บันทึกปากคำของ”คนที่ถูกมองข้าม” เด็กกำพร้า ลูกของผู้เห็นต่างจากรัฐ ตอนจบ


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ตามข้อมูลของนักวิชาการ มีเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความรุนแรงอยู่ทุกแทบตำบลใน 4 จังหวัดชายแดนใต้

ปัตตานี  2,657  คน ,นราธิวาส 2,513 คน , ยะลา 1,914  คน ,สงขลา (บางอำเภอ) 213  คน เราลงพื้นที่ไปยัง หมู่บ้านหนึ่งในตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา หมู่บ้านที่เคยได้ชื่อว่า เป็นหมู่บ้านของกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ที่ถนนผ่านหมู่บ้านทางไปเบตง เคยร้างไร้รถคนนอกวิ่งผ่าน

บันทึกปากคำของ ”คนที่ถูกมองข้าม” "ลูกผู้เห็นต่าง" ตอนที่ 1

บันทึกปากคำของ”คนที่ถูกมองข้าม” เด็กกำพร้า ลูกของผู้เห็นต่างจากรัฐ ตอนที่ 2

บ้านที่เราไปเยี่ยมเยียน อยู่ด้วยกัน 7 คน โดยมีหญิงมุสลิมวัย 50 กว่า เป็นหัวหน้าครอบครัว มีลูกสาว 3 คน ลูกชาย 3 คน

“เราเคยมีกันอยู่ 10 คน กระทั่งเกิดเรื่องใน หัวค่ำวันหนึ่งของปี 2551 ช่วงเวลาใกล้ละหมาด ทหารบุกเข้ามาที่บ้าน ก่อนจะยิงถล่มใส่ลูกชายคนโตอายุ 16 ปีที่หน้าบ้าน เขาตายในอ้อมแขนของก๊ะ”

“หลังจากนั้นอีก 5-6 เดือน สามีของก๊ะ ก็ถูกยิงตาย ในสวนยาง ไม่รู้ใครยิง แต่ก๊ะไปขอรับการเยียวยาจากรัฐแล้ว ไม่ได้รับการรับรอง ไม่รู้ทำไม”

เหตุการณ์ควรจะจบลงแค่นั้นในปี 2552 หลังสามีเธอเสียชีวิต  แต่ปรากฎว่า ครอบครัวเธอยังอยู่ในวังวนของความสูญเสียและถูกโยงให้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์

“ทหารมาที่บ้านก๊ะบ่อย แม้ลูกชายและสามีก๊ะจะตายไปตั้งนานแล้ว แต่เมื่อเวลามีเหตุระเบิดหรือยิงกันที่ไหน ทหารก็จะมาหาที่บ้าน มาถามว่าลูกก๊ะทำมั้ย รู้เรื่องมั้ย บางทีก็มาเก็บดีเอ็นเอลูกก๊ะไป ทั้งที่ลูกก๊ะก็ยังเด็ก”

“ความอิสระอยู่ตรงไหน”

ลูกๆ ของเธอที่เหลืออยู่ก้าวพ้นสู่ความเป็นเด็กไปกันเกือบหมดทุกคนแล้ว หลังต้องอยู่ในภาวะที่สูญเสียพ่อและพี่ชาย พวกเขาก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่มาได้ เหลือเพียงน้องชายคนเล็กอายุ 11 ขวบ ที่อยู่ในวัยเด็ก และเดาได้ไม่ยากนัก ว่าความรู้สึกของเด็กชายคนนี้ คงไม่ต่างจากคนอื่นๆในครอบครัว

“หนูไม่ได้เล่าให้น้องฟังหรอก เขาก็มีถามแต่เราก็บอกแค่ว่าพ่อถูกยิงนะ พี่ชายถูกยิงนะ ไม่ได้บอกหรอกว่าใครยิง ....จะให้ทำอย่างไรล่ะพี่ เรื่องมันผ่านมาแล้ว พวกหนูก็ใช้ชีวิตกันต่อไป ไม่มีประโยชน์หรอก”

พี่สาวของเด็กชายวัย 11 ปี บอกกล่าวกับเรา

ข้ามไปอีกฝั่งถนน ถัดจากบ้านหลังแรก ไม่ไกลนัก เราเจอหญิงวัย40กว่า กับหญิงชรา นั่งอยู่หน้าบ้าน บ้านนี้อยู่กัน 4 คน แม่ ย่า และลูกชายอีก 2 คน หัวหน้าครอบครัวถูกยิงเสียชีวิตหน้าบ้านที่พวกเธอนั่งอยู่

“นั้นไงรอยกระสุน ที่สามีก๊ะถูกยิงเมื่อปี 2556”

“เขากลับจากไปสอนตาดีกา ปั่นจักรยานมาถึงหน้าบ้าน ก็มีคนเข้ามายิงหลายนัด ตอนนั้นแม่สามีและลูกๆก็อยู่ในบ้าน รัฐสรุปคดีว่า สามีก๊ะถูกกลุ่มก่อความไม่สงบยิงเสียชีวิต แต่ก๊ะไม่เชื่อ”

“ทำไมก๊ะถึงไม่เชื่อ” เราถามด้วยความสงสัย

“ก่อนหน้าที่สามีก๊ะจะถูกยิง 1 ปี เขาถูกทหารคุมตัวไปในค่าย 18 วัน และเขาก็ถูกยิงตาย”

เราเงียบไปนานพอสมควร ก่อนจะเอ่ยถามอีกว่า

“ก๊ะทำเรื่องขอเยียวยาจากรัฐมั้ย ในเมื่อตำรวจสรุปคดีแล้วว่าเสียชีวิตจากสถานการณ์”

“ไม่ ในเมื่อก๊ะเชื่อว่าเขาทำ ก๊ะจะไปขอความช่วยเหลือเขาทำไม”

เราจบการสนทนากับเธอไว้แค่นั้น เพราะทุกถ้อยคำมันชัดเจนอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว

16 ปีสถานการณ์อาจดูดีขึ้น เหตุรุนแรงต่างๆในพื้นที่ดูลดน้อยลง แต่ความรู้สึกของผู้คนต่อเหตุการณ์ยังเหมือนเดิม และถูกสะสมเก็บไว้ในใจ

“หากเราจะยุติความขัดแย้ง ควรเริ่มตั้งแต่รุ่นลูก วงจรความขัดแย้งแบบนี้มีอายุของมัน 15-20ปี ถ้าเรายุติปัญหาได้ หยุดความรู้สึกพวกนี้ได้ ปัญหาก็อาจคลี่คลายลงไป”

สุวรา แก้วนุ้ย นักวิชาการด้านสังคมสงเคราะห์ บอกกับเรา

“มันจะจบลงแค่นี้ได้อย่างไรในเมื่อความรู้สึกผู้คนยังเหมือนเดิม เด็กกำพร้าจากสถานการณ์ยังถูกแบ่งแยก รัฐยังเลือกช่วยหรือไม่ช่วยเพียงเพราะเขาเป็นลูกกลุ่มคนเห็นต่าง เด็กเขาจะไปอยู่ที่ไหนถ้าไม่ได้เรียน” มูฮำหมัดอาลาดี เด็งนิ นักสิทธิมนุษยชน แสดงความเห็น

“รัฐกังวลว่าจะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าร่วมขบวนการก่อการร้าย การที่รัฐออกมายอมรับว่า มีกลุ่มหน้าขาวออกมาก่อเหตุ (กลุ่มหน้าขาวคือ คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีประวัติอาชญากรรมและเข้าร่วมขบวนการก่อการร้าย)ก็เท่ากับรัฐยอมรับว่ามีกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าร่วมขบวนการอยู่เรื่อย แล้วกลุ่มคนพวกนี้มาจากไหน อาจไม่มีข้อมูลชัดเจนว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นเด็กกำพร้า แต่เด็กกลุ่มนี้ก็มีโอกาสถูกดึงไปเป็นแนวร่วมง่ายที่สุด”

รอมฎอน ปันจอร์ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ แสดงความเห็น เมื่อเราถามถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ในช่วง 16 ปีที่ผ่านมา................

ติดตามเรื่องราวของพวกเขาใน สารตั้งต้นตอน ลูกผู้เห็นต่าง ศุกร์ที่ 24 ม.ค.63 เวลา 23.00 น. ทาง PPTV HD ช่อง 36 

เด็กกำพร้า 3 จังหวัดชายแดนใต้กว่า 1 พันคน ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐ

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ