เปิดใจกลุ่มเคลื่อนไหวแก้รธน.รู้เห็นฝ่ายค้านหรือไม่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




เปิดใจกลุ่มเคลื่อนไหวแก้รธน. หลังภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เสนอโมเดลตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560  

ล่าสุด ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจ เลขาธิการคณะกรรมการอำนวยการภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เปิดใจกับพีพีทีวีถึงความจำเป็นที่ต้องมี ส.ส.ร. ว่า เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนโดยตรง รวมถึงไม่มั่นใจว่า การปล่อยให้ส.ส.และส.ว.แก้ไขรัฐธรรมนูญกันเองจะได้ผลลัพธ์ที่ตรงใจประชาชนหรือไม่

จับสัญญาณชีพร่างรัฐธรรมนูญ นักการเมืองแห่ถล่ม กก.ยุทธศาสตร์ฯ อำนาจล้น!

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ยังกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องตั้งภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และการเสนอตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. ซึ่งแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวานนี้ โดยระบุว่า  แม้ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้โดย ส.ส. และ ส.ว.อยู่แล้ว แต่ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์มองว่า นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จะออกแบบให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากแล้ว ยังไม่มีหลักประกันใดยืนยันว่า การแก้ไขจะเป็นไปตามที่ประชาชนต้องการหรือไม่

เปิดตัว ภาคีเคลื่อนไหวแก้รธน. เตรียมเดินสายตั้งส.ส.ร.

นอกจากนี้ ยังมองว่า หากมีการตั้งส.ส.ร.จะยิ่งส่งเสิรมกระบวนการประชาธิปไตยให้ประชาชน เพราะ ในส.ส.ร. จะประกอบด้วยตัวแทนจากทุกภาคส่วน ซึ่งการจะตั้งส.ส.ร.ได้หรือไม่ จะต้องเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ซึ่งเกี่ยวข้องกับขั้นตอนและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน นี่เป็นเหตุผลที่หลังจากนี้ทางภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย จะเดินหน้าเข้าพบนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และ พรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

ส่วนแนวทางของภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ในช่วงแรกเสนอให้ตั้งเวทีถกแถลงแห่งชาติ ถกเถียงรายละเอียดของประเด็นที่มองว่าควรแก้ไข เพื่อให้ตกผลึกร่วมกันทุกฝ่ายก่อน จากนั้นจึงตั้งส.ส.ร.เพื่อดำเนินการ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ย้ำชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวนี้ไม่ใช่เกมการเมือง เพราะนอกจาก 7 พรรคฝ่ายค้านที่เข้าร่วมภาคีแล้ว ยังมีพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเข้าร่วมด้วย พร้อมยอมรับว่าไม่คาดหวังว่า พรรคพลังประชารัฐจะเข้าร่วมภาคีฯด้วย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันออกแบบให้ได้เปรียบทางการเมือง แต่ก็เชื่อว่าจะมีส.ส.จากพรรคดังกล่าวที่มีอุดมการณ์ตรงกันเข้าร่วมด้วยส่วนหนึ่ง

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะที่เคยเป็น ส.ส.ร.ปี 2540 แสดงความเห็นว่า การเสนอให้ตั้งส.ส.ร. จะต้องแก้กฎหมาย 2 ชั้น ซึ่งอาจทำได้ยากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามขั้นตอนปกติ คือ ให้ ส.ส. และ ส.ว. แก้ไขตามที่กฎหมายกำหนด เพราะ หากตั้ง ส.ส.ร. จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้มี ส.ส.ร. ทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้น ส.ส.ร.จึงจะไปแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

นายเสรี ยังเปรียบเทียบว่า บริบทการตั้งส.ส.ร. ปี 2540 กับปัจจุบันมีความแตกต่างกันมาก เพราะ ปี 2540 ประชาชนเรียกร้องให้ปฎิรูปการเมืองและเห็นพ้องต้องกันว่า ควรตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ จึงสามารถทำได้สำเร็จ แต่สภาพสังคมปัจจุบันประชาชนยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนการตั้งส.ส.ร.จึงทำได้ยาก

นายเสรี ย้ำว่าความเห็นทั้งหมดไม่ใช่การตีรวนว่าการตั้งส.ส.ร.จะไม่สามารถทำได้ แต่เป็นการสะท้อนว่าการตั้งส.ส.ร.สามารถทำได้ หากทุกฝ่ายในสังคมเห็นพ้องต้องกันทั้งประเด็นว่าควรมีการตั้งส.ส.ร.หรือไม่ และประเด็นเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมถึงควรตอบให้ได้ด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีอุปสรรคอย่างไรถึงจำเป็นต้องแก้ไข เพราะ ขณะนี้มีหลายฝ่ายไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ เพียงเพราะ มีที่มาจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่แต่งตั้งมาจากคสช. ซึ่งต้องยอมรับว่าประเด็นนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ