เรื่องราวของ “สวนบุญทวี” จุดหักดิบจากสวนเคมีสู่พื้นที่เกษตรอินทรีย์ 40 ไร่แห่งจันทบุรี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




จากความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ “กัลยา สำอาง” เดินหน้าพลิกโฉมสวนผลไม้ 40 ไร่ ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยความหวังที่ว่าสักวัน “การทำเกษตรในประเทศไทยจะไร้ซึ่งสารเคมี”

“ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ” นี่คือสิ่งที่ กัลยา สำอาง หรือ ปู บอกกับตัวเองเสมอมาตลอด 14 ปี ที่ตัดสินใจลงมือทำเกษตรอินทรีย์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์

"ศาสนา สอนผา" นำพาศาสตร์พระราชามาฟื้นผืนป่าบนภูหลวง

“ปู” เติบโตมาในจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องผลไม้เมืองไทยอย่างจังหวัดจันทบุรี บ้านทำสวนผลไม้ “สวนบุญทวี” อ.ขลุง จ.จันทบุรี และเพื่อให้ผลผลิตเป็นไปตามต้องการของล้งที่มารับซื้อและให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดการใช้ “สารเคมี” ทุกชนิดจึงถูกนำมาใช้

 “เวลาคุณพ่อผสมยาแล้วฉีดพ่นทุเรียนเราก็จะเป็นเด็กที่ลากสายยางช่วยคุณพ่อในการทำสวน อะไรที่ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าผลผลิตออกดีเขาก็จะทุ่ม เราไปจ่ายเงินค่าปุ๋ย ปีละ 4-5 แสนบาท”

จนกระทั่ง.....สารเคมีส่งผลต่อร่างกายคุณพ่อของเธอและจากไป...

การสูญเสียครั้งสำคัญทำให้เธอตัดสินใจ “หักดิบ” สวนผลไม้ 40 ไร่ทั้งหมด หันมาทำเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเธอถือว่าแผ่นดินนี้เป็นสิ่งที่เธอต้องสานต่อจากพ่อ เธอจึงตัดสินใจเข้าอบรมที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง จ.ชลบุรี ตั้งใจเรียนรู้การทำกสิกรรมธรรมชาติกับ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นนายกสมาคมดินโลก

จุดนั้นเองที่ทำให้พบว่า “เกษตรอินทรีย์ไม่ใช่ทางเลือก แต่คือทางหลัก” จึงมุ่งหน้าทำสวนผลไม้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีทางการเกษตร เลือกใช้น้ำหมักรสต่างๆ และสารชีวภัณฑ์ทดแทน และจากบทพิสูจน์นี้ได้ออกมาเป็น “ผลผลิตที่มีคุณภาพโดยแท้จริงทั้งเนื้อสัมผัส รสชาติ และเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ”

เปิดบทสัมภาษณ์เพื่อเรียนรู้ศาสตร์พระราชากับ “อาจารย์ยักษ์” ผู้อุทิศตนให้ผืนป่าเมืองไทย

เมื่อพื้นที่ทำกินของตนเองประสบความสำเร็จต่อมาคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับ “กสิกรรมธรรมชาติโป่งแรด” ซึ่งเธอยอมรับว่าในช่วง 10 ปีแรกกับความพยายามต่อสู้กับความเชื่อของชาวสวนว่า “เกษตรอินทรีย์มันใช้ไม่ได้จริง” ซึ่งเธอเชื่อว่าการที่หลายคนไม่ประสบความสำเร็จอาจเป็นเพราะศึกษาไม่มากพอและไม่มีผู้นำ จึงไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาเปลี่ยนสุดท้ายพวกเขาเลยกลับไปใช้สารเคมีต่อ เธอจึงถอดบทเรียนการทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยการเป็นผู้นำโดยใช้ความสำเร็จจากสวนบุญทวีเป็นตัวอย่างและเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้เห็นการปฏิบัติจริงนอกเหนือจากการสอนด้วยหลักการเพียงอย่างเดียว เพราะการได้เห็นพื้นที่จริงเปรียบเสมือนห้องเรียนที่ทุกคนจะได้ลงมือทำ หากเกิดปัญหาก็จะสามารถแก้ไขได้จริง

การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ เธอมองนอกเหนือไปจากการทำเพื่อสร้างรายได้แต่คือการผลักดันให้การทำเกษตรอินทรีย์เติบโตต่อไป ด้วยการขับเคลื่อนสร้างเครือข่ายการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมในจังหวัดจันทบุรี โดยมีเป้าหมายใหญ่ คือการส่งต่อผลผลิตให้ผู้บริโภคได้กินของดี

และเหนือสิ่งอื่นใดคือการได้มาซึ่ง “สังคมเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม” เกิดมิตรภาพระหว่างเธอกับลูกศิษย์เป็นความ “อิ่มใจในแบบที่เงินซื้อไม่ได้” นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่ทำให้เกษตรอินทรีย์มีพลังมากขึ้นคือการผลักดันของ โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ที่เข้ามาเป็นตัวเชื่อมให้เกษตรอินทรีย์สามารถเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้มากขึ้น

“หนูอยากให้ทุกคนเดินตามรอยพ่อของแผ่นดินค่ะ สิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้ให้เป็นขุมทรัพย์กับคนไทยอย่างเรา”

ความฝันอันสูงสุดของปู ไม่ใช่ให้เมืองจันทบุรีปลอดภัยจากสารเคมีเท่านั้น แต่คือการทำให้ประเทศไทยปลอดภัยจากสารเคมี เพื่อสร้างความอุดมสมบูรณ์ในแผ่นดินของเราไม่ให้เป็นแผ่นดินที่อาบยาพิษอย่างเดียว

เปิด “บ้านฟากนา ฟาร์มสเตย์” ของอดีตเซลล์หันหลังให้ชีวิตกรุงเทพฯสู่กสิกรรมธรรมชาติบนความพอเพียง

สูตรสำรับอาหารจากวัตถุดิบท้องถิ่นบน “ภูหลวง” ด้วยฝีมือระดับเชฟโจ้สร้างมูลค่าพืชผลเพื่อชาวบ้าน

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ