เสนอแก้ “กฎหมายแพ่งและพาณิชย์” อุดช่องโหว่“ธรณีสงฆ์”เปลี่ยนมือ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ข้อพิพาทที่ดิน3,800ไร่ ใน จ.จันทบุรี ไปที่ อ.เทพา จ.สงขลา หลังพบ พระกิตติวุฒโฑ พระชื่อดังของไทยในอดีตและเป็นตัวละครสำคัญในคดีที่ดินจันทบุรีมีที่ดินอยู่ที่นั่นด้วย แม้ตามหลักพระพุทธศาสนาที่ดินที่ได้มาหลังบวชจะต้องตกเป็นของศาสนาแต่ปรากฎว่า แม้ขณะนี้พระกิตติวุฒโฑจะมรณภาพไปแล้วกว่า 10 ปี ที่ดินยังอยู่ในการครอบครองของครอบครัว บทสรุปของสารคดีเชิงข่าวชุด “เลือดข้น ธรณีสงฆ์” จะสะท้อนภาพใหญ่ของปัญหานี้

สำเนาพินัยกรรมของพระกิตติวุฒโฑฉบับนี้ ระบุให้ “น.ส.สมนึก เจริญสถาพร” น้องสาวเป็นผู้จัดการมรดก นำเงินและที่ดินกว่า 2,000ไร่ ไปขายเพื่อทำนุบำรุงศาสนา

เผยชนวนเหตุสังหารกลางศาลจันทบุรี โยงช่องโหว่“ธรณีสงฆ์”

ผ่านมา 14 ปี นับจากพระกิตติวุฒโฑมรณภาพ ที่ดินถูกเปลี่ยนมือจากน.ส.สมนึก เป็นของนายบุญช่วย เจริญสถาพร น้องชายของพระกิตติวุฒโฑอีกคน ที่ครอบครองที่ดินพิพาท 3,800 ไร่ในจังหวัดจันทบุรี

โฉนดที่ดิน 415 ไร่ 1 งาน ในต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา คือ หนึ่งในแปลงที่พระกิตติวุฒโฑ มอบให้น้องสาวเป็นผู้จัดการมรดกก่อนที่ปี 2553 น.ส.สมนึกจะโอนต่อให้นายบุญช่วย

สาเหตุที่ต้องโอนที่ดินให้นายบุญช่วย เพราะ น.ส.สมนึกมีโรคประจำตัวรุมเร้า ไม่สะดวกเป็นธุระจัดการมรดกนี่เป็นคำอธิบายจากลูกสาวนายบุญช่วย ที่ทำหน้าที่ดูแลน.ส.สมนึกที่ป่วยหนัก แต่เธอปฎิเสธไม่ให้ถ่ายภาพและสัมภาษณ์ใดๆ

สวนปาล์มติดทะเล คือ ที่ดินตามโฉนด ชาวบ้านในพื้นที่เล่าว่า นี่ คือสวนกิตติวุฒโฑ ในอดีตมีป้ายบอกทางชัดเจน แต่ไม่นานมานี้ป้ายถูกรื้อถอนออกไป

ในโฉนดที่ดินนายบุญช่วยครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินตั้งแต่ปี 2553 แม้พินัยกรรมของพระกิตติวุฒโฑจะระบุให้ขายที่ดินแปลงนี้เพื่อนำเงินไปทำนุบำรุงศาสนา เหลือเวลาอีก 1 ปี ที่ดินแปลงนี้อาจตกเป็นของนายบุญช่วยโดยชอบธรรม เพราะ เขาจะครอบครองโดยปรปักษ์ ครบ 10 ปี ในวันที่ 24 ธ.ค.2563

สำรวจที่ดิน 3,800 ไร่ ชนวนเหตุ ยิงดับ 3 ศพกลางศาล

ตามหลักพระธรรมวินัย เมื่อบวชเป็นพระจะไม่มีสมบัติใดติดตัว แต่หากได้รับบริจาคมา พระพุทธเจ้าสอนว่าให้โอนเป็นของส่วนกลาง เพราะ พระภิกษุถือว่าละขาดจากทางโลกแล้ว

ขัดแย้งกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีบทบัญญัติเรื่องการจัดการทรัพย์มรดกของพระสงฆ์ ว่า หากพระมรณภาพ ทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของศาสนา เว้นแต่พระรูปนั้นทำพินัยกรรมไว้

ไม่มีใครรู้ว่ายังมีธรณีสงฆ์ตกเป็นของส่วนตัวอีกมากน้อยเท่าไหร่ เพราะไม่เคยมีการเก็บข้อมูลเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ นี่เป็นจุดอ่อนที่ทำให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไม่สามารถตรวจสอบได้

เรื่องนี้มีข้อเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ตัดเงื่อนที่เปิดช่องให้พระภิกษุสามารถทำพินัยกรรมมอบให้ญาติหรือบุคคลใกล้ชิดได้ โดยเหลือเพียงสาระสำคัญที่ว่า ทรัพย์สินที่ได้ระหว่างครองสมณเพศ เมื่อมรณภาพให้ตกเป็นของศาสนา  

ช่องโหว่กฎหมาย “ธรณีสงฆ์” สู่ที่ดินส่วนตัว

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ