ชี้ชะตาประมูลเมืองการบิน “ปมยื่นเอกสารช้า 9 นาที”


โดย PPTV Online

เผยแพร่




อีกหนึ่งโครงการขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในไทยเร็วๆนี้ นั่นก็คือ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก แต่ปัจจุบันยังติดปัญหาในเรื่องการประมูลโครงการ เพราะมีการยื่นเอกสารประมูลล่าช้าไป 9 นาที และได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่10 ม.ค.63 หลายฝ่ายต่างจับตาผลการพิจารณาคดีนี้เพราะผลที่ออกมาจะเป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐานสำคัญในการยื่นประมูลงานจากภาครัฐ

ศาลปกครองสูงสุด ได้นัดอ่านคำพิพากษา คดีประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่ากว่า  2.7 แสนล้านบาท ในวันที่ 10 ม.ค. 2563 เวลา 10 นาฬิกา หลังบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือซีพี  ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กรณีมีมติตัดสิทธิไม่รับซองข้อเสนอบางรายการ

ศาลปกครอง นัดชี้ชะตา “ซีพียื่นเอกสารช้า 9 นาที” ประมูลเมืองการบิน

โดยให้เหตุผลว่า ทำผิดเงื่อนไขสัญญาการเข้าร่วมประมูล โดยในวันที่ 10 เม.ย. 2562 มายื่นข้อเสนอยังสถานที่รับซอง เกินเวลาที่กำหนดไว้ภายใน 15.00 น.ช้าไป 9 นาที

คดีนี้ ในการพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 7 พ.ย. 2562 ทั้ง 2 ฝ่าย ต่างให้เหตุผลและมีมุมมองที่แตกต่างกัน โดยบริษัทธนโฮลดิ้ง ให้เหตุผลในเรื่องการก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับรัฐมากกว่าการยึดถือเวลาเพียง 9 นาที

“ศึกชิงอู่ตะเภา” ทร.ห่วงทำลายระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ขณะที่ทางกองทัพเรือ ซึ่งเป็นคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ก็เป็นห่วงเรื่องการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และอาจทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่า ต่อไปใครจะมายื่นซองเวลาไหนก็ได้ หากให้ผลตอบแทนกับรัฐสูง รวมทั้งอาจเกิดค่านิยมใหม่ว่า แม้ทำผิดกฎ แต่มีเงินจ้างทนายเก่ง และให้ประโยชน์รัฐมากก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้งาน เพราะเงินชดเชยความผิดได้

ซึ่งหากย้อน 5 คดี คำวินิจฉัยศาลปกครองสูงสุด กรณีการยื่นซองประมูลไม่ทันเวลา กับกรมทางหลวงชนบท 2 คดี กรุงเทพมหานคร 2 คดี  และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 1 คดี   ศาลปกครองสูงสุด ได้พิจารณา เห็นว่า การที่ผู้แทนมายื่นเอกสารหรือซองประมูลไม่ทันเวลา เกิดจากความบกพร่อง ไม่มีความรอบคอบ ที่สำคัญไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ถือเป็นความประมาทเลินเล่อ แม้บางคดีไม่ทันเวลาเพียงแค่  39 วินาทีเท่านั้น

ทร.แจงคืนสิทธิ"ซีพี ยื่นประมูลช้า 9 นาที" กระทบระบบจัดซื้อจัดจ้าง

มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มองว่า ใครก็ตามที่จะค้าขายหรือทำธุรกิจกับภาครัฐ ทุกคนต้องเคารพกติกาที่ทำกันมาช้านาน และทุกคนก็รู้ดี โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทในเครือซีพี ก็เคยประมูลงานกับรัฐมาจำนวนมาก จึงรู้ขั้นตอนอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความเคารพ

พร้อมระบุว่า ถ้าศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้กับเอกชนรายนี้ชนะ จะเป็นการทำลายระบบนิติรัฐของประเทศ เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบจัดซื้อจัดจ้างครั้งใหญ่ของประเทศ เกิดความเสียหายอย่างมากแก่ประเทศ แต่หากเกิดศาลยืนคำพิพากษาตามศาลชั้นต้นให้ทุกอย่างจะเป็นไปตามกติกา กรอบเวลาเดิม จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในตัวกฎหมายที่เป็นบรรทัดฐานของสังคม ซึ่งทุกโครงการในอีอีซี ยังได้นำข้อตกลงคุณธรรมเข้ามาใช้ด้วย เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นธรรม รวมถึงการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

หลายฝ่ายจึงจับตาการพิจารณาคดีนี้อย่างใกล้ชิด เพราะเชื่อว่าคำตัดสินในคดีนี้ ที่มีการยื่นเอกสารประมูลช้าไป 9 นาที จะเป็นอีกหนึ่งบรรทัดฐาน ในการยื่นประมูลงานภาครัฐในอนาคต

ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาคดีซีพียื่นประมูล “เมืองการบิน” ช้า 9 นาที

TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ