ลวกช้อนส้อมหม้อหุงข้าว!   อุณหภูมิไม่ถึง 80 องศา รับเชื้อ “แบคทีเรีย-ไวรัส” เต็มๆ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




หมอเตือนศูนย์อาหารใช้หม้อหุงข้าวต้มน้ำร้อนลวกช้อนส้อมตะเกียบ ความร้อนไม่ถึงฆ่าเชื้อโรคไม่ได้ หนำซ้ำตัวเชื้อลอยสะสมในหม้อ ผู้บริโภคเสี่ยงป่วยท้องร่วงไม่รู้ตัว

กลับมาอีกครั้ง กับประเด็นข้อกังวลว่า การใช้ช้อนลวกน้ำร้อนในหม้อหุงข้าวตามร้านอาหาร หรือ food court จะฆ่าเชื้อโรคได้จริงหรือไม่ เพราะหากความร้อนไม่ถึงอุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส ย่อมไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แต่จะยิ่งทำให้เสี่ยงรับเชื้อโรคพวกแบคทีเรีย ไวรัส เพิ่มเติม.....

หม้อต้มน้ำ ฆ่าเชื้อโรคได้จริงหรือ ?

วันที่ 14 พ.ย.2562  นพ. ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้ข้อมูลว่า จริงๆแล้วการลวกช้อนส้อมในหม้อต้มน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรคนั้น สามารถทำได้จริง แต่อุณหภูมิต้องสูงถึง 90 องศาถึงจะสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ หรือไม่ก็ต้องอย่างต่ำๆ 80 องศาอย่างน้อย 4 นาที ซึ่งหากเราใช้เป็นหม้อต้มน้ำสำหรับลวกช้อนส้อม ตะเกียบโดยตรง จะมีการตั้งอุณหภูมิเอาไว้ ซึ่งตรงนี้ก็จะดีกว่า การใช้หม้อหุงข้าวเล็กๆ มาต้มน้ำแล้วทิ้งไว้ทั้งวัน ซึ่งเสี่ยงรับเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรีย ไวรัส เพราะเราไม่รู้ว่า แต่ละคนที่เอาช้อนส้อมมาลวก มืออาจไปสัมผัสเชื้อโรคอะไรหรือไม่ ซึ่งการนำไปลวกด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิไม่ถึง พวกเชื้อโรคต่างๆ ก็ไม่ตาย และยังลอยอยู่ในน้ำที่อุ่นๆ หากนำช้อนส้อมเหล่านั้นไปใช้ก็เสี่ยงรับเชื้อโรค และนำไปสู่โรคทางเดินระบบอาหาร โดยเฉพาะโรคท้องร่วง

“จริงๆ หากจะใช้หม้อหุงข้าวเล็กๆ ต้มน้ำ และไม่แน่ใจว่าอุณหภูมิสูงถึงฆ่าเชื้อโรคได้หรือไม่ ก็ต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำร้อนนั้นๆ ทุกชั่วโมง เพราะถ้าแช่ไว้ทั้งวัน ก็ยิ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวนเชื้อโรค  พวกเชื้อโรคที่ทนต่อความร้อนก็จะยิ่งรวมตัวนั้น หากเป็นไปได้ก็ควรหันมาใช้หม้อเฉพาะโดยตรงที่ปรับอุณหภูมิได้ โดยราคาแม้จะสูงกว่า แต่หากตั้งในศูนย์อาหารก็น่าจะรวมกันซื้อ หรือเป็นสวัสดิการของเจ้าของศูนย์อาหารนั้นๆ ในการจัดหาไว้ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องดีเพิ่มความเชื่อมั่นได้ แต่หากไม่มีจริงๆ ก็อาจไม่ต้องใช้เลยก็ได้ น่าจะเสี่ยงน้อยที่สุดแล้ว” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.ดนัย กล่าวอีกว่า  กระบวนการที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้ภาชนะสะอาดปลอดภัย คือ การล้างที่ถูกหลักสุขาภิบาล ซึ่งเป็นวิธีการที่ต้องให้ความสำคัญที่สุด โดยเฉพาะขั้นตอนการล้างทำความสะอาดและการผึ่งให้แห้งสนิท 3 ขั้นตอน คือ 1. ขจัดเศษอาหารและล้างด้วยน้ำผสมน้ำยาล้างจาน 2. ล้างด้วยน้ำสะอาดอย่างน้อย 2 ครั้ง และ 3. ฆ่าเชื้อโรคด้วยการทำให้แห้งโดยตากแดดหรืออบด้วยความร้อน สำหรับวิธีสังเกตความสะอาดของช้อน ส้อมและภาชนะต่างๆ ผู้บริโภคสามารถทำได้ ดังนี้ คือ 1. ต้องทำจากวัสดุที่ไม่เป็นพิษ     เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รูปทรงทำความสะอาดง่าย ทนทานไม่แตกหักง่าย ใช้ถูกประเภทอาหาร 2) เมื่อล้างสะอาดแล้วเก็บคว่ำให้แห้ง และ 3) เก็บให้เป็นระเบียบ วางช้อนนอนเรียงเป็นทางเดียวในภาชนะโปร่งสะอาดหรือวางตั้งเอาด้ามขึ้นในภาชนะโปร่งสะอาดและมีการปกปิด เก็บสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร

                 

“สิ่งสำคัญอยากให้เปลี่ยนถ่ายน้ำและให้ผู้ใช้หยิบแช่เอง ไม่ควรใช้หม้อหุงข้าวประเภทที่เคลือบผิวภาชนะด้วยเทฟลอน เซรามิค เพราะอาจเสี่ยงต่อสารโลหะจำพวกตะกั่วและโครเมียม อุปกรณ์ลวกช้อน ควรออกแบบมาโดยเฉพาะทำด้วยสแตนเลส สามารถตั้งอุณหภูมิได้ตามกำหนด และมีการป้องกันไฟฟ้ารั่ว ดูด ไม่ควรเลือกภาชนะที่มีลวดลายหรือมีสีทา เพราะอาจมีส่วนผสมของตะกั่ว ซึ่งสามารถสลายตัวได้เมื่อถูกความร้อน ส่วนเครื่องต้มน้ำไฟฟ้าแบบขั้วเปลือยซึ่งไม่ผ่านมาตรฐาน มอก. ไม่ควรนำมาใช้ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่อันตรายตามคำสั่งของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค   ที่ 06/2529” นพ.ดนัย กล่าว

 

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ