ซื้อบัตรโดยสารรถไฟฟ้า 15,000 บาทลดหย่อนภาษีได้เพื่อมนุษย์เงินเดือนจริงหรือ?


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หลังจากที่เริ่มมีสัญญาณจากกระทรวงคมนาคม เรื่องการลดค่าโดยสารให้กับประชาชนที่ใช้รถไฟฟ้า แอดมินก็ดีใจ แต่พอเห็นมาตรการในส่วนของรถไฟฟ้าบีทีเอสแล้วก็เลยลองนำการเดินทางของตัวเองมาคำนวณดู พอเห็นตัวเลขแล้วจากเดิมจะ เฮ เลยกลายเป็น เฮ้อ! แทน

มาตรการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าตามที่รัฐบาลให้สัญญาไว้กับมนุษย์เงินเดือนเริ่มมีออกมาให้เห็นเป็นรูปเป็นร่าง โดยเฉพาะสำหรับผู้ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่ระบุว่าถ้าผู้ใช้บริการซื้อตั๋วครบ 15,000 บาท สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แอดมินเลยลองคำนวณจากการเดินทางของตนเองในทุกๆวัน จากสถานีบางนา มาถึง สถานีหมอชิต โดยจะตัดค่าใช้จ่ายสำหรับส่วนต่อขยายอีกวันละ 30 บาท (ไป-กลับ) ออกไป และจะคำนวณเฉพาะวันทำงานจริงตามเวลาทำการจันทร์-ศุกร์ เท่านั้น

เตรียมชง ใช้รถไฟฟ้า 15,000 บาท ลดภาษีได้

เริ่ม....

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เที่ยวเดินทางที่เติมในบัตรมีอายุการใช้งาน 30 วัน นับจากวันที่ใช้เดินทางครั้งแรก ใน 1 เดือน

แอดมินทำงาน 20 วัน (4 สัปดาห์ๆ ละ 5 วัน) ใช้บริการแน่ๆ 40 เที่ยว ถ้าแอดมินเลือกใช้บัตรโดยสารแรบบิทประเภทสำหรับบุคคลทั่วไป ซื้อเที่ยวในอัตราสูงสุด 50 เที่ยว แอดมินอาจจะเสีย 10 เที่ยวไปฟรีๆ ก็เลยเลือกซื้อเที่ยวในอัตรา 40 เที่ยว มูลค่า 1,080 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท เมื่อนำมูลค่า 1,080 บาทที่ต้องจ่ายทุกเดือนเป็นจำนวน 12 เดือน จะเท่ากับต้องใช้ซื้อตั๋ว 12,960 บาท

ดังนั้น หากแนวคิดลดอัตราค่าโดยสารบีทีเอส เป็นไปตามที่ นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผย ว่าผู้โดยสารซื้อตั๋วโดยสารรถไฟฟ้าในระบบใดก็ได้ครบ 15,000 บาท สามารถนำเงินมาลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ ซึ่งรูปแบบจะเป็นลักษณะเดียวกันกับนโยบายช็อปช่วยชาติ ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ ต่อให้รวมค่าบริการส่วนต่อขยายไป-กลับอีกวันละ 30 บาท 20 วันก็ 600 บาท ทั้งปีก็จะเป็นเงิน 13,560 บาท ไม่ถึงตามเกณฑ์อยู่ดี

5 เรื่องที่ “รถไฟฟ้าบีทีเอส” ทำให้ปวดใจ !!

นอกจากนั้นแล้ว หากย้อนกลับไปที่เงินเดือนเริ่มต้นของคนที่เริ่มต้นทำงาน เฉลี่ยอยู่ที่ 15,000-25,000 บาท (ที่มา : คู่มือฐานเงินเดือน ประจำปี 2562 จาก บริษัท อเด็คโก้ จำกัด) การใช้บริการรถไฟฟ้าก็อาจจะไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เคยมีงานวิจัยจาก นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยผลการศึกษาของ TDRI เรื่องการเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑลพบข้อมูลว่าค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงเมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ (Purchasing Power Parity : PPP)  มีราคาค่อนข้างสูงหรือเฉลี่ยราว 28.30 บาท/เที่ยว” และเมื่อคำนวณตั๋วของแอดมินที่ซื้อ 40 เที่ยวจะอยู่ที่ เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท ใน 1 วันจะถูกหักค่าโดยสาร 54 บาท (ไป-กลับ) 

ขณะที่ค่าโดยสารรถไฟฟ้าเฉลี่ยของสิงคโปร์อยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว ถือว่าของไทยค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชีย

และถ้าคิดเป็นต่อ 1 กิโลเมตร ประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 14.8 บาท ขณะที่ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ อยู่ที่ 12.4 บาท สิงคโปร์อยู่ที่ 2.3 บาท และฮ่องกง 4.08 บาท

แล้วประเทศไทยจะมีโอกาสใช้ราคาเดียวทั้งสายหรือไม่ เช่น 15 บาทตลอดสาย ซึ่งทีดีอาร์ไอมองว่าอาจเป็นไปได้ยากเพราะระบบรถไฟฟ้าเมืองไทยมีหลายสัมปทานทั้งของรัฐและเอกชน อาจจะทำได้แค่เพียงของรัฐบาลเท่านั้น ขณะเดียวกันหากคิดจะทำจริงรัฐต้องนำเงินภาษีประชาชนมาจ่ายชดเชยอยู่ดี อาจถูกมองว่าเป็นการอุ้มคนกรุงเทพ ดังนั้นสิ่งที่พอจะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารได้คือการทำตั๋วร่วมซึ่งรัฐบาลสามารถเก็บฐานข้อมูลการใช้บริการของประชาชนเพื่อนำไปสู่การปรับโครงสร้างราคาค่าโดยสารได้อีกทาง

เปิดสูตร !! ค่ารถไฟฟ้า เหลือ 15 บาทตลอดสาย

อย่างไรก็ตาม แอดมินก็คาดหวังว่าในอนาคตที่ยังต้องใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้วเสร็จในอีกหลายสาย เช่น ปี 2563 สายสีเขียว สายสีน้ำเงิน ปี 2564 สายสีแดงเข้ม ปี 2565 สายสีชมพู สายสีเหลือง และปี 2566 สายสีส้ม ราคาค่าโดยสารอาจจะเหมาะสมกับค่าครองชีพมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้วแม้จะมีจำนวนรถไฟฟ้าที่คลอบคลุมการเดินทางแต่ยังคิดค่าโดยสารแบบปัจจุบันนั่นหมายความว่า “ยิ่งเปลี่ยนหลายสาย ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งต้องเพิ่มขึ้น”

ฟรีสองเดือน นั่งรถไฟฟ้า “วัดเล่งเน่ยยี่ – ท่าพระ”

เปิดบริการ “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน”ส่วนต่อขยาย 4 สถานีแรกก่อนก.ย. 62

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ