“ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ของกลาง หาย 3,000 ตัน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกอายัดเป็นของกลางในโรงงานรีไซเคิล ที่ จ.ฉะเชิงเทรา หายไปจากโรงงานรวมเป็นจำนวนประมาณ 3000 ตัน ซึ่งต้องเร่งสืบสวนหาเส้นทางการขนย้าย

แม้ว่าจนถึงขณะนี้ จะยังต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงว่า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ที่ถูกนำมากองไว้เพื่อคัดแยกหาสิ่งที่มีมูลค่าใน อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว เป็นของโรงงานคัดแยกขยะใน จ.ระยอง ซึ่งอ้างว่า ประมูลมาจากโรงงานบดย่อยเหล็กจากรถยนต์ที่ จ.ชลบุรี จริงหรือไม่ เพราะยังมีข้อสงสัยหลายจุด แต่วันนี้ ทีมข่าว PPTV ได้รับการเปิดเผยจากรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกอายัดเป็นของกลางในโรงงานรีไซเคิล ที่ จ.ฉะเชิงเทรา หายไปจากโรงงานรวมเป็นจำนวนประมาณ 3000 ตัน ซึ่งต้องเร่งสืบสวนหาเส้นทางการขนย้าย

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของกลางที่หายไประหว่างถูกอายัด มาจาก 2 บริษัท คือ บริษัท ดับบลิว เอ็ม ดี รีไซคลิ้ง ที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา บริษัทนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการคัดแยกขยะและรีไซเคิลรวมกันถึง 15 ใบ ภายในรั้วโรงานเดียวกัน มีข้อมูลว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 2 กอง ที่ถูกอายัดไว้ หายไปจากโรงงาน กองหนึ่ง 900 ตัน อีกกองหนึ่งประมาณ 1000 ตัน มีคดีที่อุตสาหกรรมจังหวัดแจ้งความไว้ที่ สภ.แปลงยาว
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของกลางอีก 1053 ตัน หายไปเช่นกันจาก บริษัท ชุงส์ รีไซเคิล ประเทศไทย ที่ อ.แปลงยาว แต่มีคดีอยู่ที่ สภ.พนมสารคาม

รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม บอกไม่ได้ว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของกลางที่หายไป จะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกองขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่พบใน จ.สระแก้ว หรือไม่ แต่เห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องติดตามคดี ตรวจสอบภาพวงจรปิด ซึ่งอาจทำให้พบความเชื่อมโยงหรืออาจพบกองขยะถูกนำไปคัดแยกในพื้นที่อื่นอีก เพราะประเทศไทยออกกฎห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 ดังนั้นจึงเชื่อว่า มีกลุ่มนายทุนที่พยายามนำของกลางที่ถูกอายัดไปสกัดหาสิ่งที่ยังมีมูลค่าอยู่ออกมาขาย พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงรูปแบบการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกองไว้ในป่าเพื่อคัดแยกที่ จ.สระแก้ว โดยระบุว่า น่าจะทำให้ไม่ผ่านระบบของรัฐ และเมื่อสกัดเอาสิ่งมีค่าออกมาหมดแล้ว ก็จะดำเนินการฝังกลบในพื้นที่นั้นเลย ทำให้นายทุนไม่ต้องจ่ายเงินค่ากำจัดของเสียอันตราย ซึ่งมีราคากำจัดสูง

ทีมข่าว PPTV ได้รับข้อมูลสำคัญจากบุคคลในวงการรับกำจัดขยะอันตราย โดยพบว่า ในช่วงปีนี้ มีความพยายามขโมยของกลางขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกอายัดไว้หลายพื้นที่ โดยมีหลักฐานการดำเนินคดีกับโรงงานรีไซเคิลที่ จ.สมุทรปราการ ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งศาลสั่งอายัดและกำลังมีคำสั่งให้ทำลายของกลางอย่างถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบและพบว่ากำลังขนย้ายของกลางออกจากโรงงาน จึงไปแจ้งความจนติดตามไปพบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ของกลาง ถูกขนย้ายไปที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แหล่งข่าวเห็นว่า ในช่วงหลังจากที่ประเทศไทยห้ามนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้มีความพยายามเคลื่อนย้ายของกลางมาตลอดในหลายพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับภาพกองซากอิเล็กทรอนิกส์ที่พบใน จ.สระแก้ว
ข้อมูลนี้ได้รับคำยืนยันจากนางดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่อาวุโส มูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่ติดตามปัญหาการนำเข้าของเสียอันตรายมาตลอด และเคยตรวจพบของเสียอิเล็กทรอนิกส์ ที่ถูกอายัดไว้ หายไปจากระบบ

และแม้ว่าประเทศไทยจะประกาศห้ามนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์แล้ว แต่รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ยังพบการลักลอบนำเข้าด้วยการสำแดงเท็จเป็นการนำเข้าเม็ดพลาสติก แต่ภายในเป็นซกอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีโรงงานใหญ่ใน จ.ชลบุรี ที่มีอิทธิพลทางการเมืองเป็นผู้นำเข้า ทำให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยมีปัญหาในการดำเนินการ

ปัญหาการพบขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากในประเทศไทย เกิดขึ้นจากการ “นำเข้า” ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยในประเทศไทยเปิดโรงงานประเภท 106 หรือ โรงงานรีไซเคิลไว้รองรับ และโรงงานรีไซเคิล ในประเทศไทยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ การที่ประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าซยากอิเล็กทรอนิกส์โดยเด็ดขาด ทำให้นายทุนชาวจีนจำนวนมากย้ายฐานการผลิตมายังเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีประเทศไทยเป็นแหล่งใหญ่ ประกอบกับไทยประกาศใช้คำสั่ง หัวหน้า คสช. มาตรา 44 ที่ 4/2559 ยกเลิกผังเมืองรวม โดยโรงงานคัดแยกขยะและโรงงานรีไซเคิล เป็นประเภทกิจการที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่งนี้ด้วย จึงเพิ่มจำนวนขึ้นมาก จนมีมากถึงกว่า 2000 แห่งแล้ว จนนำมาสู่การตรวจสอบพบการลักลอบนำเข้าไม่ถูกต้อง จัดเก็บไม่ได้มาตรฐานส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เคลื่อนย้ายโดยผิดกฎหมาย และพบการลักลอบทิ้งในสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก

ส่วนรูปแบบการทำประโยชน์จากซากอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ มีข้อมูลจากแหล่งข่าวในวงการนำเข้า-ส่งออก ระบุว่า เมื่อนำซากอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแล้ว กลุ่มโรรงงานรีไซเคิลที่มาจากจ่างชาติ และสกัดเอาวัตถุที่ยังมีค่าออกไป เช่น ทองคำ ทองแดง ตะกั่ว แผ่นไมโครชิป ส่งกลับไปประกอบเพิ่มมูลค่าที่ต่างประเทศ ก่อนส่งกลับมาขายในรูปแบบของใหม่ ส่วนของเสียอันตรายที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว แต่ยังมีสารโลหะหนักปนเปื้อนจะถูกทิ้งอยู่ในประเทศไทย และมีสัดส่วนน้อยมากที่ถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องในโรงงานรับกำจัดของเสียอันตราย เพราะต้องจ่ายค่ากำจัดในราคาสูง

 

คาด "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" โผล่สระแก้ว ขนมาจากโรงงานฉะเชิงเทรา

พบอีกนายทุนจีนเปิดโรงงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ รั้วบ้านเดียว 15 ใบอนุญาต

ตรวจเข้ม“ขยะพิษ”หากพบ “นำเข้า-ทำลาย”ผิดกม.ปิดโรงงานดำเนินคดี

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ