คกก.ยาเสพติดไม่ปลด! “กระท่อม” ออกจากยาเสพติด


โดย PPTV Online

เผยแพร่




คกก.ยาเสพติดพิจารณาไม่ปลด  "กระท่อม" ออกจากยาเสพติด ชี้ต้องรวบรวมข้อมูลรอบด้าน  พร้อมอนุญาตเพิ่ม 6 รายปลูก-สกัด "กัญชา" เพิ่ม

วันที่ 24 ธ.ค.2562  ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ซึ่งมี นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน โดยการประชุมมีวาระการพิจารณาในเรื่องของกัญชาและกระท่อม โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า ในส่วนของกัญชา คณะกรรมการฯ ได้อนุมัติเพิ่มเติมในส่วนของผู้ขออนุญาตปลูกและผลิต จำนวน 6 ราย ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยศิลปากร จ.นครปฐม  2.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา จ.ลำปาง 3.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร  4.รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนรักจัง ฟาร์มเมลอน วังน้ำเขียว  5.ม.พะเยา และ 6.มทร.พระนคร ซึ่งมีทั้งที่นำไปวิจัยและผลิตสารสกัด

ป.ป.ส.แย้ม “กระท่อม-กัญชา” ถูกกฎหมายได้ในอนาคต

จับตา! 24 ธ.ค. หารือแนวทางปลดล็อก “กระท่อม” ออกจากยาเสพติด

นพ.ไพศาล กล่าวว่า ส่วนเรื่องกระท่อม ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5  โดยวันนี้คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการเรื่องกระท่อม ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2556 โดยมี ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการ อย. เป็นประธาน ได้รายงานความก้าวหน้าการศึกษาต่างๆ ในทุกมิติ ทั้งเชิงสังคม กฎหมาย และเศรษฐกิจ โดยพบว่า กระท่อมสามารถที่จะใช้ในทางการแพทย์ได้ดี ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาตำรับ เพราะมีสรรพคุณในเรื่องการลดปวด แก้ท้องเสีย และเบาหวาน ขณะที่ทางการแพทย์แผนไทยก็มีอยู่ประมาณ 7 ตำรับ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของโรคบิด ท้องเสีย เป็นต้น

เลขาธิการ อย. กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้รายงานโครงการวิจัยการพัฒนารูปแบบการควบคุมพืชกระท่อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในประเทศไทย: กรณีศึกษาตำบลน้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นการศึกษาพื้นที่ที่มีการใช้กระท่อมตามวิถีชีวิตอยู่แล้ว โดยพบว่า การใช้กลไกประชาคม การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และออกธรรมนูญ ควบคุมการใช้กระท่อมภายในชุมชนได้ผลเป็นที่พอใจในระดับหนึ่ง ก็ได้ขอวิจัยต่อ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอเรื่องของวิชาการ โดยอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในการใช้กระท่อมทางการแพทย์และการทดแทนสารเสพติดอื่น ก็ต้องวิจัยต่อเนื่อง

"พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ที่ใช้กับกัญชาและกระท่อม ทำให้สามารถนำมาใช้ทางการแพทย์ และนำมาใช้ในพื้นที่ที่เป็นชุมชน  เช่น จ.สุราษฎร์ธานีได้ ซึ่งมีข้อกำหนดไว้ตามมาตรา 58/2 โดยตอนนี้กำหนดในพื้นที่เดียว  ซึ่งการจะกำหนดพื้นที่ใช้ในชุมชน ต้องอาศัยทั้ง ป.ป.ส.กำหนดและพื้นที่ต้องมีความพร้อมด้วย คือ มีส่วนร่วมทั้งสองทาง หากกำหนดพื้นที่โดยที่ชาวบ้านไม่สนใจ ไม่พร้อม ไม่มีมีส่วนร่วม ธรรมนูญก็ไม่ออก ซึ่งเรื่องของชุมชนถือเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม" นพ.ไพศาล กล่าว และว่า คณะกรรมการฯ ได้ขอให้คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการเรื่องกระท่อม รวบรวมงานวิจัยและงานที่ส่งผลกระทบในเรื่องของการปกครอง เช่น ทางตำรวจ คดี มีมากน้อยแค่ไหน นำมารวบรวมและนำเสนอ หมายความว่าต้องรวบรวมข้อมูลและวิจัยในส่วนนี้ว่าเราจะทำอย่างไรต่อกับกระท่อม” นพ.ไพศาล กล่าว  

เมื่อถามว่า ขณะนี้ข้อมูลเพียงพอที่จะปลดล็อกกระท่อมออกจากยาเสพติดแล้วหรือไม่  นพ.ไพศาล กล่าวว่า ขณะนี้ยังต้องอาศัยข้อมูลจากหลายๆ ส่วนก่อน โดยที่ประชุมอยากจะเอางานวิจัยทั้งหลายมารวบรวมก่อน ซึ่งตอนนี้ข้อมูลก็เริ่มมีมากพอสมควร เพราะไม่ต้องตั้งต้นศึกษาใหม่ มีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2556 โดยเฉพาะมิติด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วย ไม่ใช่แค่ว่ามีสารเสพติดแล้วจะต้องเป็นสารเสพติดเลย

เมื่อถามถึงผลการศึกษาเชิงเศรษฐกิจ ภญ.สุภัทรา กล่าวว่า เชิงเศรษฐกิจ กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นสามารถเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ปลูกเป็นแนวกันน้ำป่าไหลหลากได้ ถ้ามีการศึกษามากขึ้น สามารถที่จะสกัดไปทำยาได้ในอนาคต

PR-โปรแกรมผลบอล-2_B PR-โปรแกรมผลบอล-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ