พิกัด ๑๐ วัดกลางกรุง เริ่มต้นปีด้วยความมงคลพร้อมสวดมนต์ข้ามปี


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ต้อนรับศักราชใหม่ด้วยความมงคลแก่ชีวิตกับพิกัด ๑๐ วัดกลางกรุงเทพฯ ด้วยบริการขนส่ง ขสมก.ก่อนปิดท้ายด้วยสวดมนต์ข้ามปี ณ วัดใกล้บ้าน

วัดแรก “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” สร้างตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อว่า วัดโพธาราม ถูกยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงในสมัยกรุงธนบุรี ครั้งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ปฏิสังขรณ์วัดโพธารามขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม สร้างพระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร ตลอดจนสิ่งก่อสร้างที่จําเป็นอื่นๆ แล้วพระราชทานนามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาส” ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ แก้สร้อยนามพระอารามว่า “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร” พระพุทธรูปสำคัญ พระพุทธไสยาสน์ และพระมหาเจดีย์ประจํารัชกาล ๔ องค์

ของขวัญปีใหม่ “ทั้งอนุรักษ์ความเป็นไทยและอิ่มบุญ” จากรัฐบาลถึงประชาชน

ต่อเนื่องทุกปี "สวดมนต์ข้ามปี เพื่อความเป็นสิริมงคล"

หนุนจัดกิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี” หวังคนไทยลด ละ เลิกอบายมุขเทศกาลปีใหม่

วัดที่สอง “วัดอรุณราชวราราม” สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดมะกอก สมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ปฏิสังขรณ์แล้ว เปลี่ยนชื่อเป็น วัดแจ้ง และถือกันว่าวัดแจ้งเป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วมรกตและพระบาง พระพุทธรูปสำคัญ คือ พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเฉพาะพระพักตร์ เป็นฝีพระหัตถ์ในรัชกาลที่ ๒ ทรงปั้นหุ่นด้วยพระองค์เอง และพระปรางค์ใหญ่ ตั้งอยู่หน้าวัดทางทิศใต้ ยอดพระปรางค์ มีพระมงกุฎประดิษฐานเหนือยอดนภศูล

วัดที่สาม “วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร” สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดจอมทอง วัดราชโอรสาราม ตกแต่งด้วยศิลปะจีนเป็นส่วนมาก นับเป็นวัดที่ สร้างต่างจากแบบวัดทั่วไป ศิลปกรรมที่มีอยู่ในวัดนี้มีการประดับตกแต่ง เป็นแบบจีนผสมไทย เช่น บานประตูหน้าต่างพระวิหาร พระพุทธไสยาสน์ประดับด้วยเซี่ยวกางแทนลายเทพนม หรือลายไทยแบบของเดิม

พระพุทธรูปสำคัญ คือ พระประธาน ในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ฐานพระพุทธรูป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯให้อัญเชิญพระสรีรังคารของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประดิษฐานไว้พร้อมกับถวายพระปรมาภิไธยประจํารัชกาล และ ศิลาจารึกดวงพระชันษา พระราชทานพระนามว่า พระพุทธอนันตคุณอดุลยญาณบพิตร

วันที่สี่ “วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ โปรดให้สร้างขึ้นตาม ธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานี จะต้องมีวัดสําคัญประจํา ๓ วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐานจึงทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ครบตามโบราณ ราชประเพณี ภายในวัด นอกจากพระประธาน พระนามว่า พระพุทธสิหังคปฏิมากร ยังมี พระพุทธนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเพชรหล่อด้วยสําริดกะไหล่ทอง เบื้องหลังมีซุ้มเรือนแก้วเป็นรูปพระมหามงกุฎ ฐานรอบองค์พระเป็นที่สําหรับรับนํ้าสรงมีท่อเป็นรูปศรีษะโค ซึ่งหมายถึง พระโคตมโคตร (นามพระโคตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) และ พระปรางค์ขอม อยู่บนฐานไพที ด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ ถัดจากพระเจดีย์ออกไป

วันที่ห้า “วัดเบญจมบพิตร” เดิมชื่อว่าวัดแหลม หรือวัดไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึงวัดของเจ้านาย ๕ พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานนามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕

พระพุทธรูปสำคัญ พระพุทธชินราช เป็นพระนั่งสมาธิราบปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย จําลองจากองค์จริงที่จังหวัดพิษณุโลก และพระระเบียงคด รวมถึง พระที่นั่งทรงผนวช

วันที่หก “วัดบวรนิเวศวิหาร” สร้างขึ้นในสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)  ในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิ เบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปีพุทธศักราช ๒๔๙๙ แล้วเสด็จมาประทับที่วัดนี้ ครั้นเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคาร ของพระองค์ท่าน มาบรรจุในถํ้าศิลาใต้ฐานบัลลังก์พระพุทธชินสีห์ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐

พระพุทธรูปสำคัญ พระประธาน ในพระอุโบสถ พระนามว่า พระสุวรรณเขต หรือเรียกว่า หลวงพ่อโต หรือ หลวงพ่อเพชร พระเจดีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงสร้างในปีพุทธศักราช ๒๓๗๔ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ซุ้มด้านหน้าประดิษฐาน พระบรมรูปหล่อของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

“วันที่เจ็ด วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สถาปนา วัดราชบพิธขึ้นเป็นพระอารามประจํารัชกาลตามโบราณราชประเพณี ซึ่งปฏิบัติสืบเนื่องกันมา นับเป็นพระอารามสุดท้ายที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างตามประเพณีวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

เป็นวัดที่มีความสําคัญ และถือเป็นวัดประจํารัชกาล องค์พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึง ๒ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธาบูรณปฏิสังขรณ์เสมือนหนึ่ง เป็นวัดประจํารัชกาลของพระองค์ด้วย

พระพุทธรูปสำคัญ พระประธาน ในพระอุโบสถเป็น พระพุทธรูปกะไหล่ทอง ปางสมาธิเพชร มีเรือนแก้วเป็นพุ่มมหาโพธิ์ ยอดเรือนแก้ว มีรูปพระมหามงกุฎ ที่ฐานของพระพุทธรูป มีอักษรขอมจารึกพระพุทธคุณบนกลีบบัว ด้านหน้า ๙ ด้านหลัง ๙ ใต้ฐานพุทธบัลลังก์เป็นที่บุรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

“วัดที่แปด วัดสุทัศนเทพวราราม” พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สถาปนาเมื่อปี พุทธศักราช ๒๓๕๐ เดิมพระราชทานนามว่า วัดมหาสุทธาวาส โปรดให้สร้างพระวิหารจนถึงประดิษฐาน พระศรีศากยมุนี แล้วก็สิ้นรัชกาล ยังมิได้ถวายเป็นสังฆาราม เรียกกันสามัญขณะนั้นว่า วัดพระโตบ้าง วัดพระใหญ่หรือวัดเสาชิงช้า บ้าง

พระพุทธรูปสำคัญ พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ เป็น พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานใน พระวิหารหลวง พระระเบียง รอบพระวิหารศรีศากยมุนี และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘

วันที่เก้า วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก” สร้างเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔ โดยนางสาวจวงจันทร์ สิงหเสนี ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินในการสร้างวัด พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) พระราชทานนามว่าวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก ต่อมาได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เป็นพระอารามหลวงเป็น กรณีพิเศษ เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒

พระพุทธรูปสำคัญ พระประธาน ในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองผสมทอง ปางมารวิชัย ลักษณะแบบรัตนโกสินทร์ ในพระเกศพระประธานบรรจุ พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งได้มาจากพระสถูปโบราณ ณ เมืองกุสินารา พระราชทานนามว่า พระพุทธกาญจน ธรรมสถิต มีพระอัครสาวกซ้ายขวา

“วัดที่สิบ วัดวชิรธรรมสาธิต”  เดิมชื่อ วัดทุ่งสาธิต สร้างโดยนายวันดี คฤหบดี เชื้อชาติลาว อยู่กลางทุ่ง ระหว่างคลองเคล็ดกับคลองบ้านหลาย ชาวบ้านเรียกว่า วัดทุ่ง หรือวัดกลางทุ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกวัดวชิรธรรมสาธิต อําเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๑๕

หนึ่งในสถานที่สำคัญ พระมหาเจดีย์จุฬามณีศรีล้านนา จําลองแบบมาจากพระเจดีย์ วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลําพูน กว้าง ๒๕ ศอก สูง ๔๙ ศอก ภายใน บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๒๕ องค์ พระธาตุอรหันตสาวก ๒๘๙ องค์พระพุทธรูปทองคํา ๒ องค์ ผู้มีจิตรศรัทธาได้นําแหวนเพชร สร้อยทองคําและสิ่งของเก่าแก่ต่างๆ บรรจุไว้เพื่อสักการบูชาพระเจดีย์และบรมธาตุ

ทั่วโลกจารึก! นาทีประวัติศาสตร์ ไทยแลนด์เคาท์ดาวน์ปีใหม่ 2559 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร

ไหว้พระขอพรกันแล้ว ขอเชิญร่วมกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี ถวายพระราชกุศล เสริมสิริมงคลทั่วไทย พ.ศ.๒๕๖๓ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง วัดใกล้บ้าน และสถานที่จัดกิจกรรมทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ ๓๑ ธ.ค.๒๕๖๒ - ๑ ม.ค.๒๕๖๓ เวลา ๑๙.๐๐ น. เป็นต้นไป และติดตามการถ่ายทอดสดรายการพิเศษสวดมนต์ข้ามปี ๒๕๖๓ ทาง PPTVHD36 ตั้งแต่เวลา ๒๓.๐๐ น.เป็นต้นไป

 

ที่มา : https://drive.google.com/file/d/1w5nFqH3XT5KzgPltrtce9fyUMHpDWS5S/view

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ