กระตุ้นเศรษฐกิจ 3.16 แสนล้าน ใครได้ประโยชน์?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการเคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาแล้ว โดยเตรียมอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 3.16 แสนล้านบาท แต่จะมีมาตรการอะไร แล้วใครบ้างที่ได้ประโยชน์

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแพ็คใหญ่ จะถูกแบ่งออกเป็น 3 ด้านหลักด้วยกัน ด้านที่ 1 คือ มาตรการกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคในประเทศ โดยรัฐบาลจะให้เงินตั้งต้นไปท่องเที่ยว 1,000 บาทต่อคน ในจังหวัดที่ไม่ใช่ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของตนเอง โดยผู้ที่มีสิทธิได้รับ คือ ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปและไปลงทะเบียน 10 ล้านคนแรก ซึ่งเมื่อไปท่องเที่ยว รัฐก็ต้องการให้เราใช้จ่ายเงินมากขึ้น จึงให้เงินคืน หรือเรียกว่าเป็น แคชแบ็ก 15% จากยอดใช้จ่าย ทั้ง อาหาร ที่พัก และการซื้อสินค้าท้องถิ่น สูงสุดไม่เกิน 3 หมื่นบาท ยกตัวอย่างเช่น หากมีชื่อตามทะเบียนบ้านอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แล้วไปท่องเที่ยวใช้จ่ายในจังหวัดชลบุรี เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท ก็จะได้เงินคืนสูงถึง 4,500 บาท เริ่ม 27 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายนนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือ ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

บิ๊กตู่ไฟเขียว ทุ่ม 3.16 แสนล้าน แจกทั้ง "คนรายได้น้อย คนแก่ นักท่องเที่ยว เกษตรกร"

ครม.เศรษฐกิจ เคาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน

 ขณะที่การใช้จ่ายลงทุน ก็ได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ซื้อเครื่องจักร สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กและกลาง ผ่านธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย โดยมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เป็นผู้ช่วยค้ำประกัน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจากธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน วงเงินรวม 52,000 ล้านบาท ผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ กลุ่มนักลงทุน ผู้ประกอบการและเอสเอ็มอี รวมถึงประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัย

ส่วนมาตรการด้านที่ 2 คือ การช่วยเหลือบรรเทาค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย 14.6 ล้านคน ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เติมเงินค่าใช้จ่ายให้เพิ่มคนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ถึงเดือนกันยายน หรือ คนละ 1,000 บาทให้เงินเพิ่มแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มอีกคนละ 500 บาท เป็นเวลา 2 เดือนเช่นเดียวกัน และเงินกลุ่มสุดท้ายช่วยเหลือผู้เลี้ยงดูบุตร ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี เติมเงินให้เพิ่มผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดือนละ 300 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 600 บาท ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากมาตรการนี้ คือ ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้มีบุตร ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

 สำหรับมาตรการด้านที่ 3 การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง อย่างแรกคือให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 1 ปี และให้สินเชื่อฉุกเฉิน คนละไม่เกิน 50,000 บาท ฟรีดอกเบี้ยปีแรก เป็นวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ต่อมาคือการให้สินเชื่อฟื้นฟูความเสียจากผลกระทบภัยแล้ง 13 จังหวัด รายละไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นวงเงิน 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งขยายเวลาชำระหนี้เงินกู้ของ ธ.ก.ส. กับการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตกับชาวนาที่ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ ผู้ที่ได้รับประโชน์ คือ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและชาวนา  ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ กระทรวงการคลังประเมินว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.55%

ขณะที่ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. บอกว่า มาตรการเหล่านี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ให้สามารถขยายตัวได้ 3 % เนื่องจากในปีนี้ต้องเผชิญกับหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า ไปจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทย

ภาคเอกชน ส่วนใหญ่ ก็เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญทุกมาตรการจะต้องปราศจากคอร์รัปชัน

ขุนคลัง เตรียมชง ครม. ช่วยเกษตรกร-เพิ่มสวัสดิการบัตรคนจน-แจกเงินนักท่องเที่ยว

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ