นักเคมีเตือนอย่าใช้ถุงผ้า “สปันบอนด์” ผลิตจากพลาสติก สารก่อมะเร็ง


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยหลังมีกระแสวิจารณ์ใช้ถุงผ้าสปันบอนด์ ไม่แตกต่างจากพลาสติก ย้อนแย้งนโยบายรัฐบาล ขอให้ใช้ถุงผ้า หรือถุงกระดาษดีเสียกว่า

หลังจากดีเดย์ไปแล้วสำหรับวันที่ 1 มกราคม 2563 กับ 75 บริษัทห้างร้าน และร้านสะดวกซื้อที่เข้าร่วมนโยบายของรัฐบาล งดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในการจับจ่ายใช้สอย เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า พลาสติกเป็นวัสดุที่ย่อยสลายยากเป็นร้อยๆ ปี  อย่างไรก็ตามจากนโยบายดังกล่าว ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน โดยพบว่าส่วนหนึ่งมีการเตรียมถุงผ้าเพื่อไปจับจ่ายใช้สอยอยู่จำนวนไม่น้อย  แม้ล่าสุดจะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ารณรงค์ใช้ถุงผ้า แต่กลับพบว่ามีร้านค้า และห้างหลายแห่งหันมาขายถุงผ้าประเภทสปันบอนด์ ซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิดว่าเป็นถุงผ้าแต่จริงๆไม่ใช่ เนื่องจากผลิตมาจากพลาสติกชนิดหนึ่ง ซึ่งสวนทางกับนโยบายอย่างมากนั้น

ดีเดย์วันแรก! 1 ม.ค.63 งดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว

มาดูกัน!  รายชื่อ ’75 ร้านค้า-ห้างดัง’ งดใช้ถุงพลาสติก  1 ม.ค.63

ล่าสุดวันที่ 2 ม.ค.2563  รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลว่า จริงๆ การใช้ถุงผ้าประเภทสปันบอนด์ ก็ไม่แตกต่างจากการใช้ถุงพลาสติก เนื่องจากผลิตมาจากโพลีโพรพิลีน (PP) เหมือนกับถุงพลาสติกที่บรรจุของร้อน โดยถุงผ้าสปันบอนด์ เป็นการผลิตจากพลาสติกล้วนๆ ไม่มีสารเคมีอื่นเจือปน ทำให้มีความหนาแน่นต่ำ ขณะที่ถุงพลาสติกพวกถุงร้อนจะผสมสารตัวเติมเพิ่มเข้าไป เพื่อให้มีความเหนียว แข็งแรงทนทาน ดังนั้นถุงผ้าสปันบอนด์ จึงเป็นถุงผ้าที่ผลิตจากพลาสติกที่มีความหนาแน่นน้อย จึงไม่แข็งแรง ละลายในน้ำได้ มีความยุ่ยง่าย และสลายตัวง่ายกว่าพลาสติกทั่วไป ซึ่งใช้เวลาในการย่อยสลายประมาณ 5-10 ปี แตกต่างจากพลาสติกทั่วไปใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 500 ปี

“จริงๆสปันบอนด์ นิยมนำมาใช้ทำอย่างอื่น เช่น ทำเป็นที่คลุมดิน ที่ห่อช่อดอกไม้ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างชุดผ่าตัดใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ แต่การจะนำมาใช้เป็นถุงผ้าแทนถุงหิ้วพลาสติก ผมไม่เห็นด้วย เพราะเราสามารถใช้อย่างอื่นมาแทนได้ อย่างถุงกระดาษ ใช้เวลาย่อยสลายไม่ถึง 1 เดือน แต่ถุงผ้าสปันบอนด์ นอกจากใช้เวลาย่อยสลาย 5-10 ปี แม้จะย่อยสลายเร็วกว่าถุงพลาสติก แต่รู้หรือไม่ว่า อันตรายก็มากเพราะด้วยลักษณะที่ยุ่ยง่าย ทำให้ละลายในน้ำ ปะปนไปกับสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร โดยสปันบอนด์ แค่ถูกความร้อนก็กลายเป็นผง ออกเป็นไมโครพลาสติก และปะปนไปกับแหล่งน้ำ ปนปนไปอยู่ในตัวของสัตว์น้ำต่างๆ อย่างปลา และหากเรากินเข้าไป สารเหล่านี้ก็จะไปสะสมในร่างกาย และมีความเสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งได้ ” รศ.วีรชัย กล่าว  

โมเดล จุฬาฯZERO WASTE 2 ปี ลดพลาสติก 3 ล้านใบ

รศ.วีรชัย กล่าวอีกว่า ดังนั้น หากร้านค้าไหนจะมีถุงผ้า หรือจะขายถุงผ้าก็ไม่ควรใช้ชนิดสปันบอร์น เพราะยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี และไม่สามารถนำมาใช้ซ้ำได้ แต่การใช้ถุงผ้ายังใช้ซ้ำได้ หรือไม่ก็หันมาใช้ถุงกระดาษ อย่างในต่างประเทศก็จะมีถุงกระดาษรีไซเคิ้ลเพื่อให้สำหรับลูกค้ามาจับจ่ายใช้สอยที่ปริมาณหรือน้ำหนักอาจไม่มากนัก และไม่ต้องห่วงว่าจะไปกระทบกับผู้ผลิตถุงผ้าแบบสปันบอร์น เพราะส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ

ขณะที่เพจ ลุงซาเล้งกับขยะที่หายไป ได้มีการโพสต์เตือนเรื่องนี้เช่นกัน โดยระบุว่า  ถุงผ้าชนิดดังกล่าว ผลิตมาจากพลาสติกล้วนๆ เรียกอีกอย่างว่า non-woven พลาสติก ถุงที่เห็นขายๆ กันตามห้างราคาถูกๆ เป็นเกรด PP (เกรดเดียวกับพลาสติกทำถุงแกง) แต่ใช้การปั่นเป็นเส้นใยเล็กๆ แล้วอัดเป็นแผ่น  ผ้าสปันบอร์นที่แตกตัวแล้ว ก็คือ ไมโครพลาสติกชนิดหนึ่ง  ถ้าจะให้แนะนำคือ ห้างควรทำถุงพลาสติกชนิดหนาขายแทน เพราะถุงพลาสติกหนาๆ ใช้ซ้ำได้เหมือนกัน เก็บนานๆ ก็ไม่แตกตัว หรือ ทำเป็นไซส์ใหญ่ถุงขยะไปเลยก็ได้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ต่อ ส่วนถ้าจะให้ใช้ซ้ำ ควรเป็นถุงผ้าจริงๆ มากกว่า เพราะใช้ได้นานกว่าเยอะ และโรงงานผลิตผ้าประเภทนี้อยู่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทำให้นอกจากการงดแจกถุงจะทำให้โรงงานพลาสติกในประเทศได้รับผลกระทบ ของทดแทนยังต้องนำเข้าอีกต่างหาก

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ