รู้มั้ย!  บูลลี่ในโรงเรียน ผลกระทบทั้ง 2 ฝั่ง “คนถูกแกล้งกับคนชอบแกล้ง”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อธิบดีกรมสุขภาพจิตเผยปัญหาบูลลี่ในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งครอบครัว และโรงเรียน 

เหตุการณ์ยิงกันในโรงเรียน หรือ school shooting   ซึ่งเป็นความรุนแรงในสถานศึกษา โรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย ที่เกิดจากอาวุธปืนและเครื่องกระสุน ถือเป็นเหตุโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนใหญ่มักพบในต่างประเทศ   ขณะที่ประเทศไทยแทบไม่เคยเกิดขึ้น แต่ล่าสุดกลับเกิดเหตุการณ์สุดสลด เมื่อเด็กนักเรียนม.1 ทนไม่ไหวหลังจากถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง โดยถูกบูลลี่มาตลอด จนขโมยปืนพ่อและยิงเพื่อนร่วมชั้นเรียนเสียชีวิต  ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า เพราะอะไรจึงเกิดกรณีดังกล่าวในประเทศไทย

อันตราย! เคสม.1 ยิงเพื่อนเสียชีวิต เหตุจากถูกบูลลี่  กรมจิตฯส่งทีมเยียวยาเด็ก

กลั่นแกล้งในโรงเรียน ปัญหาใหญ่ที่ต้องร่วมมือกันแก้ไข

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ โดยเฉพาะในโรงเรียน ครูต้องช่วยกันสอดส่องดูแล เพราะไม่ใช่เหมือนครั้งอดีตที่หลายคนถูกเพื่อนล้อ หลายคนรับได้ หลายคนรับไม่ได้ บางคนเดินหนี บางคนก็สู้ แต่เคสนี้รุนแรง อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไป เพราะความเป็นเพื่อน ความรักกันของเพื่อนเริ่มลดลง ไม่มีเพื่อนคอยช่วยเหลือกัน แต่ก่อนถูกเพื่อนแกล้งก็ยังมีเพื่อนอีกกลุ่มคอยช่วยเหลือได้ แต่ปัจจุบันบริบทเปลี่ยน อาจเพราะสังคมเปลี่ยน ยิ่งยุคดิจิทัล การใช้โซเชียลมีเดีย สิ่งสำคัญจึงต้องป้องกันก่อนโดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งครอบครัว และโรงเรียน โดยเฉพาะครู ต้องสอดส่องดูแลนักเรียน และคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  

ทั้งนี้  ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุถึงความจริงเกี่ยวกับการยิงกันในโรงเรียน โดยระบุว่า เหตุการณ์ยิงกันในโรงเรียนเกิดขึ้นน้อยมาก อย่างในสหรัฐอเมริกาพบว่า น้อยกว่า 2% ของการเสียชีวิตของเยาวชนเกิดจากการยิงกันในโรงเรียน และแทบไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ทั้งนี้ การยิงกันในโรงเรียน ไม่มีรูปแบบหรือลักษณะของผู้ก่อเหตุที่ตายตัว แต่มักมีแรงจูงใจหลายประการ ส่วนมาก คือ ความคับข้องใจจากเพื่อนร่วมชั้น และทั้งหมดมักได้รับความเครียดทางสังคมจากความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือแฟน  อีกทั้ง ยังพบว่าเกือบทั้งหมดมีความเครียดจากทางบ้านร่วมด้วย ประกอบกับเกือบทั้งหมดเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ที่สำคัญกลุ่มนี้มักนำอาวุธมาจากบ้าน อีกทั้ง พบว่า มากกว่าครึ่งให้ความสนใจในเรื่องที่เป็นความรุนแรง

สำหรับการกลั่นแกล้งมีหลายประเภท โดยหลักๆ คือ ทางร่างกาย ทั้งการชกต่อย การผลัก และการตบตี ทางสังคมหรือด้านอารมณ์ คือ กดดัน ยั่วยุ แบ่งแยก ทางวจา คือ การดูถูก นินทา เยาะเย้ย เสียดสี โกหกบิดเบือน  ที่สำคัญการกลั่นแกล้งยังพบมากในโลกออนไลน์ ทั้งการโพสต์ข้อความโจมตี คุกคามทางเพศ เป็นต้น

โดยกรมสุขภาพจิตยังให้คำแนะนำเมื่อถูกกลั่นแกล้งหรือรังแก ดังนี้ 1.ตั้งสติให้รู้ตัว ว่า กำลังเจอกับการรังแก 2.เดินจากไปอย่างสงบ ไม่ใส่ใจ 3. อย่าให้ผู้กลั่นแกล้งรู้สึกสนุกจากการตอบสนองของเรา 4. มั่นใจในสิ่งที่ตัวเองเป็นและคุณค่าของเรา 5.อยู่ในที่ปลอดภัยมีเพื่อนที่เข้าใจอยู่ข้างๆ 6. ไม่เลือกใช้กำลัง เพราะนั่นอาจเป็นสิ่งที่ผู้กลั่นแกล้งต้องการ และ 7. หากการกลั่นแกล้งยังรุนแรง ให้พูดคุยกับผู้ใหญ่ที่เข้าใจและรู้วิธีจัดการ

จิตแพทย์ แนะสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงเรียน

ส่วนผลกระทบผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง จะทำให้มีภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงด้านการนอนหลับ การรับประทานอาหาร ส่งผลต่อความรู้สึกโดดเดี่ยว ภาวะซึมเศร้า อาจส่งผลไปถึงวัยผู้ใหญ่ สูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่พวกเขาเคยสนุก มีปัญหาด้านสุขภาพ ประสิทธิภาพการเรียนลดลง และมีแนวโน้มออกจากโรงเรียนกลางคันมากขึ้น

ขณะเดียวกันผู้ที่กลั่นแกล้งผู้อื่นก็จะได้รับผลกระทบด้วย คือ 1.อาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เสพติดแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดอื่นๆ 2.มีพฤติกรรมลักขโมยและเรียนไม่จบ 3.มีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร 4.อาจจะเป็นอาชญากรในอนาคต  และ5. มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับคู่สมรสหรือลูก และคนใกล้ตัว

 


 

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ