ปัญหาภัยแล้ง เริ่มส่งผลกระทบเกษตรกรในหลายพื้นที่  


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ชาวนาอ่างทองตั้งเครื่องสูบรอน้ำ หลังคลองชลประทานแห้งนานนับเดือน ขณะที่หลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งแล้ว

“ภัยแล้ง” ผลกระทบที่เกษตรกรต้องรับมือ

เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่กว่า 10 เครื่องพร้อมท่อสูบน้ำถูกชาวนาในพื้นที่ตำบลจระเข้ร้องและตำบลชัยฤทธิ์นำมาติดตั้งไว้ในคลองส่งน้ำ 11 ซ้าย ชัยนาท-อยุธยา ริมถนนสายอ่างทอง-ไชโย เพื่อรอสูบน้ำเข้านาข้าวกว่า 5 พันไร่ ที่กำลังใกล้เก็บเกี่ยวหลังชลประทานงดการจ่ายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานเนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีน้อยทำให้ไม่สามารถจัดสรรน้ำให้กับนาข้าวในพื้นที่ได้ ทำให้ระดับน้ำในคลองชลประทานแห้งจนไม่สามารถที่จะสูบน้ำเข้านา แต่ชาวนาก็ยังคงตั้งเครื่องรอไว้เผื่อมีน้ำเข้ามาในระบบก็จะสามารถสูบน้ำเข้านาได้ทันที

ชาวนารายหนึ่ง เปิดเผยว่าปีนี้แล้งมาเร็วกว่าทุกปี แม้ชลประทานจะออกประกาส เตือนไม่ให้ชาวนาทำนาแต่ชาวนาส่วนใหญ่ลงทุนซื้อข้าวปลูกเตรียมไว้แล้วจึงต้องเสี่ยงทำนาข้าวแม้จะประสบปัญหา แต่ก็พร้อมยอมรับสภาพเพราะไม่มีอาชีพอื่นหากไม่ทำนาก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่านาและเลี้ยงครอบครัว ซึ่งหากเสียหายก็ยังพอที่จะมีข้าวขายได้บ้างดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

อีกหนึ่งพื้นที่ ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ที่จังหวัดนครราชสีมา คือ บ้านหนองหลัก อำเภอชุมพวง ตอนนี้สระน้ำที่อยู่กลางนาของชาวบ้านเริ่มแห้งขอด ชาวบ้านจึงพลิกวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการหาปลาไหลมารับประทาน และนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เสริม

นายวิชาญ กุมพวา อายุ 45 ปี หนึ่งในชาวบ้านที่ออกหาปลาไหลบอกว่า หากมีสระน้ำหรือลำคลองที่เริ่มแห้งขอด ชาวบ้านก็จะพากันออกไปหาแทงปลาไหลกันเป็นประจำ เนื่องจากช่วงนี้เป็นช่วงว่างเว้นจากการทำนา บางวันหากโชคดีอาจจะได้ปลาไหลกลับบ้านมากกว่า 2-4 กิโลกรัม ส่วนใหญ่ก็จะนำไปประกอบอาหารรับประทานภายในครอบครัวจำพวกอ่อมปลาไหล ต้มยำปลาไหล หรือปลาไหลย่าง ซึ่งเป็นเมนูรสเด็ดที่ชาวบ้านในพื้นที่ชอบรับประทานส่วนปลาไหล ที่เหลือก็จะจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ราคาก็กิโลกรัมละ 200 บาท

ส่วนที่จังหวัดอุทัยธานี สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผักหลายชนิดไม่โต เช่น ผักบุ้งจีน ถั่วฝักยาว โหรพา กะเพรา และแมงลัก ทำให้ตอนนี้ผลผลิตไม่เพียงพอที่จะส่งไปยังตลาดขายผักสดได้อย่างทั่วถึง

ล่าสุดจากการสำรวจราคาผักสดที่ตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานี อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี พบว่าผักหลายชนิดขยับราคาแพงขึ้นเป็นเท่าตัว เช่น ผักบุ้งจีนจากราคากิโลกรัมละ 30 บาท ขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 60 บาท ถั่วฝักยาวจากกิโลกรัมละ 30 บาท ขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 60 บาท โหรพาจากกิโลกรัมละ 50 บาท ขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 80 บาท ทำให้ประชาชนมีต้นทุนในการซื้อผักแพงขึ้น โดยเฉพาะแม่ค้าร้านอาหารตามสั่งที่ต้องใช้ผักดังกล่าวเป็นส่วนประกอบสำคัญ ตอนนี้ต้นทุนสูงขึ้น แต่ยังขายราคาเท่าเดิม ทำให้มีกำไรน้อยลง

ภัยแล้ง ทำผลผลิตข้าว สูญเสีย 15,000 ล้านบาท  

 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ