ผลักดันกฎหมายเพิ่มเงินช่วยเหลือคนตกงาน!


โดย PPTV Online

เผยแพร่




สภาองค์การลูกจ้างฯ ขอเข้าพบรมว.แรงงาน ปรับอัตราจ่ายเงินทดแทนการว่างงาน หลังสถานการณ์คนตกงานน่าเป็นห่วง! ชี้ขอเพิ่มเป็น 75%ของค่าจ้างทุกเงื่อนไข ทั้งลาออก เลิกจ้าง หรือไล่ออก ได้เงินทุกกรณี

วันที่ 31 ต.ค.62  นายมนัส โกศล  ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการผลักดันกฎหมายเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างตกงาน ว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า สถานการณ์การเลิกจ้าง บริษัทหลายแห่งปิดกิจการ ลูกจ้างตกงาน ว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีมาตรการหรือกฎหมายมารองรับช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้าง หรือผู้ประกันตนที่มีการสมทบเงินร่วมกับนายจ้างและภาครัฐเข้ากองทุนประกันสังคม หากตกงานก็จะได้รับเงินกรณีว่างงานจากกองทุนทดแทนการว่างงาน โดยจะแบ่งเงื่อนไขเป็น 3 กรณี คือ 1.ลาออกจากงานจะได้รับเงินทดแทนการว่างงาน 30 % จากค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน 2.กรณีถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด จะได้รับเงินทดแทนว่างงาน 50 %ของค่าจ้างเป็นเวลา 180 วัน และ3.กรณีถูกไล่ออกมีความผิด จะไม่ได้รับอะไรเลย

ก.แรงงานชี้ สถานการณ์ว่างงาน ไร้กังวล!

“ประเด็นอยู่ที่ว่า  การเลิกจ้างหลายครั้งก็ไม่ชัดเจนว่า มีความผิดจริงหรือไม่มีความผิด อย่างหลายเคสก็ต้องไปฟ้องร้องกันยาวนาน  แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทันที คือ  ลูกจ้าง เพราะเมื่อถูกเลิกจ้าง ตกงาน หลายคนว่างงานหางานไม่ได้ แต่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันยังจำเป็นต้องมี ขณะที่เงินทดแทนการว่างงานไม่เพียงพอ บางรายไม่ได้อีกเพราะติดเงื่อนไข ดังนั้น ทางสภาองค์การลูกจ้างฯ จึงเดินหน้าเพื่อผลักดันในการปรับแก้กฎหมายให้จ่ายเงินกรณีว่างงานแก่ลูกจ้างที่ตกงานทุกกรณีในอัตรา 75%ของค่าจ้าง เป็นเวลา 6 เดือน เนื่องจากเงินที่นำมาให้ลูกจ้างก็เป็นเงินที่ได้จากการสมทบในกองทุนประกันสังคมทั้งสิ้น ” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำหนังสือถึง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอปรับแก้อัตราการจ่ายเงินทดแทนการว่างงาน และล่าสุดวันนี้(31 ต.ค.) ตนได้ทำเรื่องสอบถามไปยังกระทรวงแรงงานถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า จะมีแนวทางช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตนอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะขอเข้าพบท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ภายในสัปดาห์หน้า

นายมนัส โกศล

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากหากเพิ่มอัตราเงินทดแทนว่างงาน จะมีเงินเพียงพอหรือไม่ ประธานสภาองค์การลูกจ้างฯ กล่าวว่า เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากกองทุนว่างงานมีถึง 2 แสนล้านบาท และที่ผ่านมามีลูกจ้างที่ใช้สิทธินี้ประมาณ 30-50 % เท่านั้น

“กองทุนประกันสังคม นับเป็นกองทุนที่มีเงินมหาศาลรวมแล้วมีเงินถึง 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 3 กองทุน คือ 1.กองทุนเจ็บป่วย เสียชีวิต ทุพพลภาพ ลาคลอด กองทุนนี้มีประมาณ 8 หมื่นล้านบาท  ผู้ประกันตนสมทบ 1.5% นายจ้างและรัฐบาลสมทบอีกฝ่ายละ 1.5%  2.กองทุนบำเหน็จบำนาญชราภาพ มีเงิน 1.8 ล้านล้านบาท ผู้ประกันตนสมทบ 3% นายจ้าง 3% แต่รัฐบาลไม่ได้สมทบ  และ3.กองุทนว่างงาน มี 2 แสนล้านบาท ผู้ประกันตน นายจ้างสมทบฝ่ายละ0.50% ส่วนรัฐบาลสมทบ 0.25% เห็นชัดว่า ผู้ประกันตนได้จ่ายสมทบหมด จึงมีสิทธิที่จะขอเพิ่มส่วนนี้ได้ เพราะที่ผ่านมากลุ่มลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และบริษัทบอกว่ามีความผิดก็ไม่สามารถใช้ได้เลย ทั้งๆที่มีเงินตัวเองอยู่ด้วย” นายมนัส กล่าว

สถานการณ์แย่! นายจ้างแบกรับไม่ไหว หยุดกิจการชั่วคราว หลายแห่งปิดถาวร ลูกจ้างตกงาน

สภาแรงงานฯ ดันกฎหมายช่วย ‘ลูกจ้างเหมาบริการ’ 4 แสนคน หลังไร้สิทธิ ไร้ความมั่นคงในอาชีพ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ