การบินไทย เร่งเช่าเพิ่ม 3 ลำ หวังฟื้นขาดทุนบักโกรก “สุเมธ” ลั่นไม่ยอมแพ้


โดย PPTV Online

เผยแพร่




บริษัท การบินไทย แจงครึ่งปี 2562 ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 3.7 พันล้านบาท เหตุเครื่องบินน้อย เผยจ่อเสนอบอร์ดเช่าเพิ่ม 3 ลำ มาให้บริการภายในสิ้นปีนี้ บินเสริมเส้นทางยุโรป หวังฟื้นรายได้ครึ่งปีหลัง ขณะที่แผนซื้อเครื่องใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.56 แสนล้าน เตรียมศึกษาใหม่เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย 'สุเมธ' ยันไม่ยอมแพ้ ต้องปรับแผน และทำให้การขาดทุนลดลง หวังรัฐบาลช่วยเรื่องค่าบาทแข็งให้อ่อนลง

เมื่อวันที่ (13 ส.ค.62) นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2562 ซึ่งบริษัทฯและบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิ 6,878 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปี ก่อน 3,792 ล้านบาท หรือ 122.9% ว่า ในครึ่งปีหลังที่เหลือ จะมีการปรับแผนในหลายเรื่องเพื่อฟื้นรายได้ ได้แก่ การเช่าเครื่องบินจำนวน 3 ลำ ซึ่งเตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) การบินไทยอนุมัติ และเร่งนำมาให้บริการภายในไตรมาส 4 ปี 2562 ซึ่งจะเสริมในเส้นทางยุโรปในรูปแบบการเพิ่มความถี่ในจุดบินที่มีศักยภาพ เช่น บรัสเซลส์ เวียนนา มิลาน เป็นต้น ซึ่งวางเป้าหมายอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) เฉลี่ยทั้งปี ที่ 79%

การบินไทย ครึ่งปีขาดทุน 6.8 พันล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 122.9%

“มงคลกิตติ์” ทำหนังสือจี้การบินไทย เปิดข้อมูลซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ 1.56 แสนล้านบาท

“ปัญหาที่เพิ่มรายได้ไม่ได้ เพราะมีเครื่องบินน้อย ดังนั้นต้องหาทางเพิ่ม ซึ่งการตกลงเช่าตอนนี้ เป็นข้อดี เพราะค่าเช่าถูกกว่าช่วงต้นปี ประมาณ 20% หากสรุปได้คาดส่งมอบได้ใน 3-4 เดือน เป็นการเช่าใช้ในระยะ 6 ปี”

สำหรับแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่จำนวน 38 ลำ วงเงิน 1.56 แสนล้านบาทนั้น อยู่ระหว่างรอกระทรวงคมนาคมส่งเรื่องคืน หลังจากมีการเปลี่ยนรัฐบาล ซึ่งมีคำถามเพิ่มเติม เช่น เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างการซื้อกับการใช้เครื่องบินที่มีไปก่อน การบินไทยจะศึกษาและทำข้อมูล เปรียบเทียบ ข้อดี-ข้อเสีย ขณะที่การใช้เครื่องบินอายุถึง 20 ปี จะมีค่าใช้จ่ายค่าซ่อมซึ่งเครื่องบินอายุมาก ค่าซ่อมอาจจะสูงถึง 1 ใน 4 ของราคาซื้อเครื่องใหม่ เป็นต้น

นายสุเมธ กล่าวต่อว่า หลักการของแผนจำนวน 38 ลำ เบื้องต้นเห็นตรงกัน และได้ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาแล้ว โดยขณะนี้ การบินไทยมีเครื่องบินประมาณ 102 ลำ เป็นของการบินไทย 82 ลำ โดยทำการบินได้ 69-70 ลำ ส่วนอีก 12 ลำ จะผลัดเปลี่ยนเพื่อเข้าสู่การซ่อมบำรุง ส่วนอีก 20 ลำ เป็นเครื่องบินในส่วนของไทยสมายล์

“หากในช่วงครึ่งปีหลังสภาพ ค่าเงิน การแข่งขัน และการท่องเที่ยว เป็นเช่นนี้หากไม่เปลี่ยนแผน จะขาดทุนหนักขึ้น ดังนั้นต้องปรับแผนและทำให้ได้ จะทำให้ขาดทุนลด และหากเป็นไปได้จะมีมาตรการเพิ่ม ซึ่งจะช่วยเสริมรายได้ให้อีกทาง ยืนยันว่า ไม่ยอมแพ้ ต้องสู้จนขาดใจ ส่วนสัญญาณจากภาครัฐในเรื่องมาตรการทางการเงิน ที่อาจจะช่วยเรื่องค่าบาทแข็งในช่วงครึ่งปีหลังให้อ่อนค่าลงบ้าง และยังคาดหวังกับฤดูท่องเที่ยวช่วงปลายปีด้วย” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าว



สำหรับผลประกอบการ ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ หลายเรื่องทำให้ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากค่าเงินบาทแข็งมากที่สุด ในรอบ 6-7 ปี เกินจากที่คาดหมาย ส่งผลให้รายได้ลดลง 5% แม้ว่าเงินบาทแข็งจะช่วยให้บริษัทฯมีค่าใช้จ่ายลดลงแต่ ก็ทำให้รายได้ที่เป็นเงินสกุลต่างประเทศหดตัวไปด้วย นอกจากนี้ยังมีภาวการณ์แข่งขันทางธุรกิจที่รุนแรง การลดค่าโดยสาร ยิ่งทำให้รายได้ลดลง

ทั้งนี้สถานการณ์ค่าเงินบาทแข็ง ประกอบกับเงินหยวนอ่อนค่า ทำให้ตลาดนักท่องเที่ยวจีน เปลี่ยนจุดหมายจากไทยที่มีค่าใช้จ่ายแพงขึ้น ไปญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม แทน ซึ่งในภาพรวมนักท่องเที่ยวจีน ในการเดินทางเครื่องบินลดลงโดยเฉพาะช่วงเดือนมี.ค.และพ.ค. รวมถึงนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรี (Open Sky) ซึ่งทำให้มีสายการบินต้นทุนต่ำ บินเข้าญี่ปุ่นมาก ซึ่งตลาดญี่ปุ่น มีสัดส่วนรายได้ถึง 1 ใน 3 จึงเป็นตลาดสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายประมาณ 8% จากการทำการบินอ้อม กรณีการประกาศปิดน่านฟ้าสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และกระทบต่อ 3 จุดบินปากีสถาน คือ การาจี ละฮอร์ และอิสลามาบัด ส่งผลรายได้ลดลง ประมาณ 1%

สำหรับแผนเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย จะดำเนินการ 6 เรื่อง ได้แก่ 1. กลยุทธ์ “SaveTG Co-Creation” ควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการให้บริการ 2. กลยุทธ์ Zero Waste Management ลดปริมาณของเหลือใช้ เริ่มที่ Food Waste ก่อน ซึ่งมีปริมาณวันละหลายตัน 3. รุกตลาดใหม่ในไตรมาส 4 บินตรงสู่เซนได 4. เพิ่มรายได้ โดยใช้ Digital Marketing ดึงฐานลูกค้ากลุ่ม Online มากขึ้น เพิ่มรายได้ จากการขายผลิตภัณฑ์เสริม (Ancillary Product) อาทิ น้ำหนักกระเป๋าสัมภาระ ประกันภัยการเดินทาง รถรับส่งสนามบิน รถเช่า โรงแรม เป็นต้น และจำหน่ายสินค้าออนไลน์ eCommerce 5. กลยุทธ์ THAI Synergy จับมือพันธมิตร ขยายธุรกิจทั้งในประเทศและในภูมิภาคเอเชีย 6. กลยุทธ์ TG Group ผนึกไทยสมายล์ เสริมความแข็งแกร่ง เครือข่ายการบินเชื่อมต่ออย่างเป็นระบบ
 

 

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ