จี้ อุตฯสั่งโรงงานสมุทรสาคร จัดการตะกรันอลูมิเนียม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ยังไม่สั่งการให้โรงงานผลิตอลูมิเนียมรับผิดชอบเอาตะกรันอลูมิเนียมออกจากที่ดินของเอกชน อ้างขอเวลาตรวจพิสูจน์ก่อนว่าเป็นตะกรันอลูมิเนียมที่มาจากโรงงานจริงหรือไม่ แต่นักวิชาการสิ่งแวดล้อมเคราะห์ว่า ในเมื่อโรงงานยอมรับแล้วว่าเป็นตะกรันอลูมิเนียมของโรงงาน แม้จะอ้างว่าถูกขโมยไปทิ้งบนที่เอกชน แต่อุตสาหกรรมสามารถสั่งการให้โรงงานรับผิดชอบได้เลย ย้อนกลับไปฟังเสียงบุคคลที่อ้างว่าเป็นที่ปรึกษาของโรงงาน ซึ่งเปิดโรงงานให้เข้าตรวจเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ (28 มิ.ย. 62) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ที่ปรึกษากรรมการบริษัทผลิตอลูมิเนียม ใน ต.บางกระเจ้า อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ที่ขอไม่ให้เปิดเผยชื่อโรงงาน ยอมรับว่า ตะกรันอลูมิเนียมที่ถูกทิ้งบนที่ดินเอกชนติดกับโรงงาน เป็นของโรงงานแห่งนี้ แต่อ้างว่าอาจถูกคนงานขโมยออกไปขาย เพราะมีมูลค่า สามารถนำกลับมาหลอมใหม่ได้ และยังไม่มีคำสั่งลงโทษใดๆจากหน่วยงานกำกับดูแล

ทีมข่าว PPTV สอบถาม นายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้คำตอบว่า แม้โรงงานจะอ้างว่า ตะกรันอลูมิเนียมถูกขโมยออกไป แต่ก็ถือเป็นการยอมรับแล้วว่า ตะกรันอลูมิเนียมเป็นของโรงงานจริง อุตสาหกรรมจังหวัด จึงควรสั่งให้โรงงานแห่งนี้รับผิดชอบตามกฎหมาย เพราะตะกรันอลูมิเนียมถือเป็นวัตถุอันตราย

ส่วนประเด็นที่โรงงานผลิตอลูมิเนียม อ้างว่า ตะกรันอลูมิเนียมในโรงงานสามารถนำกลับมาหลอมใหม่ได้ เพราะไม่ใช่วัตถุอันตรายที่ต้องส่งไปกำจัดทั้งหมด ทำให้นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม โต้แย้งทันที เพราะการที่โรงงานอ้างถึงการนำตะกรันอลูมิเนียมกลับมาหลอมใหม่ หมายความว่า โรงงานแห่งนี้ ต้องมีใบอนุญาตประเภท 106 คือ ขอเปิดเป็นกิจการโรงงานรีไซเคิลด้วย แต่ใบอนุญาตที่นำมาแสดง เป็นโรงงานประเภทที่ 60 และ 64(10) คือขอประกอบกิจการผลิตอลูมิเนียมรูปหน้าตัด และวงกบประตู-หน้าต่างอลูมิเนียม และการชุปเส้นอลูมิเนียมเท่านั้น ไม่มีใบอนูญาตให้รีไซเคิล

นายจารึก ธรรมสุนทร อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ PPTV โดยระบุว่า ยังไม่สามารถสั่งให้โรงงานรับผิดชอบตามที่นักวิชาการระบุได้ แม้โรงงานจะยอมรับว่าเป็นเจ้าของตะกรันอลูมิเนียมที่ถูกทิ้ง เพราะเป็นเพียงการยอมรับด้วยวาจา ยังไม่ลงชื่อยอมรับเป็นลายลักษณ์อักษร จึงขอเวลาตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าโรงงานกระทำผิดหรือไม่ ซึ่งได้ทำหนังสือประสานให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสิ่งแวดล้อมจังหวัดเข้าไปเก็บตัวอย่างตะกรันอลูมิเนียมบนที่ดินเอกชน เพื่อไปตรวจพิสูจน์ว่ามาจากโรงงานจริงหรือไม่

แต่นักวิชาการ อธิบายกฎกระทรวงอุตสาหกรรมว่า หากโรงงานปฏิเสธว่า “ตะกรันอลูมิเนียม” ไม่ช่ของโรงงาน  กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะต้องกำจัดตะกรันอลูมิเนียมออกไปก่อน  โดยใช้งบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อน จากนั้นค่อยสืบหาว่าโรงงานใดเป็นเจ้าของตะกรันอลูมิเนียม จึงไปเรียกเก็บค่าดำเนินการกับโรงงานนั้น โดยอาศัย มาตรา 37 ของ พ.ร.บ.โรงงาน สั่งให้โรงงานปรับปรุง และหากไม่มีการแก้ไข ยังสามารถบังคับใช้มาตรา 39 สั่งปิดโรงงาน แต่หากอุตสาหกรรมจังหวัดหรือกรมโรงงานไม่ดำเนินการ อาจเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งผู้เสียหายสามารถไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ