิเศษเป็นการเฉพาะ ไม่ระบุชื่อบริษัทผู้ผลิตเหมือนนาฬิกาทั่ว ๆ ไป บริเวณที่พักผู้โดยสารเป็นห้องโถงชั้นครึ่ง ชั้นล่างซึ่งมีที่นั่งจำนวนมาก มีร้านค้าหลากหลาย ได้แก่ ร้านอาหาร ขนม เครื่องดื่ม ผลไม้ ขนมปัง ไอศกรีม หนังสือ ร้านขายยา ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ผนังด้านซ้ายและขวาของสถานีกรุงเทพมีภาพเขียนสีน้ำ เป็นภาพสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ของประเทศ เช่น พระบรมมหาราชวัง ตลาดน้ำ เขาวัง ภูกระดึง หาดสมิหลา ฯลฯ

ส่วนด้านหน้าสถานีมีสวนหย่อมและน้ำพุสำหรับประชาชน โดยข้าราชการรถไฟได้รวบรวมทุนทรัพย์ 9,150.บาท จัดสร้างอนุสาวรีย์น้อมเกล้าฯ อุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระพุทธเจ้าหลวง อนุสาวรีย์ที่ว่านี้เป็นรูป “ช้างสามเศียร” มีพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แกะสลักเป็นภาพนูนสูงประดิษฐานอยู่ด้านบน

ที่มา รถไฟไทยดอทคอม - Rotfaithai.Com , wikipedia

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ