แจงเสือโคร่งของกลางวัดหลวงตาบัวฯ เลือดชิด บกพร่องทางพันธุกรรม


โดย PPTV Online

เผยแพร่




กรณีการตายของเสือโคร่งจำนวน 86 ตัวจาก 147 ตัว สัตว์ป่าของกลางจากวัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี ที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตรวจยึดและรับดูแล สัตวแพทย์เปิดเผยว่าสาเหตุมาจากการผสมพันธุ์กันเองจนเลือดชิด บกพร่องทางพันธุกรรม

สภาพเสือโคร่งสายพันธุ์ไซบีเรีย ที่ทีมดูแลในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้างราชบุรี บันทึกภาพไว้ เป็นอาการหายใจเสียงดัง เกิดจากภาวะลิ้นกล่องเสียงเป็นอัมพาต ทำให้หายใจเข้าออกลำบาก เมื่ออาการหนักขึ้นจะไม่กินอาหาร ชักเกร็ง และตาย

อุทยานฯ ยันเลี้ยงเสือตามหลักวิชาการ หลังวัดเสือตั้งข้อสังเกตกรณีเสือป่วยตาย

วันนี้ 16 ก.ย. 2562 นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช นำคณะดูแลเสือโคร่งของกลางชี้แจงสาเหตุการตาย โดยสรุปจากจำนวนเสือโคร่งที่ยึดมา 147 ตัว อยู่ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง จ.ราชบุรี ตาย 54 ตัวจากที่รับมา 85 ตัว ส่วนที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน จ.ราชบุรี รับมา 62 ตัว ตาย 32 ตัว

นายสุนทร ฉายวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มงานเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า เปิดเผยว่า ภาวะอัมพาตลิ้นกล่องเสียง เป็นสาเหตุหลักของการตาย แต่สัตวแพทย์ตรวจพบโรคแทรกซ้อนอีกหนึ่งโรคเสือโคร่งบางตัวติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข ซึ่งเป็นโรคติดต่อรุนแรงในสุนัข ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค เชื้อดังกล่าวจะทำลายระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร

การติดเชื้อไข้หัดสุนัข สัตวแพทย์ตั้งสมมติฐานไว้ 4 ข้อ คือ มีสัตว์พาหะที่มีเชื้อไข้หัดสุนัขซึ่งเป็นสัตว์ตระกูลลิง หมี สุนัขจิ้งจอก ชะมด และอีเห็นเข้ามาใกล้กรงเสือโคร่ง  หรือเสือโคร่งมีเชื้อไวรัสอยู่เดิมแล้ว หรือมีสัตว์เลี้ยงของผู้ดูแล เช่น สุนัข แมว เข้ามาใกล้ หรือ ผู้ดูแลที่มีสัตว์เลี้ยงที่บ้านเป็นพาหะเอง คือ เชื้อติดมากับเสื้อผ้า

ด้านนายสัตวแพทย์ชุดทำงาน  สันนิษฐานว่า ที่ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข น่าจะมาจากภาวะแทรกซ้อนจากความบกพร่องของพันธุกรรม ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ  สามารถรับเชื้อต่างๆเข้ามาได้ง่ายโดยคาดว่าเสือโคร่งที่ตายมีโรคแทรกซ้อนหลายโรค แต่ตรวจยังไม่พบเนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์ที่มี ณ ขณะนี้ยังไปไม่ถึง

จากการตรวจสอบเสือโคร่งของกลางทั้ง 147 ตัว มีภาวะเลือดชิด แทบทั้งหมด ส่วนเสือที่ยังมีชีวิตอยู่ทีเหลือ ล่าสุดพบว่ามี 5 ตัว ในศูนย์รับดูแลทั้ง 2 แห่ง  พบอาการลิ้นกล่องเสียงเป็นอัมพาต อาการอยู่ในภาวะวิกฤต ซ้อนกับภาวะเลือดชิด

ส่วนประเด็นที่พระวิสุทธิสารเถร หรือ หลวงตาจันทร์ เจ้าอาวาสวัดป่าหลวงตาบัวฯ กล่าวว่า เสือของกลางอยู่ที่วัดก็ดีอยู่แล้ว และดูแลได้ดีกว่ากรมอุทยานฯ นายสัตวแพทย์ภัทรพลชี้แจงว่า การตรววจยึดเสือโคร่งไซบีเรียมาเพื่อนำมาระบบจนพบว่าพันธุกรรมของมันอ่อนแอ แต่ก่อนที่อยู่ในวัดไม่มีการแจ้งเกิดหรือตายอย่างถูกต้อง สังคมจึงไม่รับทราบข้อมูลของเสือโคร่งในวัด พอเจ้าหน้าที่เข้าไปค้นกลับพบซากเสือโคร่งและลูกเสือดองจำนวนมาก บ่งชี้ว่ามีการตายจากสาเหตุเลือดชิดอยู่ก่อนแล้ว แต่วัดปิดบัง

ตอนนี้มีเสือโคร่งไซบีเรียของกลางที่อยู่ในความดูแลของกรมอุทยานฯ อีก 78 ตัว พบมีอาหารน่าเป็นห่วง 5 ตัว ตามอาหารข้างต้น ยังต้องเฝ้าระวังอาการ 29 ตัว และไม่พบข้อบกพร่องทางพันธุกรรม 34 ตัว สัตวแพทย์ต้องดูแลตามอาการ

คดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 หลังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ รับแจ้งเสือโคร่งในวัดหลวงตาบัวฯ หาย 3 ตัว จึงเข้าไปตรวจสอบ ก่อนพบการแอบขยายพันธุ์จากข้อตกลงระหว่างวัดกับกรมอุทยานฯ จากเสือโคร่งของกลางที่วัดรับไว้แต่แรกเมื่อปี 2544 รวม 6 ตัว  เป็น 147 ตัว จึงดำเนินการยึดและดำเนินคดีกับกรรมการ ซึ่งตอนนี้คดียังอยู่ในชั้นอัยการตรวจสำนวนฟ้อง

ย้อนปมภารกิจย้าย “เสือโคร่ง” วัดป่าหลวงตาบัว

ชะตากรรมเสือโคร่งวัดเสือ.. หวนกลับสู่กรงสวนสัตว์? (คลิป)

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ