เปิดปูม "โรฮิงญา" ผ่าเบื้องลึกขบวนการนำพาล่องเรือ(ขาย)ขึ้นฝั่งทั่วโลก (คลิป)


โดย PPTV Online

เผยแพร่




ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงยืนยันชัดเจนว่าการอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาด้วยการล่องเรือออกจากคอกซ์บาซา ประเทศบังคลาเทศ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ หรือแม้แต่ปี 2558 ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายก็ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทยแต่ยังมีอีกหลายประเทศทั่วโลกที่ประสบปัญหาคล้ายๆ กัน

การอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาเกิดขึ้นมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ที่มีนัยทางความมั่นคงจนถูกประเทศต่างๆ จับตามองเริ่มขึ้นเมื่อราวปี 2535 โดยชาวโรฮิงญาที่อพยพย้ายถิ่นมีทั้งจากรัฐยะไข่ (อาระกัน) ประเทศเมียนมาร์ จากปัญหาการถูกกดขี่เพราะไม่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองกับชาวโรฮิงญาจากบังคลาเทศ ซึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้นเนื่องจากเป็นประเทศยากจน มีประชากรมากกว่า 80 ล้านคน อย่างไรก็ดีในระยะหลังๆ เริ่มมีคนพื้นเมืองบังคลาเทศเองที่อพยพย้ายถิ่นออกมาเช่นกัน

การอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาเริ่มมี "ขบวนการนำพา" เข้าไปเกี่ยวข้องและจัดระบบผลประโยชน์เมื่อราวปี 2552 ทำให้ประชากรชาวโรฮิงญาที่เดินทางล่องเรือออกจากเมืองซิตต่วย หรือชิตตะเว ของรัฐยะไข่ และคอกซ์บาซาของบังคลาเทศ จำนวนมากขึ้น

แต่เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้สถานการณ์การอพยพย้ายถิ่นรุนแรงถึงขีดสุดคือสงครามกลางเมืองในรัฐยะไข่เมื่อปี 2555 ที่มีการปะทะกันระหว่างชาวพุทธพม่ากับมุสลิมโรฮิงญาทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยและชาวโรฮิงญาต้องไร้ถิ่นฐานหลายหมื่นคน

ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮิงญาก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง วิธีการที่ใช้กันอยู่คือการล่องเรือออกจากคอกซ์บาซา โดยอาศัยหน้าที่ไม่มีมรสุมเส้นทางผ่านอ่าวเบงกอลสู่ทะเลอันดามันมาขึ้นฝั่งที่ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

หากจำแนกผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญา มีทั้งชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ที่หนีภัยการสู้รบและการอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ชาวโรฮิงญาในบังคลาเทศที่ไม่มีงานทำ และชาวบังคลาเทศเองที่ต้องการแสวงหาโอกาสในชีวิตที่ดีกว่า

แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เกิดการอพยพย้ายถิ่นเพื่อหางานทำ คือ นโยบายรับแรงงานมุสลิมของมาเลเซีย ซึ่งเคยมีโควต้าสำหรับชาวโรฮิงญาเป็นการเฉพาะ ทำให้ชาวโรฮิงญานิยมเดินทางไปมาเลเซีย โดยใช้เส้นทางเรือขึ้นฝั่งที่ประเทศไทยแล้วอาศัยขบวนการนำพาส่งเข้ามาเลเซียหรืออาจต่อไปอินโดนีเซีย

จากไทม์ไลน์การอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาตลอดหลายสิบปีดังกล่าว ทำให้หลายประเทศทั่วโลกถูกชาวโรฮิงญาลักลอบเข้าเมืองเพื่อไปหางานทำ บางส่วนถูกจับกุม คุมขัง และไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางได้

ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุว่า ประเทศที่มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนมาก เช่น ซาอุดิอาระเบีย หลายประเทศในตะวันออกกลาง เนปาล ซึ่งใช้การเดินเท้าจากบังคลาเทศและรัฐยะไข่ แคนาดา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในฐานะทางผ่านและจุดหมายปลายทาง


สรุปไทม์ไลน์การอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญา

2535 : เริ่มมีการอพยพย้ายถิ่นของชาวโรฮิงญาจากรัฐยะไข่ เมียนมาร์ และคอกซ์บาซา ประเทศบังคลาเทศ

2552 : การอพยพย้ายถิ่นเริ่มมีลักษณะเป็นขบวนการนำพารวมเงินซื้อเรือและจ่ายเงินให้ขบวนการนำพา

2555 : เกิดสงครามกลางเมืองในรัฐยะไข่ ระหว่างคนพุทธพม่ากับมุสลิมโรฮิงญา และเป็นช่วงที่สถานการณ์การอพยพย้ายถิ่นรุนแรงมากขึ้น

สาเหตุการอพยพ : หางานทำ แสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า และหนีภัยการสู้รบ

ข้อมูลผู้อพยพย้ายถิ่นชาวโรฮิงญาทั่วโลก

ซาอุดิอาระเบีย : มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาหลักแสนคน

แคนาดา : ชาวโรฮิงญาเดินทางหลายทอดเพื่อไปหางาน

เนปาล : ชาวโรฮิงญาเดินเท้าจากรัฐยะไข่และบังคลาเทศ

มาเลเซีย : เคยมีนโยบายรับแรงงานมุสลิมมีโควต้าสำหรับโรฮิงญา ทำให้ชาวโรฮิงญานิยมเดินทางไป แต่นโยบายนี้ถูกยกเลิกเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตามนโยบายจัดระเบียบแรงงานและส่งเสริมให้คนพื้นเมืองมาเลย์มีงานทำ (นโยบายภูมิบุตร)

อินโดนีเซีย : เป็นอีกจุดหมายปลายทางหนึ่งของชาวโรฮิงญา

ไทย : ทางผ่านของขบวนการนำพาและอยู่ในตลาดแรงงานนับแสนคน

PR - ตารางคะแนน-2_B PR - ตารางคะแนน-2_B
TOP ประเด็นร้อน
วิดีโอยอดนิยม
เรื่องที่คุณอาจพลาด

วิดีโอยอดนิยม

ข่าวเด่นในรอบสัปดาห์

เพิ่ม PPTVHD36
ลงในหน้าจอหลักของคุณ