มุมมองคนตกงาน! ปี 63 วิกฤตแน่ ร้องรัฐช่วยเหลือด่วน..


โดย วารุณี สิทธิรังสรรค์

เผยแพร่




สำหรับปี 2562 เป็นอีกปีที่แรงงานจำนวนมากต้องน้ำตาตก! จากการถูกเลิกจ้าง กลายเป็นคนตกงาน ส่วนปี 2563 หลายคนกังวลว่า จะหนักหน่วงมากกว่าปีที่ผ่านมา

ตั้งแต่กลางปี 2562  โรงงานหลายแห่งประกาศเลิกกิจการจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ซันโย เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด  บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด  บริษัท เอเพ็กซ์ เซอร์คิต (ไทยแลนด์) จำกัด

ผลักดันกฎหมายเพิ่มเงินช่วยเหลือคนตกงาน!

งานเข้า! ถูกเลิกจ้างไม่พอ อาจเสี่ยงไม่ได้รับเงินชดเชยกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง

ล่าสุดโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ย่านกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาครปิดกิจการ คนตกงานเกือบ 1,000 คน แม้จะมีกระแสข่าวว่าโรงงานปิด เพราะต้องการล้มสหภาพ รวมทั้งเพื่อเปิดโรงงานใหม่ และจ้างงานในราคาถูกลง ซึ่งขณะนี้ยังไม่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ที่แน่ชัด คือ คนตกงานเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

“ผมเป็นคนหนึ่งที่โรงงานปิดกิจการเมื่อปี 2561 ซึ่งขณะนั้นเศรษฐกิจไม่ได้แย่ขนาดนี้ พนักงานออกมายังพอมีโรงงานใหม่รองรับ คนอายุมากก็ไปทำค้าขาย แต่ปัจจุบันลำบากมาก ทุกบริษัทเซฟตัวเองหมด ยิ่งในปี 2563 จะรุนแรงขึ้นอีก”  ถ้อยคำของ “อดุลย์ สุ่นประสพ” อดีตประธานสหภาพแรงงานบริษัท ไทยปรีลาเมนต์ เท็กซ์ไทล์จำกัด   กล่าวถึงการถูกเลิกจ้างที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

 

อดุลย์ สุ่นประสพ

อดุลย์ เป็นผู้หนึ่งที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอฟอกย้อม ซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จนปิดตัวลงเมื่อปลายเดือน 2561 ที่ผ่านมา  ขณะนั้นมีคนอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปถูกออก 20 %     ส่วนใหญ่ต้องไปขายของ ทำธุรกิจส่วนตัว   เขาก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่หันไปทำธุรกิจพระเครื่องประทังชีวิต

โดยอดุลย์ ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ปี 2562 คนตกงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งสวนทางกับที่ภาครัฐบอกว่าแม้มีโรงงานปิดกิจการ แต่ยังมีโรงงานอื่นๆเปิดรับลูกจ้างเพิ่ม  ซึ่งไม่น่าจะจริง  ที่สำคัญหลายโรงงานต้องเลิกจ้างโดยไม่มีเงินจ่ายชดเชย ทำให้ลูกจ้างต้องรวมตัวฟ้องร้อง ซึ่งใช้เวลานาน  ทางออกคือ  ต้องมีกองทุนสงเคราะห์การเลิกจ้างมาช่วยระหว่างไม่ได้รับเงินชดเชยจากนายจ้าง  ซึ่งรัฐต้องสนับสนุนเงินเข้ากองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างเพิ่มขึ้น

รมว.แรงงานขออย่าห่วง! ภาพรวมจ้างงานสูงกว่าปี 61 ถึง 36.6 %  ชี้ศก.ไทยกำลังเติบโต

ขณะที่ “อัมพร ใหญ่จันทึก” อดีตประธานสหภาพแรงงานจงเลิศล้ำ  เป็นผู้หนึ่งที่เคยถูกบริษัทเรียกให้เกษียณก่อนกำหนด (เออร์ลี่ รีไทร์)  เล่าว่า  จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้รู้ว่า บริษัทจะมีกลยุทธ์ในการลดจำนวนคน ทั้งการให้เออร์ลี่ รีไทร์ ก่อนกำหนด หรือการลดการทำโอที  ซึ่งจากสถานการณ์ปิดกิจการในปีนี้ เป็นเรื่องหนักใจ เพราะถ้าโรงงานนั้น มีสหภาพฯพอช่วยเหลือ ก็ยังพอมีอำนาจต่อรองได้  ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากให้มี 

อัมพร ใหญ่จันทึก

 

เขายังเสนอว่า   ปี 2563 คนตกงานพุ่งสูงแน่ๆ  จริงๆ รัฐบาลน่าจะสำรวจชัดๆ ไม่ใช่แค่ตัวเลขคนว่างงานมาลงทะเบียนของสำนักงานประกันสังคมเท่านั้น แต่ควรสำรวจว่า บริษัทไหนติดค้างเงินจ่ายสมทบประกันสังคม แต่ไม่ปิดตัว ยอมจ่ายค่าปรับเล็กน้อยแทน ตรงนี้ต้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะถือว่ามีปัญหา  ขณะเดียวกันสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ต้องเดินหน้าเพิ่มเงินกรณีว่างงาน โดยจ่ายสูงขึ้นในอัตรา 75% ของค่าจ้างในทุกกรณี ทั้งเลิกจ้าง ลาออก เพราะการเพิ่มวงเงินจะช่วยได้ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้   

เปิด 10 อาชีพเสี่ยงตกงาน คาดปี 63 หางานยากสุดในรอบ 10 ปี

“มนัส โกศล” ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นถึงตัวเลขคนว่างงานที่ไม่ชัดเจน  ว่า  คนว่างงานของสำนักงานประกันสังคมมีประมาณ 1.7 แสนคน โดยจ่ายเงินกรณีว่างงานเฉลี่ยเดือนละ 630 ล้านบาท  ยังไม่รวมตัวเลขว่างงานสะสม  แต่คนที่รับเงินว่างงานไปแล้ว และหมดสิทธิรับเงินแต่ยังว่างงานอยู่ยังมีอีกหลายแสนคน ซึ่งตัวเลขนี้รัฐบาลไม่ควบรวมกัน หลายคนบอกว่ามีตัวเลขว่างงาน   4.71 แสนคน ถ้าประเมินตัวเลขรวมทั้งหมดก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 แสนคน แต่ยังมีคนที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนที่เราไม่ทราบ เพราะส่วนราชการไม่ได้มีการประเมินไว้ ซึ่งตัวเลขจริงๆ น่าจะเป็นล้านคน  

“ ปี 2563  คนว่างงานหนักกว่าปีนี้แน่  เพราะรัฐบาลพยายามโชว์ตัวเลขการมีงานตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กว่า 5 แสนคน ทั้งที่ความจริงยังไม่มีการจ้างงาน  เราพยายามบอกว่า คนที่ว่างงานและคิดจะรอทำงานตามแผนอีอีซี ควรได้รับการพัฒนาทักษะ ซึ่งรัฐบาลต้องส่งเสริมและเพิ่มทักษะให้มากขึ้น อย่างสถาบันฝึกอาชีพของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมีอยู่ 5 ศูนย์ แต่บางศูนย์ก็อยู่นอกชุมชน ยากต่อการไปเรียนรู้ รัฐบาลต้องมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยง หรือเบี้ยยังชีพให้พวกเขา  ซึ่งรัฐบาลไม่มีกรอบอะไรรองรับเลย”  มนัส กล่าวอย่างน่าเสียดาย

มนัส โกศล

 

มนัส ยังเสนออีกว่า เคยหารือกับปลัดกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับแนวทางช่วยเหลือคนตกงาน ซึ่งแนวทางหนึ่งคือ การเพิ่มสัดส่วนเงินว่างงานให้ผู้ประกันตนในอัตรา 75% ของค่าจ้าง สำหรับทุกกรณี ทั้งเลิกจ้าง ลาออก หรือถูกให้ออก เพราะตามหลักเงินส่วนนี้เป็นการสะสมของ ซึ่งปลัดกระทรวงแรงงานก็รับลูก มีความเป็นไปได้สูง แต่จะได้เพิ่มขึ้นถึง 75% ของค่าจ้างหรือไม่ ยังไม่รู้  เรื่องนี้ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันสิทธิประโยชน์กรณีที่ผู้ประกันตนว่างงานเพราะถูกเลิกจ้างนั้น จะได้รับเงินทดแทนในระหว่างว่างงานอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างครั้งละไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน  แต่หากถูกเลิกจ้างมีความผิดจะไม่ได้อะไรเลย และเงินก็เข้ากองทุน เรามองว่าไม่เป็นธรรม จึงต้องมีการผลักดันเพื่อปรับเปลี่ยนกฎระเบียบตรงนี้  ซึ่งทางปลัดกระทรวงแรงงานเคยให้ข้อมูลว่า ได้มอบให้ทางสำนักงานประกันสังคมไปพิจารณา หลังปีใหม่เราจะติดตามความคืบหน้าเรื่องนี้” ประธานสภาองค์การลูกจ้าง กล่าวทิ้งท้าย

เสียงสะท้อน ‘คนตกงาน’ ถูกเลิกจ้างเมื่อวัย 50 ปี

 

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ