22 ปี “งูเห่าการเมือง” จากลุงหมัก ถึงลุงตู่


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คำว่า งูเห่าการเมือง ถูกบัญญัติขึ้นเมื่อ 2540 เวลาผ่านมาแล้ว 22 ปี คำคำนี้ก็ยังคงอยู่

 “จตุพร” เชื่อ 2 พรรคใหญ่ มีงูเห่า

เศรษฐกิจใหม่ ลั่น พร้อมร่วมรบ. รอผู้ใหญ่โทรชวน

“งูเห่า” คำคุ้นเคยทางการเมือง  ที่มีบทบาททั้งอดีตและปัจจุบัน  

ต้นตอก็ไม่ได้มาจากไหน แต่มาจากนิทานอีสปเรื่องชาวนากับงูเห่า เล่าเรื่องเริ่มจากฤดูหนาว ใกล้เคียงกับช่วงเวลานี้ ที่ฤดูกาลหนาวเหน็บ แต่การเมืองร้อนฉ่า

เมื่อชาวนาสงสารงูเห่าที่นอนหนาว จึงเอามาให้ความอบอุ่น แต่สุดท้ายก็ถูกอสรพิษร้ายแว้งกัด

ส่วนงูเห่าการเมืองไทย มีกระแสมาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ช่วงแรกของรัฐบาลชุดนี้ ว่าจะมีใครบางคนจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน แปลงร่างเป็นงูเห่ามาช่วยโหวตสนับสนุนรัฐบาลในวาระสำคัญต่างๆ

ความชัดเจนเริ่มชัดมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากงูเห่าสีส้ม ทีเริ่มโผล่ขึ้นมาทีละตัวสองตัว

จนล่าสุดเกิดงูเห่าโผล่จากฉีกพรรคร่วมฝ่ายค้าน เป็นสิบตัว  ครั้งการนับองค์ประชุมในการประชุมสภา เรื่องการตั้งคณะกมธ.ศึกษาผลกระทบจากม.44

คอการเมืองต่างวิเคราะห์กันว่า งูเห่า ยังจะมีมากกว่านี้ ในการโหวตการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรี ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า

เรารู้แล้วว่า “งูเห่า” มาจากนิทานอีสป ที่ถูกใช้ในการเมืองไทย  แต่เมื่อไหร่กันที่ถูกเริ่มนำมาใช้ ทีมข่าวพีพีทีวีออนไลน์ จึงมาย้อนที่มาที่ไปของ งูเห่าการเมือง ให้ได้รู้กัน

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2540 เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ตัดสินใจลาออก  ซึ่งครั้งนั้นพรรคร่วมรัฐบาลเดิมตัดสินใจที่จะรวมกลุ่มกันและสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

โดยขณะนั้นมีเสียง ส.ส. พรรคร่วมฯที่จับมือกัน  4 พรรครวม 197 เสียง ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่  125 เสียงพรรคชาติพัฒนา 52 เสียง  พรรคประชากรไทย 18 เสียง พรรคมวลชน 2 เสียง

ส่วนอีกฝ่ายก็พยายามจัดตั้งรัฐบาลแข่ง โดยชูนายชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ และมีพรรคแกนนำคือพรรคประชาธิปัตย์ 123 เสียง พรรคชาติไทย 39 เสียง  พรรคเอกภาพ 8 เสียง  พรรคพลังธรรม 1 เสียง  พรรคไท  1 เสียง   รวมกับพรรคร่วมเดิมอย่าง พรรคกิจสังคม 20 เสียง  และ พรรคเสรีธรรม 4 เสียง  รวมได้ 196 เสียง แต่ก็ยังน้อยกว่าฝั่งตรงข้ามอยู่ 1 เสียง

ทำให้ผู้จัดการรัฐบาลในตอนนั้นอย่าง “เสธ.หนั่น” พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์  เจรจาดึงส.ส.พรรคประชากรไทย ในกลุ่มของนายวัฒนา อัศวเหม จำนวน 13 คนเข้ามาสนับสนุน จึงรวมได้เป็น 209 เสียง นายชวน จึงได้เป็นนายกฯ 

ทำให้พรรคประชากรไทยแตกออกเป็นสองฝ่าย คือที่หนุนพล.อ.ชาติชายและอยู่กับ สมัคร สุนทรเวช เหลือเพียง 5 เสียงจาก 18 เสียง  ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น “สมัคร” ได้เอาสำนวนจากนิทานอีสปเรื่อง “ชาวนากับงูเห่า” มาใช้

โดยนายสมัคร เปรียบตัวเองเป็นชาวนา ที่นำเอากลุ่มของ “วัฒนา” ให้มาอยู่ด้วย เพราะ ขณะนั้น “วัฒนา” ขัดแย้งกับ “บรรหาร ศิลปอาชา” เจ้าของพรรคชาติไทยและย้ายมาอยู่กับนายสมัคร แต่สุดท้ายเขาก็ถูกงูเห่าแว้งกัด และเปรียบกลุ่มของนายวัฒนาเป็นกลุ่ม “งูเห่า” เหตุการณ์ครั้งนั้น จึงน่าจะเป็นต้นกำเนิดของคำว่า “งูเห่า” ทางการเมือง

จนมาถึงปัจจุบัน ที่ชื่องูเห่ากลับมามีบทบาทอีกครั้ง แต่หากสังเกตุการณ์ให้ดีปรากฎการณ์งูเห่าเกือบทุกครั้ง กลุ่มส.ส.งูเห่า มักจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะชี้ชะตานายกฯหรือชี้ชะตารัฐบาลในยุคสมัยนั้นๆ

ส่วนการเลี้ยงงูเห่าก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องแลกกับอะไรมากมายไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้หรือกล้วยจำนวนไม่น้อยหรือกับคดีความต่างๆ

งูเห่าจะมีค่าและราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ ตามเสียงที่ปริ่มน้ำ

ที่สำคัญต้องคอยระวังว่างูเห่าจะกลับมาแว้งกัดตัวเองหรือเปล่า...

ส.ส.อนาคตใหม่ เตรียมแฉ “ขบวนการซื้องูเห่า”

 

 

 

 

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ