“เวลาเหนื่อยเวลาท้อแท้จะคิดถึงพระองค์ท่าน (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ทรงทำงานมา 70 ปี เราเพิ่งทำมา 28-29 ปีเองยังท้อไม่ได้ครับ” นี่คือความตั้งใจอันแน่วแน่ในการเดินหน้าตามรอยศาสตร์พระราชาของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายกสมาคมดินโลก

และบทบาทสำคัญของ ดร.วิวัฒน์ ในครั้งนี้คือการเป็นหัวหน้าทัพให้กับทุกภาคส่วน เดินตามรอยศาสตร์พระราชาด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือการก้าวสู่ปีที่ 7 ของโครงการ พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ปี 2562 ภายใต้แนวความคิด แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี
สูตรสำรับอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นบน “ภูหลวง” ด้วยฝีมือระดับเชฟโจ้สร้างมูลค่าพืชผลเพื่อชาวบ้าน
ในปีนี้ อาจารย์ยักษ์และบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมถึงสื่อมวลชน และอาสาสมัครคนมีใจ เดินทางมุ่งหน้าสู่ต้นน้ำสักหง่า อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสัก ที่บ้านหินสอ ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย เพื่อไปดูผืนป่าต้นน้ำของลุ่มน้ำป่าสักซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่แก้ไขปัญหายากที่สุด ดังที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสว่า “แม่น้ำป่าสักจะบริหารจัดการได้ยากที่สุด เพราะปริมาณน้ำไหลลงอ่างสูงมากหลายเท่าของความจุอ่าง ทำให้การบริหารจัดการทำได้ยาก” เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2556 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช
สาเหตุที่ลุ่มน้ำป่าสักบริหารจัดการยากที่สุด อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนายกสมาคมดินโลก ขยายความให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่า เกิดจากภูมิประเทศที่ต้นน้ำอยู่ในพื้นที่จังหวัดเลย การไหลลงสู่พื้นที่ด้านล่างมีความสูงชัน เกิดการกัดเซาะของหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ การชะล้างมีความรุนแรง รวมถึงมีพื้นที่เก็บน้ำน้อย มีเพียงเขื่อนขนาดใหญ่เขื่อนเดียวคือ “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี” และเมื่อเกิดการชะล้างที่รุนแรงนำเอาหน้าดินที่มีแร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ลงไปกลายเป็นตะกอนอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง แหล่งน้ำธรรมชาติ ทับถมจนตื้นเขินไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ เขื่อนที่ทรงพระราชทานไว้คือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ สามารถกักเก็บน้ำได้เต็มที่ประมาณ 960 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อฝนตกลงมา 4,000 – 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ชะล้างตะกอนดินลงไปไม่มีที่กักเก็บน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ปริมาณน้ำที่ล้นเขื่อนก็ไหลลงสู่พื้นที่กรุงเทพมหานครขณะเดียวกันพื้นที่ต้นน้ำก็ไม่มีดินที่มีความอุดมสมบูรณ์เหลืออยู่เลย
รวมพลัง “เอามื้อ” ฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสักจากสภาพเสื่อมโทรมสู่พื้นที่ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
“ สังเกตเวลาน้ำท่วมหลากไป น้ำจะขุ่นคลัก นั่นคือดินที่อุดมสมบูรณ์ ชะล้างพังทลายลงไป ไปตกอยู่ในเขื่อน ไปตกอยู่ในอ่าวไทย ความเน่าในเขื่อนถึงทะเล ทั้งหมดเกิดมาจากต้นน้ำ เสียหายตั้งแต่ยอดดอยไปถึงท้องทะเล เพราะฉะนั้นต้องมาแก้ที่ต้นน้ำ มาแก้ที่ต้นทางให้ได้ด้วยการฟื้นฟูป่าขึ้นมาให้คนอยู่กับป่า เหมือนที่พระองค์รับสั่งไว้ว่าคนต้องอยู่กับป่า” อาจารย์ยักษ์กล่าว
ในปีนี้มีหัวเรือใหญ่อย่าง อาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร จึงนำทัพคนปลายน้ำจากหลากหลายภาคส่วนมาช่วยคนต้นน้ำรักษาผืนป่าไว้ เพราะถ้าต้นน้ำแข็งแรง ปลายน้ำก็จะปลอดภัย และด้วยโอกาสอันดียิ่งที่สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 ได้เชิญอาจารย์ยักษ์ มาร่วมพูดคุยถึงความสำคัญของการลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อต่อยอดแรงบันดาลใจให้กับคนอีกหลายพันหลายหมื่นคนในการหันมาเห็นคุณค่าความสำคัญของผืนป่าเมืองไทย
“ เขาเริ่มรู้แล้วว่าที่ท่วมบ้านเรา (กรุงเทพฯ) มาจากบนดอย ต้องมาช่วยกันทำบนดอยให้อุ้มน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด" อาจารย์ยักษ์กล่าวเริ่มต้นบทสนทนา เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคนจากทุกภาคส่วน 600-700 คน ตามอาจารย์ยักษ์ขึ้นมา ณ พื้นที่แห่งนี้ และช่วยกันลงมือสร้างวิธีอุ้มน้ำ กักเก็บน้ำไว้ บนผืนป่าต้นน้ำให้ได้มากที่สุด ด้วยหลักของศาสตร์พระราชาเพราะพวกเขาเชื่อว่าจะสามารถรักษาบ้านที่ปลายน้ำของพวกเขาไว้ได้
สำหรับเส้นทางของลุ่มน้ำป่าสัก มีจุดเริ่มต้นจากป่าในพื้นที่แห่งนี้เรียกว่า “ต้นน้ำ” อันเป็นเทือกเขาเพชรบูรณ์ ไหลลงผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ ลพบุรี สระบุรี และพระนครศรีอยุธยาเมื่อฝนตกผืนป่าจะอุ้มน้ำส่วนหนึ่งเอาไว้ จากนั้นปล่อยลงสู่ลำน้ำป่าสักไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และไหลลงสู่พื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่หลายปีที่ผ่านมากลับพบว่าสภาพผืนป่าไม่มีความแข็งแรง มีแต่เขาหัวโล้นจนไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้มวลน้ำมหาศาลจึงจะไหลลงสู่ปลายน้ำเข้าท่วมพื้นที่กรุงเทพมหานคร เกิดเป็นอุทกภัยดั่งที่ได้ทราบข่าวทุกปี ขณะเดียวกัน ในเมื่อพื้นที่ต้นน้ำไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ ก็กลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่สามารถทำการเกษตรปลูกพืชผลได้เพราะแร่ธาตุในดินที่อุดมสมบูรณ์ที่ไหลลงไปกับมวลน้ำทั้งหมด
จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันมารักษาป่าต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์เพื่อกักเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด และถ้าลุ่มน้ำป่าสักประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นตัวอย่างให้กับลุ่มน้ำอื่นๆ อีก 24 ลุ่มน้ำในเมืองไทย นำไปปรับใช้ ในพื้นที่ของตนเอง ตรงตามเป้าหมาย “แตกตัวทั่วไทย สานพลังสามัคคี”
ปั่นตามรอยพ่อ ปีที่ 7 ชื่นชมผลผลิตจากศาสตร์พระราชา
“หัวหน้าฉิม” ผู้ยึดมั่นในศาสตร์พระราชาทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน
อาจารย์ยักษ์เล่าให้ฟังต่อว่า หนึ่งในวิธีที่จะอุ้มน้ำไว้ได้คือ “การปั้นคันนาให้ใหญ่ขึ้น” จากคันนาที่หลายคนเคยเห็นซึ่งมีขนาดไม่กว้างนัก เพราะต้องการพื้นที่สำหรับปลูกข้าว แต่ที่นี่ใช้วิธีการปั้นคันนาขนาดใหญ่ อันเป็น ภูมิปัญญาที่มาจากรุ่น ปู่ย่า ตายาย เพราะเมื่อฝนตกคันนาจะอุ้มน้ำไว้ในนาข้าว พร้อมๆกับซับไว้ในคันดินภาษาชาวบ้านเรียกว่า “คันแทนา” แต่อีกด้านหนึ่งคือศาสตร์พระราชาที่ชื่อว่า “ทฤษฎีใหม่”
นอกจากนั้นแล้ว ประโยชน์ที่ได้จากการปั้นคันนาขนาดใหญ่อีกอย่างคือสามารถปลูกพืช ผัก ไว้บนคันนาได้ เช่น กล้วย พริก มะละกอ หรือปลูกผักที่ชอบไว้กินเอง ไม่ต้องไปซื้อกิน สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง พออยู่ พอกิน เมื่อพูดถึงตรงนี้อาจารย์ยักษ์ขยายความให้เห็นภาพซึ่งเชื่อมโยงกับการปั้นคันนา ว่าการที่คันนาในสมัยนี้มีขนาดเล็กเพราะชาวนาต้องการพื้นที่ปลูกข้าวให้มาก เพื่อเอาไว้ขายเข้าสู่ระบบกลไกตลาด ซึ่งการเข้าสู่ระบบกลไกตลาดไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมกับชาวบ้าน แต่สิ่งที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงสอนไว้คือ “ต้องทำให้พอกินเสียก่อน พอใช้เสียก่อน ให้มีที่อยู่อาศัยเสียก่อน แล้วอยากจะขายให้นำไปแปรรูป แล้วเมื่อขายได้เงินก็ไปฝากธนาคาร ไม่ต้องมาซื้อข้าว ซื้อผักกินเพราะมีอยู่แล้วที่บ้านเราปลูกไว้”
“ ไม่ใช่อยากกินส้มตำต้องวิ่งไปตลาดแล้วซื้อทุกอย่าง เสียค่าน้ำมันอีก ส่วนพันธุ์ข้าวก็ให้เก็บไว้ เช่น อยากกินข้าวเหนียวอย่าปลูกข้าวหอมมะลิ แล้วเอาข้าวหอมมะลิไปขายเพื่อเอาเงินไปซื้อข้าวเหนียวกิน พอคนปลูกข้าวมากๆ ราคาก็ตก ขาดทุน ไม่มีเงินซื้อข้าวกิน มิเช่นนั้นชีวิตประจำวันก็ต้องซื้อกิน เป็นหนี้เป็นสิน ก็ต้องออกไปรับจ้าง เช่น ขายลอตเตอรี่ รายได้ 20,000 – 30,000 บาท แต่หนี้เยอะ” อาจารย์ยักษ์กล่าว
แต่การที่จะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ยอมรับและเข้าใจในศาสตร์พระราชา เปลี่ยนวิธีปลูกพืช ทำการเกษตร ฟื้นฟูป่าต้นน้ำในสภาพของเขาหัวโล้นให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง อาจารย์ยักษ์ยอมรับว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย” และทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ อย่างน้อย 3 ปี โดยมีตัวอย่างให้เห็น
“คนที่มาร่วมมือกับเราหายากมาก แล้วคนที่มาร่วมมือกับเราถูกตราหน้าว่าผิดปกติหมดเลย แต่หลังจากนั้นเข้าปีที่ 3 เริ่มมีตัวอย่างความสำเร็จ ข้างบ้านเจอภัยแล้ง ข้าวตาย ไฟไหม้ แต่บ้านเรายังมีข้าวกิน มีปลา ต้นไม้ร่มรื่นสบาย เพราะฉะนั้นพอปีที่ 3 คนเริ่มสนใจมากขึ้น ปีที่ 4 ชัดขึ้นแต่ก็ยังน้อยอยู่ เพราะว่าคนส่วนใหญ่เป็นพวกรอดูทีท่า ดูเพื่อนก่อน” อาจารย์ยักษ์กล่าว
เมื่อเดินทางมาถึงปีที่ 7 อาจารย์ยักษ์ บอกว่า คนเริ่มสนใจมากขึ้นจะเริ่มกระจายไปสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ จากการได้เห็นผ่านการนำเสนอผ่านสื่อมวลชน จากการเดินทางมาเห็นด้วยตาของตัวเอง แล้วเริ่มนำไปปฏิบัติตาม ปีนี้จึงเป็นปีที่ “แตกตัวทั่วไทย” อันหมายถึงแตกตัวไปทุกๆ ลุ่มน้ำ ที่สำคัญปีนี้คนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมมือมากขึ้น ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาคราชการ ตำรวจ ทหาร ส่วนราชการต่างๆ กระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคประชาชน มูลนิธิ ภาคเอกชน อย่าง บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่นำทีมโดยผู้บริหาร พนักงาน ทำให้ในปีที่ 7 นี้ เป็นปีที่ประกาศให้รู้ว่า “การเดินตามรอยพ่อ คือ สิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำมาแล้ว 70 ปี ทั่วโลกรับรู้” และถวายรางวัลให้พระองค์ท่าน ทั้งเรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องดิน เรื่องฝนหลวง ประจักษ์ชัดที่สุด คือทุกวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลก ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันดินโลก ตั้งศูนย์วิจัยดิน ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศดินเพื่อการอนุรักษ์น้ำอนุรักษ์ความสมบูรณ์ ที่เราทำตามศาสตร์พระราชา เรียกว่า Center of Excellence for Soil Research in Asia : CESRA สุดท้ายทั่วโลกตั้งสมัชชาดินโลก เรียกว่า GSP ในสมัชชาดินโลก” ซึ่งอาจารย์ยักษ์ก็เป็นนายกสมาคมดินโลกด้วยเช่นกัน
ก่อนแยกย้ายกันวันนั้นอาจารย์ยักษ์บอกกับพวกเราว่า “ เวลาเหนื่อยเวลาท้อแท้จะคิดถึงพระองค์ท่าน ทรงทำงานมา 70 ปี เราเพิ่งทำมา 28-29 ปีเองยังท้อไม่ได้ครับ วิธีคิดของพระองค์ท่านที่เรียกว่าปรัชญาพอเพียง ทฤษฎีใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นไปไว้ถึง 40 ทฤษฎี รวมทั้งขั้นตอน วิธีปฏิบัติ และเทคนิคต่างๆ ที่ทรงทำให้ดูไว้ ด้วยวิธีการบริหารที่ทรงใช้คำว่า “แบบคนจน” คือทำแบบคนจนไม่ได้ลงทุนมากมาย แล้วประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ร่ำรวย รวยพอสมควร”
อยากฝากให้ทุกคนลองศึกษางานที่พระองค์ท่านทรงทำมาตลอด 70 ปี แล้วก็เลือกซัก 1 อย่าง 2 อย่าง ลงมือทำตามพระองค์ท่าน แล้วจะรู้ว่าชีวิตเรานั่นแหละที่ได้ประโยชน์ก่อน ก่อนที่ประชาชนหรือโลกจะได้ประโยชน์ เราจะได้ประโยชน์ก่อนใครอื่นเลย เหมือนชีวิตผม
ติดตามข่าววันนี้ได้ที่นี่ >> www.pptvhd36.com/tags/ข่าววันนี้