“ปะการังเทียม” ฟื้นฟูโลกใต้ทะเล ส่งเสริมวิถีประมงพื้นบ้าน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กขาแท่นปิโตรเลียมที่จัดวางไว้เมื่อ 6 ปีก่อน บริเวณอ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในวันนี้ได้กลายเป็นบ้านปลา ช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศน์ใต้ท้องทะเลให้อุดมสมบูรณ์ ที่ไม่เพียงส่งผลดีต่อชาวประมงพื้นบ้าน แต่ยังเป็นแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ช่วยลดภาระของแนวปะการังธรรมชาติได้อีกด้วย

“หาดโฉลกหลำ” ชายหาดแสนสงบที่ทอดตัวคล้ายรูปจันทร์เสี้ยวอยู่ทางตอนเหนือของเกาะพะงัน เป็นที่ตั้งของชุมชนเก่าแก่ที่ยังคงวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านไว้อย่างเหนียวแน่น อย่างไรก็ดี การทำประมงพาณิชย์ผิดกฎหมาย เช่น การใช้อวนลาก อวนรุน เข้ามาหาปลาใกล้ชายฝั่ง ทำให้ปลาลดจำนวนลง ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้าน ที่จับปลาได้น้อยลง ต้องออกไปหาปลาไกลจากฝั่งมากขึ้น

ทช.ยืนยัน ใช้แท่นขุดเจาะปลดระวางทำปะการังเทียม“ปลอดภัย”

สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย จึงร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยองค์กรชุมชน ชาวประมง ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ฟื้นฟูความสมบูรณ์ใต้ท้องทะเลโฉลกหลำ ดำเนินโครงการศึกษาทดลองจัดสร้างปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็ก เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน เมื่อเดือนกันยายน 2556 โดยนำโครงสร้างเหล็กขนาด 12x12 เมตร สูง 8 เมตร 4 แท่น น้ำหนักประมาณ 50 - 75 ตัน ทำจากเหล็กcarbon steel  ชนิดเดียวกับขาแท่นผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ไปจัดวาง 2 จุด (จุดละ 2 แท่น) บริเวณอ่าวโฉลกหลำมีระยะทางในแนวตั้งฉากจากชายหาดประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 18-20 เมตร

ทั้งนี้ “ปะการังเทียม” นับเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยจะทำหน้าที่คล้ายแนวปะการังธรรมชาติ เป็นแหล่งอาศัยและอนุบาลสัตว์น้ำ ทั้งยังเพิ่มพื้นที่ยึดเกาะของปะการังธรรมชาติ จึงช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำตลอดจนฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่แนวปะการังธรรมชาติ โดยวัสดุที่นำมาจัดทำเป็นปะการังเทียมมีได้หลากหลายชนิด เช่น หินคอนกรีต ตู้รถไฟ รูปปั้นประติมากรรม ไปจนถึงขาแท่นปิโตรเลียม

6 ปีผ่านไป....ผลจากการติดตามการดำเนินงานเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “โครงเหล็กจำลองขาแท่นปิโตรเลียม” ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ในทางตรงกันข้ามกลับเกิดประโยชน์ต่อทั้งการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง การท่องเที่ยว ตลอดจนแหล่งประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านให้กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง

มีชัย วัฒนปักษ์ หนึ่งในชาวประมงบ้านโฉลกหลำ เปิดเผยว่า จากเดิมที่เคยทำการประมงในเขตบริเวณน้ำตื้นได้ แต่เมื่อระบบนิเวศถูกรบกวน การทำประมงต้องเปลี่ยนไปในเขตน่านน้ำที่ลึกขึ้น เครื่องมือการจับปลาก็ต้องมากขึ้นตามไปด้วย แต่หลังจากมีโครงการศึกษาทดลองจัดสร้างปะการังเทียมจากโครงเหล็กจำลองขาแท่นปิโตรเลียมเข้ามาในพื้นที่ สิ่งที่สังเกตได้คือแนวปะการังเทียมสามารถกันเรือประมงพาณิชย์ ป้องกันอวนลาก อวนรุน ไม่ให้เข้ามาในเขตน่านน้ำตื้นได้ เกิดผลดีต่อการทำประมงของชาวบ้าน ที่สำคัญปลาบางชนิดที่เคยหายไปช่วงที่ระบบนิเวศถูกรบกวนเริ่มกลับมา จึงอยากให้มีการทำปะการังเทียมเพิ่มขึ้น

“ ชาวบ้านมีความต้องการปะการังเทียมเพิ่มเพราะช่วยกันไม่ให้เรือพาณิชย์เข้ามา ประมงพื้นบ้านจับปลาได้มากขึ้น ปลาที่เคยหายไป อย่าง ปลาริวกิว ก็เริ่มเข้ามาช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังหายไปหลายปีมาก”

อีกเสียงหนึ่งที่ยืนยันว่าโครงเหล็กจำลองขาแท่นปิโตรเลียม เกิดประโยชน์กับชาวประมงท้องถิ่นจริงๆ คือ  พงศักดิ์ หาญกล้า ผู้ใหญ่บ้านโฉลกหลำ บอกว่า จากการสอบถามชาวบ้านยังมีความต้องการปะการังเทียมเพิ่ม เพราะตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการมาชาวบ้านมีความมั่นใจแล้วว่าปะการังเทียมจากโครงเหล็กจำลองขาแท่นปิโตรเลียมไม่มีสารเคมีปนเปื้อน และได้ผลจริงๆ ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นจริงสามารถทำประมงได้มากขึ้น

สอดคล้องกับ ภัทรชัย เรืองศรี ประธานกลุ่มดอกไม้ทะเลเพื่อการอนุรักษ์เกาะพะงัน ที่ติดตามโครงการดังกล่าวนี้มาตลอดตั้งแต่ปี 2556 บอกว่า ในเรื่องของระบบนิเวศทางทะเล ทรัพยากรทางทะเล “ถือว่าได้ผลดีและประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในการเป็นบ้านปลา อนุบาลสัตว์น้ำ” ความอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเลที่เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างหลังจากการวางปะการังเทียม เช่น การพบเห็นวาฬบรูด้าเข้ามาในเขตน่านน้ำที่ใกล้ขึ้น ตลอดจนการเกิดขึ้นของสัตว์ทะเล อย่างหอยแมลงภู่ทั้งที่เดิมจุดนี้ไม่ใช่แหล่งเพราะเป็นเขต

นอกจากนั้น โครงการนี้ยังช่วยในเรื่องของการท่องเที่ยว เพราะปะการังเทียมได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้กับนักดำน้ำ ลดความแออัดจากจุดเดิมคือ “บริเวณหินใบ” ที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่าวันละ 500 คน เมื่อปะการังถูกสัมผัส ถูกรบกวนมากๆ นานวันก็เสื่อมโทรมลง แต่เมื่อมีแนวปะการังเทียมซึ่งวางห่างจากจุดเดิม เมื่อเวลาผ่านไปจุดที่มีปะการังเทียมจากโครงเหล็กจำลองขาแท่นปิโตรเลียม กลายเป็นบ้านปลา มีสัตว์น้ำ มีสาหร่าย เพรียง แพลงก์ตอนชนิดต่างๆ เกิดเป็นแหล่งดำน้ำแห่งใหม่ลดความแออัดและการรบกวนทรัพยากรธรรมชาติใต้ท้องทะเลบริเวณเดิมได้

สอดคล้องกับ การศึกษาและสำรวจของสถาบันคอร์ซี (Core Sea) ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจากเยอรมนี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอ่าวโฉลกหลำ ที่ทำการศึกษาบริเวณจัดวางปะการังเทียมโครงสร้างเหล็กอย่างต่อเนื่อง พบว่า มีปลาทะเลมาพักอาศัยถึง 24 ชนิด เช่น ปลาอินทรี ปลาหูช้าง ปลาค้างคาว ไปจนถึงปลากบ ที่โอกาสเจอไม่ง่ายนัก รวมถึงปลาที่มีค่าทางเศรษฐกิจอีกถึง 12 ชนิด

ทั้งหมดคือสิ่งที่พิสูจน์ว่าโครงการจัดสร้างปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กประสบความสำเร็จ ทั้งยังมอบแนวทางและความรู้ในการดำเนินการจัดสร้างปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมเพื่อการอนุรักษ์ทางทะเล รวมถึงโครงสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ ในอนาคตต่อไป

วางปะการังเทียม "เกาะแหวน-เกาะพีพี" ฟื้นฟูทะเล

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ