"ลุงดาบ" ผู้สานต่อศาสตร์พระราชา มุ่งมั่นถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ด.ต.นิรันดร์ พิมล อดีตตำรวจตระเวนชายแดนผู้ใช้ศาสตร์พระราชาเป็นหนทางรอดพาชาวใต้ผ่านพ้นความทุกข์ยากจากภัยพิบัติ ทั้งการเตรียมการและฟื้นฟู ตลอดจนสร้างพื้นที่ทำกินแบบกสิกรรมธรรมชาติ ที่สำคัญตอนนี้ ลุงดาบกำลังส่งไม้ต่อให้กับรุ่นลูกเพื่อเดินหน้าสานต่อจนถึงรุ่นหลานต่อไป

หากย้อนกลับไปเมื่อครั้งยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นตำรวจตระเวนชายแดน ลุงดาบคือหนึ่งในคนที่เข้าไปในพื้นที่ประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่ของภาคใต้เมื่อปี พ.ศ. 2532 จาก “พายุไต้ฝุ่นเกย์” ถล่มที่ จ.ชุมพร ลุงดาบได้เห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านในระหว่างที่นำสิ่งของเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งความสูญเสียทรัพย์สินและชีวิต จนฉุกคิดขึ้นมาว่า “หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติผ่านพ้นไป  ชีวิตต่อจากนี้ของชาวบ้านผู้ประสบภัยจะอยู่อย่างไร” ประกอบกับหน่วยงานต้นสังกัดของลุงดาบเริ่มทำความเข้าใจถึงต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดภัยพิบัติในครั้งนี้ว่า “มาจากสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะการตัดไม้ทำลายป่าที่มากจนเกินไป”

“หัวหน้าฉิม” ผู้ยึดมั่นในศาสตร์พระราชาทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน

"ศาสนา สอนผา" นำพาศาสตร์พระราชามาฟื้นผืนป่าบนภูหลวง

แน่นอนว่าในพื้นที่ภาคใต้สิ่งที่นิยมปลูกกันแทบจะทุกพื้นที่ คือยางพาราและปาล์มน้ำมัน” ซึ่งล้วนแต่เป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อาจเนื่องมาจากพืชทั้งสองอย่างนี้ คือหนึ่งใน “พืชเศรษฐกิจ” ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ สร้างกำไรให้กับเกษตรกรเป็นกอบเป็นกำในยุคหนึ่ง และเป็นผลพวงจากนโยบายส่งเสริมของภาครัฐในอดีต แต่เมื่อทุกคนแห่มาปลูกกันมากขึ้น ราคายางที่เคยสูงถึงหลักร้อยบาทต่อกิโลกรัมก็ลดต่ำลงทุกๆ ปี ตามกลไกตลาด

นอกจากนั้น เกษตรกรชาวสวนยางยังเผชิญกับปัญหา “ยางตายนึ่ง” คือ การกรีดแล้วไม่มีน้ำยาง ออกมา เนื่องจากหน้ายางเปลือกแห้งหรือหน้ายางตาย ซึ่งปัญหานี้กลายเป็นปัญหาอันดับต้นๆ ของการทำสวนยางที่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถาวร และไม่เพียงแต่ในพื้นที่ภาคใต้เท่านั้น ในพื้นที่อื่นๆ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่หันมาปลูกยางจำนวนมากก็เจอปัญหานี้ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาทในปี พ.ศ. 2555

รวมพลัง “เอามื้อ” ฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสักจากสภาพเสื่อมโทรมสู่พื้นที่ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

เมื่อยางตายนึ่งมากขึ้น เกษตรกรมองว่าเป็นความผิดพลาดในการปลูก จึงลงทุนในการดูแลมากขึ้น ทั้งการใส่ปุ๋ย  กำจัดวัชพืช ไปจนถึงการใช้สารเคมี เพื่อเร่งผลผลิตน้ำยาง รวมถึงการถางป่าเพื่อปลูกยางในพื้นที่มากขึ้น ไม่มีรากไม้ใหญ่ยึดดิน สวนสมรม (สวนที่ปลูกพืชหลากหลายประเภท) อันเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวใต้หายไป

ผลพวงจากทั้งหมดที่กล่าวมา แสดงออกมาผ่านทางความรุนแรงในรูปแบบ “ภัยพิบัติ” อันเป็นสิ่งที่ “ลุงดาบ” เจอมากับตัวเองขณะเป็นตำรวจตระเวนชายแดน 

ค้นพบหนทางที่ “รอด” จากศาสตร์พระราชา

ก่อนที่ ลุงดาบ จะศรัทธาศาสตร์พระราชา ในปี พ.ศ. 2547 ลุงดาบตัดสินใจเกษียณอายุราชการ หลังจากส่งเสียลูกๆ เรียนจบปริญญาโทและปริญญาเอกแล้ว จึงนำเงินไปซื้อสวนปาล์มน้ำมัน 50 ไร่  สวนยางพารา 20 ไร่ เพื่อเลี้ยงชีพ แต่ด้วยคำของอาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ว่า....

“ก็ดี ก็รวยไปคนเดียว แต่ถ้ายางตายนึ่ง ทุกอย่างก็จะหายวับไปกับตา ให้หันไปดูว่าเกษตรกรรอบข้างว่าพวกเขาจะพึ่งใคร” คำพูดนั้นวนเวียนอยู่ในห้วงความคิดของลุงดาบ 2 คืน ลุงดาบจึงตัดสินใจชวนภรรยา “เดินตามรอยศาสตร์พระราชา” นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

เปิดบทสัมภาษณ์เพื่อเรียนรู้ศาสตร์พระราชากับ “อาจารย์ยักษ์” ผู้อุทิศตนให้ผืนป่าเมืองไทย

จากการเข้าอบรมกับอาจารย์ยักษ์ เรียนรู้ศาสตร์พระราชา ทั้งป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ลุงดาบเกิดความศรัทธาและเชื่อว่านี่คือทางรอดที่จะช่วยชาวบ้านพี่น้องคนใต้ได้ จึงเข้าอบรมถึง 8 รุ่น ด้วยการลงมือปฏิบัติเองจนได้ผลดี จึงเกิดความตั้งใจว่า “จะเดินตามรอยพ่อ” ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อช่วยชาวบ้าน ลุงดาบกลับมาเปิด ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง เครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชาวบ้าน โดยมีวิชาเอกคือ “เตือนภัย ป้องกัน ฟื้นฟูภัยพิบัติ โดยใช้ศาสตร์พระราชา” ที่มาของการฝึกหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำอาสาสมัครเพื่อป้องกัน เตือนภัยและฟื้นฟูชุมชนในภาวะวิกฤติ (Crisis Management Survival Camp: CMS) อันเป็นหัวใจสำคัญในการเตรียมพร้อม ให้ชาวบ้านรับมือหากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันเมื่อรู้วิธีป้องกันและรับมือแล้วลุงดาบยังได้ทำการ “ฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกร” เพื่อนำไปต่อยอดทำกินในผืนดินของแต่ละคน

พร้อมส่งไม้ต่อให้รุ่นลูก สู่ รุ่นหลานด้วยความตั้งใจ “ศาสตร์พระราชา” จะต้องคงอยู่สืบไป

ไม่เพียงเท่านั้น การทุ่มแรงกายและใจในการช่วยชาวบ้านจากศาสตร์พระราชายังสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกชาย นรากร พิมล (ปลัดเบิร์ด) ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคลองยาง จ.กระบี่ วิทยากรศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง และ ลูกสาว พรพรรณ พิมล (บี) ผู้ประสานงานศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง อันเป็นกำลังหลักสำคัญที่จะรับช่วงต่อจากลุงดาบ ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะส่งต่อให้รุ่นหลานต่อไปด้วย เพราะ “พ่อสอนเสมอว่า เมื่อมีโอกาสต้องทดแทนให้ผู้อื่น”

เรื่องราวของ “สวนบุญทวี” จุดหักดิบจากสวนเคมีสู่พื้นที่เกษตรอินทรีย์ 40 ไร่แห่งจันทบุรี

จากการเฝ้าดูพ่อทำงานให้ชาวบ้าน นรากร พิมล (ปลัดเบิร์ด) ได้เห็นนวัตกรรมต่างๆ ที่พ่อนำมาใช้กับศูนย์ และรู้สึกว่าอาจเกินกำลังที่ชายคนหนึ่งจะรับไหว จึงเอ่ยขอช่วยและได้ไปอยู่ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง 6 วัน ซึมซับความรู้เรื่องดิน เรื่องปุ๋ย และด้วยทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกร ก็ได้เห็นว่า จากหลายพื้นที่ที่เคยเป็นป่า กลายเป็นป่ายางที่ใช้แต่เคมีภัณฑ์ เมื่อเจอกับภัยพิบัติหน้าดินพังทลาย สารเคมีจึงซึมซับไปทุกพื้นที่ตั้งแต่พื้นที่สูงจนถึงทะเล เป็นเหมือนสงครามที่กำลังสร้างหายนะให้กับโลก และ “พ่อคือต้นแบบของการไม่นิ่งดูดายต่อหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้น” จึงนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากทั้งพ่อและศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง มาถ่ายทอดให้กับเกษตรกรในพื้นที่

เช่นเดียวกับ พรพรรณ พิมล (บี) ผู้ประสานงานศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง ที่ทำหน้าที่ด้านงานธุรการเอกสาร ประชาสัมพันธ์ รวมถึงการเป็นวิทยากรเรื่องการทำผลิตภัณฑ์ให้กับชาวบ้านภายใต้ชื่อว่า “คนมีน้ำยา” โดยใช้ความรู้ด้านเคมีที่เรียน มาทำการวิจัยบำบัดสารปนเปื้อน หันมาทดลองทำผลิตภัณฑ์ใช้เองโดยใช้สารธรรมชาติเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน

นอกจากรับไม้ต่อจากพ่อแล้ว ทั้งสองคนยังพร้อมจะส่งต่อไปถึงรุ่นหลาน “คำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้องไม่หาย ภูมิปัญญาบรรพบุรุษแต่ละพื้นที่จะต้องไม่หายและถูกส่งต่อ”

นรากร พิมล (ปลัดเบิร์ด) บอกอย่างหนักแน่น...

ไม่ต้องรอสงครามที่จะทำให้ทุกคนบนโลกเก่งเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะทุกวันนี้สิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ก็คือ “สงคราม” ในรูปแบบหนึ่ง และศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็คือหนทาง “รอด” ที่ยั่งยืน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ