ประชุม COP25 มุ่งรับมือน้ำทะเลเพิ่มสูง – ช่องว่างปล่อยก๊าซคาร์บอน


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ผู้นำโลก นักเคลื่อนไหว และนักวิทยาศาสตร์ จากเกือบ 200 ประเทศ เตรียมร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ครั้งที่ 25 หรือ COP25 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ท่ามกลางความตระหนักถึงวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น

นักวิทย์เตือนโลกกำลังกลายสภาพเป็น “โรงบ่มความร้อน”

ฟินแลนด์เล็งเป็นชาติอุตสาหกรรมแห่งแรกปล่อยคาร์บอนติดลบ

ความล้มเหลวของการประชุมที่ผ่านมาในการเปลี่ยนคำพูดสวยหรูให้เป็นนโยบายที่เป็นรูปธรรม ทำให้การประชุมในปีนี้มีเดิมพันที่สูงขึ้นกว่าทุกครั้ง  โดยนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวเตือนเมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.) ว่า โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสภาพอากาศ โดย “จุดที่ย้อนกลับไม่ได้” อยู่ตรงหน้าเราแล้ว และกำลังพุ่งเข้ามาอย่างรวดเร็ว

ขณะที่การประชุมครั้งนี้ยังถูกจับตามองโดยกลุ่มต่อต้านภาวะโลกร้อนทั่วโลกซึ่งจุดประกายขึ้นโดย เกรตา ทุนเบิร์ก นักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน  โดยการประชุม COP25 ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Blue COP” เนื่องจากมุ่งเน้นไปที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมหาสมุทร เช่น การเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมในทะเล และความหลากหลายทางชีวภาพ

กรรมาธิการสหภาพยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเล และประมง กล่าวที่การประชุม Our Ocean เมื่อเดือนที่ผ่านมาที่ประเทศนอร์เวย์ ว่า ในการเจรจาข้อตกปารีส ไม่มีการพูดถึงมหาสมุทรต่างๆ เลย โดยวาระเกี่ยวกับมหาสมุทรถูกจัดให้อยู่ในการประชุมข้างเคียงเท่านั้น  ซึ่งผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมในปีนี้ต่างต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ เช่น ชิลีและอาร์เจนตินา ที่หวังผลักดันการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในแอนตาร์กติกา

สำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ แต่สหรัฐฯ ยังคงส่งทีมเข้าร่วมเจรจาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง นำโดยคือ นางมาร์เซีย เบอร์นิแคท รองผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านมหาสมุทร และกิจการสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ

เช่นเดียวกับ ประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ของบราซิล ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ แม้ว่าบราซิลจะเผชิญกับวิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่ในแอมะซอน  ที่เผาทำลายพื้นที่เกือบ 10,000 ตารางกิโลเมตร  

ขณะเดียวกัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สหภาพประชาชาติได้ออกรายงานการลดก๊าซเรือนกระจกประจำปีนี้ (Emission Gap) โดยระบุว่า แม้ว่าทั่วโลกจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในข้อตกลงกรุงปารีส อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกก็จะยังเพิ่มสูงขึ้น 3.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับสมัยก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส

รายงานสหประชาชาติระบุว่า หากต้องการจะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้เพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส ทั่วโลกจะต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 7.6 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จนถึงปี 2030

 

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ